วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559

การต่อสู้และวิถีชีวิตของชาวบ้านแหงบนความหวาดกลัว จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งและความไม่ไว้วางใจ

จำนวนผู้เข้าชม website counter

เหมืองถ่านหินและชาวบ้านในพื้นที่เหมือง เป็นคู่ที่มีความขัดแย้งกันเสมอ เราจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่มีความเคลื่อนไหวของมหากาพย์การต่อสู้ของชาวบ้านอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง หรือ อย่างเรื่องการต่อสู้ของชาวบ้านอำเภอเทพา จังหวัดสงขลานั้น สามารถสะท้อนให้เห็น การต่อสู้ของชาวบ้านกับเหมืองถ่านหิน มีนัยยะสำคัญมากไปกว่าชาวบ้านกับเหมือง แต่คือการต่อสู้ของชาวบ้านกับนายทุน ชาวบ้านกับรัฐ ซึ่งการต่อสู้เหล่านี้เป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน และฝ่ายที่ต้องแบกรับภาระและปัญหา ระหว่างรอคอยผลลัพธ์ก็มิใช่ใครอื่น นอกจากชาวบ้านในพื้นที่


ทีมข่าวลานนาโพสต์ ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ตำบล บ้านแหง อ.งาว พบว่าพื้นที่ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ที่ถูกซื้อไว้เพื่อทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ จำนวน 5 แปลง กินขอบเขต 1,500 ไร่ นั้นมีความเป็นมาอยู่สามประการ โดยย้อนกลับไปเมื่อราวปี 2551 ที่ดินในตำบล บ้านแหง ในประการแรกนั้น ได้ถูกกว้านซื้อโดยนายทุนขนาดเล็กจำนวนไม่กี่ราย โดยนายทุนเหล่านี้ได้ซื้อที่ดินของชาวบ้านไปจำนวนหนึ่งโดยอ้างว่าจะนำไปปลูกต้นยาง ประการต่อคือมามีนายทุนเจ้าใหญ่หรือก็คือบริษัท เขียวเหลือง จำกัด เอง ได้เข้ามากว้านซื้อพื้นที่ของชาวบ้านเช่นกัน โดยอ้างว่าจะนำไปปลูกต้นกระดาษ(ยูคาลิปตัส) โดยวิธีการซื้อที่ดินของนายทุนเหล่านี้คือซื้อที่ดินเป็นวงแหวนล้อมรอบ ที่ดินของชาวบ้าน เพื่อทำให้ที่ดินด้านในกลายเป็นที่ดินตาบอด ชาวบ้านจึงต้องยอมขายที่ดินเหล่านั้นออกไป

ต่อมาบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ได้รวบซื้อที่ดินของนายทุนขนาดเล็กเข้าเพิ่มเติม ทำให้บริษัทมีที่ดินทั้งหมดจำนวน 5 แปลง กินพื้นที่ราว 1,500 ไร่ ในระยะแรกบริษัทได้เข้ามาปลูกต้นกระดาษในพื้นที่ตามที่กล่าว แต่เมื่อเดือนกันยายน ปี 2553 ก็ได้มีการเข้ามาชี้แจงชาวบ้านว่า พื้นที่ที่บริษัท เขียวเหลือง จำกัด ซื้อไปทั้งหมดนั้นจะนำไปทำเป็นเหมืองถ่านหินลิกไนต์ โดยที่ทางบริษัทมิได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้า และการชี้แจงครั้งนั้นได้มีการ 'แอบอ้าง' เสียงของชาวบ้าน ว่าชาวบ้านที่เข้าร่วมฟังการชี้แจงในวันนั้น มีความเห็น 'อนุญาต' ให้บริษัท เขียวเหลือง จำกัด สามารถเปิดการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ได้ นี่จึงเป็นชนวนแรกที่ทำให้เกิดการต่อสู้ของชาวบ้านจนถึงปัจจุบัน

นอกจากการกว้านซื้อพื้นที่โดยไม่มีความโปร่งใสในเรื่องของการบริหารจัดการ และเจตนาของการซื้อที่ดิน ทางบริษัท เขียวเหลืองจำกัด ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่แฝงตัวเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ของทางบริษัท "เคยมีแฝงตัวเข้ามาเป็นเซลล์ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่จริงๆ มาติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ เพื่อนำผลไปใช้ทำใน EIA ทุกวันนี้เราจึงเป็นกังวลไปหมดว่าจะมีใครแฝงตัวเข้ามาในรูปแบบใด” ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าว

การต่อสู้และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของชาวบ้านแหง
 
หลังจากทราบว่าบริษัท เขียวเหลือง จำกัด จะดำเนินการสร้างเหมืองในพื้นที่ ชาวบ้านจึงได้มีการรวมกลุ่มกันขึ้น โดยมีสมาชิกราว 1400 คน โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มรักษ์บ้านแหง" ซึ่งเป็นกลุ่มที่ 'ไม่เอาเหมือง' ซึ่งเมื่อเทียบจำนวนคนกับกลุ่มที่ 'เอาเหมือง' คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ต่อ 20 (จากคำของชาวบ้าน)

