วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สอนช้างแนวใหม่ งดลงโทษเน้นรางวัล

จำนวนผู้เข้าชม good hits

ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ร่วมกับ  HELP  มูลนิธิจากออสเตรเลีย ฝึกลูกช้างเลี้ยง โดยการฟังคำสั่งจากเสียง ไม่ทำโทษแต่ให้รางวัลแทน  ครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี หลังจากประเทศไทยถูกโจมตีและต่อต้านการฝึกโดยวิธีการทารุณช้างจากทั่วโลก
           
เมื่อวันที่  24 ต.ค. 59 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม  อาคารกัลยาณิวัฒนาการุณย์หรือศูนย์การเรียนรู้คชศาสตร์  สถาบันคชบาลแห่งชาติ  องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้   อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง  นายสวัสดิ์ ตวงรัตน์หรดี ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ  น.สพ.สิทธิเดช มหาสาวังกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ  ให้การต้อนรับ ดร.แอนดริว แม็คลีน (Dr.Andrew Mclean)  จากมูลนิธิ HELP หรือ The Human Elephant Learning Programs  ประเทศออสเตรเลีย  พร้อมคณะ  ในโอกาสเข้าประชุมและฝึกสอนวิธีการฝึกลูกช้างเลี้ยง โดยไม่มีการทำโทษหรือทำร้ายลูกช้าง  ซึ่งผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ควาญช้างจากโรงช้างต้น และควาญช้างเลี้ยงทั่วไป ของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ฯ  จำนวน 30 คน   พร้อมกับสาธิตวิธีการฝึกช้าง โดยนำพังเขลางค์วัย 7 ปี  ที่ผ่านการฝึกเบื้องต้นมาบ้างแล้ว และพลายดอกแก้ว วัย 18 เดือน ยังไม่ได้ผ่านการฝึก มาทำการสอนวิธีของ ดร.แอนดริว ซึ่งช้างทำตามคำสั่งอย่างดี  เพียงแต่ช้างเล็กจะเชื่อฟังยากกว่าและเรียนรู้ช้ากว่าเล็กน้อย เพราะยังอยู่ในวัยดื้อซน
           
น.สพ.สิทธิเดช  มหาสาวังกูล  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลช้างฯ เปิดเผยว่า  ในอดีตการฝึกช้างของประเทศไทย เป็นลักษณะการฝึกช้างแบบทารุณ มีการผ่าจ้านแยกแม่ช้างและลูกช้างออกจากกันโดยวิธีการทำร้ายช้างเพื่อให้ช้างเชื่อฟัง  และฝึกช้างแบบขังไว้ในคอกนานถึง 3 วัน เมื่อไม่เชื่อฟังก็จะถูกเฆี่ยนตี  ซึ่งภาพการฝึกเหล่านี้ได้มีการเผยแพร่ออกไปทั่วโลก   ทำให้ชาวต่างชาติมองว่าประเทศไทยมีการทารุณสัตว์ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีการฝึกเช่นนั้นแล้ว แต่ก็ยังเป็นภาพที่ชาวต่างชาติจดจำมานาน  จนถึงขั้นที่ทางสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์จากต่างชาติ  ไม่พอใจอย่างมากจะแบนประเทศไทยเลยก็ว่าได้ 
           
ในโอกาสนี้ เป็นโอกาสดีที่ทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ มีเครือข่ายจากสมาคมป้องกันทารุณสัตว์แห่งเดนมาร์ค คือ  Dr.Bjarne Clausen  ได้ประสานงานกับ Dr.Andrew Mclean  ซึ่งเป็นผู้มีพรสวรรค์ด้านการฝึกช้าง โดยไม่มีการลงโทษและทำร้ายช้าง  แต่เน้นการให้รางวัล   โดยทำประสบความสำเร็จมาแล้วที่ประเทศเนปาล  และอินเดีย   จึงได้เข้ามาทำการฝึกสอนควาญช้าง ให้รู้วิธีการฝึกที่ไม่ต้องลงโทษช้าง  ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเป็นแห่งแรกของประเทศไทย  เพื่อสร้างภาพลักษณ์การฝึกช้างของไทยให้ดีขึ้น  

โดยการฝึกนั้น จะเน้นการใช้เสียงให้ช้างฟังคำสั่งจากเสียง เมื่อช้างทำตามคำสั่งก็ให้อาหารเป็นรางวัล ลูบหัว และกล่าวชม คล้ายกับการฝึกสุนัข  หากช้างไม่ทำตามจะใช้ไม้ช่วยดันที่ขาอีกทางหนึ่ง  เมื่อช้างชินกับคำสั่งเสียงแล้ว ไม่ว่าควาญจะส่งเสียงสั่งจากตรงไหนช้างก็จะทำตามได้ทันที โดยไม่ต้องมีการดึงหู แตะขา หรืออยู่ใกล้ตัวช้างเลย  ซึ่งทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ ก็จะนำวิธีการฝึกนี้มาประยุกต์ใช้ควบคู่กับการฝึกเดิม  ให้ได้ผลที่ดีมากขึ้น    น.สพ.สิทธิเดช กล่าว

ด้าน ดร.แอนดริว แม็คลีน   กล่าวว่า ตนเองได้ฝึกช้างโดยวิธีนี้มานาน 10 ปีแล้วที่ประเทศเนปาล และได้รับการยอมรับจากรัฐบาลเนปาลด้วย เนื่องจากการฝึกช้างที่นั่นประสบผลสำเร็จอย่างมาก  ซึ่งเป็นวิธีการที่อยากแนะนำและสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย  ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ จ.ลำปาง เป็นการนำวิธีนี้มาฝึกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จากนั้นจะไปฝึกสอนที่ประเทศเมียนมาร์ต่อไป

การฝึกช้างนั้น บางเชือกสามารถฝึกให้เห็นผลได้ใน 1 วันเท่านั้น  แต่จะให้เห็นผลดีที่สุดคือการฝึก 5 วัน ช้างจะเริ่มจดจำได้ดีขึ้น จากนั้นก็จะต้องทบทวนซ้ำ  หลักการสำคัญต้องอยู่ที่หัวข้อเรื่องที่เราต้องการสอนช้าง เช่น ฝึกให้เดินหน้า ถอยหลัง เก็บของ  บอกให้หยุด ยืนนิ่ง เป็นต้น เมื่อช้างทำตามก็ให้รางวัล จะทำให้ช้างจดจำไปเรื่อยๆ ถ้าช้างเรียนรูได้แล้ว ควาญช้างก็สามารถสอนให้ช้างทำอย่างอื่นต่อยอดไปได้  

ดร.แอนดริว ยังกล่าวว่า การฝึกช้างยังฝึกได้ง่ายกว่าม้า หรือสุนัข เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาดและเรียนรู้เร็วมาก

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1102 วันที่  28  ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์