วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ปาหี่หีบบัตร

จำนวนผู้เข้าชม http://www.hitwebcounter.com/htmltutorial.php

อาสาระไม่ได้ก็เอาฮา เมื่อนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ท้าพิสูจน์ความแข็งแกร่งของหีบบัตรประชามติ และความเหนียวแน่นของสายรัดหีบ ปรากฏว่าหน้าแตกทั้งสองรายการ หีบแตก สายรัดหลุด เรียกว่าปาหี่หีบบัตรกันตั้งแต่ลงประชามติเลยทีเดียว
           
แร็ค ลานนา พยายามหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่อยู่ในอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวฉบับนี้ แต่ก็ยังมองไม่เห็น เลยต้องค้นคว้าเรื่องราวรัฐธรรมนูญ  ในเชิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปูพื้นกันเสียก่อน ก่อนจะไปชมดู กตต.หน้าแตก พร้อมๆกัน
           
รู้หรือไม่ รัฐธรรมนูญไทยมีมาแล้วกี่ฉบับ
           
นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตั้งเต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ
           
อืมมม.... เอาเข้าจริงๆ พอมีคนมาถามคำถามนี้ ก็ถึงกับเกาหัวไปหลายทีเลยทีเดียว  เพราะตั้งแต่เกิดมาตีนเท่าฝาหอยจนกว่าจะรู้ความมาถึงทุกวันนี้ที่สืบค้นหาข้อมูลในโลกที่มีคลังข้อมูลแค่ปลายนิ้ว ก็พอจะนับได้ว่า ในช่วงชีวิตของ แร็ค ลานนา นับตั้งแต่เกิดมาถึงวันนี้ผ่านรัฐธรรมนูญมาแล้ว 7 และกำลังจะมีฉบับที่ 8 ในชีวิตอีกไม่นานวันนี้
           
และเมื่อมีการเลือกตั้ง ลงคะแนนเสียง ลงประชามติหรืออะไรที่เป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็นของประเทศชาตินั้นย่อมถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีหน้าที่ดูแลการลงคะแนนทั่วประเทศ และมีหน้าที่รณรงค์ ให้ความรู้ความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนคนไทยทุกคน ในครั้งนี้ กกต.ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,991 ล้านบาท สำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้
           
ก่อนหน้านี้ มีข่าวบัญชีรายชื่อหลายหน่วยถูก เด็กฉีก คนบ้าฉีก ลิงฉีก หมาวัดฉีก วัยรุ่นจุดไฟเผา ที่แต่ละคนแจงว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ทั้งสิ้น มีข่าวทหารใช้ ม.44 ยึดจดหมายบิดเบือนรัฐธรรมนูญ ในจังหวัดภาคเหนือ ยิ่งทำให้บรรยากาศยิ่งดูอึมครึม และมีการพูดถึงสาระสำคัญ วิพากษ์วิจารณ์น้อยมาก อาจเป็นเพราะเกรงว่าจะผิด พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559
           
และก็ต้องยอมรับว่าคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร
           
แต่ที่ดูจะเป็นสีสันรายวันช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการลงคะแนนประชามติ คงหนีไม่พ้น เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2559  นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการ กกต. ได้ทดสอบความแข็งแกร่งของหีบบัตรประชามติซึ่งเป็นกล่องสีขาวขุ่นโปร่งแสง ด้วยการโยนลงพื้นต่อหน้าสื่อมวลชนในงานแถลงข่าวเชิญชวนประชาชนให้มีส่วนร่วมด้วยการร่วมสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติ โดยการโยนครั้งที่ 4 ปรากฏว่าหีบบัตรประชามติแตก
           
วันต่อมา (3 ส.ค.) นายสมชัย จัดแถลงข่าวระบบการรายงานผลคะแนนการลงประชามติต่อสื่อมวลชน ระหว่างการแถลงได้ทดสอบสายรัดปิดฝาเพื่อให้เห็นถึงความปลอดภัยของหีบบัตร ป้องกันการเปิดระหว่างขนส่ง ซึ่งผลการทดสอบโดยเจ้าหน้าที่ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย นายสมชัยจึงเชิญผู้สื่อข่าวมาทดสอบ ปรากฏว่า สามารถดึงสายรัดหลุดอย่างง่ายดาย ขณะที่นายสมชัย ชี้แจงว่า ต้องดึงสายหีบให้ถูกวิธี คือการดึงสายรัดให้สุดเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างที่สามารถเอานิ้วสอดเข้าไปได้
           
ในวันเดียวกันนั้น นายสมชัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า Positive thinking เรื่อง โยนหีบแตก ดังนี้

1. ได้รู้ความคงทนถาวรของหีบที่แท้ ไม่ใช่แค่ใน spec. พนักงาน กกต.จะได้เพิ่มความระมัดระวังในการดูแลรักษาให้ใช้การได้ยาวนานตามที่คาดหวัง

2. ทำให้ข่าวประชามติ มีข่าวที่สนุกสนาน รื่นเริงบ้าง หลังจากมีแต่ข่าวเครียด รับ ไม่รับ ฉีก ไม่ฉีก เด็กหรือ ลิง ซ้ำซากประมาณนี้

3. ใครไม่รู้จัก อ.สมชัย ได้รู้จักกันทั้งประเทศยิ่งขึ้น

4. ทำให้ประชาชนรู้ว่าใกล้ถึงวันออกเสียงประชามติแล้ว ตอนนี้ใครไม่รู้ อาจมีทุ่มซ้ำ
           
จะบอกว่าเป็นบันเทิงรายวันก็ไม่น่าใช่เพราะนี่เป็นเรื่องของการบ้านการเมือง แต่ที่แน่ๆเมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกมา ชาวเนตและชาวบ้านต่างก็วิจารณ์กันสนั่น โดยเฉพาะเมื่อเปิดเผยว่าราคาหีบบัตรเลือกตั้งแบบใหม่ ราคาใบละ 244 บาท ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ 250 บาท ระบุว่ามีการใช้งานได้ยาวนานกว่า 10 ปี รับน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัม ทนความร้อนได้ 56 องศาเซลเซียส !!
           
กกต.แจงว่าได้ผลิตหีบบัตรลงคะแนนรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นพลาสติกใส โดยได้ผลิต จำนวน 50,000 ใบ ซึ่งจะมีการนำไปใช้ในหน่วยออกเสียงประชามติประมาณ 50,000 หน่วย หรือเป็นครึ่งหนึ่งจากหน่วยออกเสียงประชามติทั่วประเทศ ที่มีประมาณ 100,000 หน่วย เนื่องจากผลิตไม่ทัน
           
ตีเป็นเงินง่ายๆก็ประมาณ 12 ล้านบาท ก็เท่านั้นเอ๊งงงง...(เสียงสูง) แต่...จะว่าไปแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า
           
จำนวนในการผลิตมากขนาดครึ่งแสนใบ หากกำหนดสเปกเม็ดพลาสติก กำหนดความหนาให้มีความแข็งแรง ออกแบบให้ตรงกับการใช้งาน ให้โรงงานพลาสติกผลิตในประเทศไทย ราคามันจะถึงใบละ 244 บาท เลยหรือไม่
           
และที่ กกต.บอกว่าผลิตหีบบัตรลงคะแนนไม่ทันเพราะหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดราว 100,000 หน่วยนั้น ก็อยากจะถามดังๆว่า ทำไมไม่เตรียมการทั้งที่รู้อยู่แล้วมาเป็นปีว่าต้องมีการลงประชามติทั่วประเทศ  แต่กลับทำเหมือนจังหวัดลำปางไปได้ที่ประชาสัมพันธ์สารพัดงานเพราะงบประมาณเพิ่งถูกอนุมติ ก็เลยทำได้...แค่เนี้ย 
           
บางที่ก็สับสนว่านี่ข่าวการเมือง หรือ ข่าวบันเทิงกันแน่ เพราะมีให้ฮากันรายวัน
           
แต่เป็นการฮาทั้งน้ำตา

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1090 วันที่ 5 - 11 สิงหาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์