การต่อสู้ของชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง ดำเนินมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 โดยมีการยื่นหนังสือต่อต้านการทำเหมือง และได้มีการฟ้องร้องบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ในหลายกรณี เนื่องจากพื้นที่ที่ทางบริษัทได้เข้ามากว้านซื้อ มีบริเวณที่ทับซ้อนกับพื้นที่ ส... โดยพื้นที่ของส... มีข้อบังคับอยู่ว่าสามารถใช้เพื่อการเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ก็มีที่ดินบางส่วนที่เป็นพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งมีกำหนดไว้ว่า จะไม่สามารถทำกิจกรรมใดก็ตามที่เป็นการบุกรุกป่า เว้นแต่พื้นที่ป่าสงวนนั้นจะถูกตีความหรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม

จากพื้นที่ 5 แปลง รวม 1,500 ไร่ ชาวบ้านได้ต่อสู้เรื่องสิทธิ์ในที่ดินของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ผ่านกฎหมายที่ดินและกฎหมายป่าไม้ ทำให้ทางบริษัทยอมลดพื้นที่การทำเหมืองลง จนเหลือพื้นที่ราว 800 ไร่


ภายหลังจากการยื่นขอประทานบัตรไปทั้งสิ้น 5 แปลงของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด นั้น มีที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งไม่ได้มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ของส... มีอาณาเขตจำนวน 291 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา ก็ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2558 ซึ่งที่ดินแปลงนี้เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ 'ใจกลาง' เหมือง เพราะอยู่กึ่งกลางของพื้นที่ที่จะสร้างเหมืองที่ทั้งหมด โดยชาวบ้านบ้านแหงได้คาดการณ์ว่านี่เป็นกลวิธีในการ 'กิน' พื้นที่โดยรอบของทางบริษัท

ยุทธศาสตร์การกินพื้นที่ของหลวงบริษัทเหมือง คือการเริ่มขุดจากบริเวณใจกลาง แล้วค่อยๆ กินพื้นที่รอบๆ เพิ่มปกติแล้วไม่มีใครจะทำเหมืองภายในพื้นที่แค่ 200  กว่าไร่หรอก แต่เราคาดว่าเขาต้องการกินพื้นที่รอบๆ เพิ่มในภายหลังด้วย” ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าว

หลังจากทราบข่าวการได้รับประทานบัตรในพื้นที่ ชาวบ้านกลุ่มรักษืบ้านแหง จึงได้มีการจัดกระบวนทัพกันใหม่ โดยได้มีการจัดจุดเวรยามเฝ้าระวัง เพื่อตรวจตรา 'คนของบริษัท' ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ ส่งผลให้มีการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ของทางบริษัทหลายครั้ง การที่บริษัท เขียวเหลือง จำกัด ได้รับประทานบัตรในการสร้างเหมืองครั้งนี้ ได้ทำให้ความหวาดกลัวและกังวลของชาวบ้านที่มีต่อเหมืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ผลกระทบต่อมาจากการจัดการเฝ้าเวรยามประมาณ 5 จุด ที่เป็นจุดเข้า-ออก ของตำบลทำให้ ต้องมีการจัดสรรกำลังคนในการเฝ้ายาม โดยที่กำลังคนเหล่านั้นคือชาวบ้านที่ต้องทำมาหากินเช่นกัน ผลกระทบทางตรง ประการแรก คือ ทำให้ชาวบ้านที่ต้องมาทำหน้าที่เฝ้ายาม มีรายได้ลดลง เนื่องจากหากไม่ต้องมาทำหน้าที่นี้ วิถีชีวิตโดยทั่วไปชาวบ้านก็สามารถรับจ้าง ทำไร่นา ตามปกติได้ ซึ่งหน้าที่เวรยามนี้ได้กำหนดไว้ว่าสมาชิกของกลุ่มจะต้องเข้ามาปฏิบัติหน้าที่  1 วันต่อสัปดาห์ ผลกระทบต่อมาเป็นเรื่องของสุภาพจิต ชาวบ้านหลายคนมีความเครียด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ บางรายมีอาการนอนไม่หลับ กังวลตลอดเวลาว่าจะมีใครเข้ามาในหมู่บ้าน หรือมีการทำเหมืองเกิดขึ้น เรื่องของสุขภาพจิตนั้นได้ลุกลามไปถึงเรื่องภายในบ้านและความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่าง 'เอาเหมือง' กับ 'ไม่เอาเหมือง' ทำให้บางครอบครัวเกิดการทะเลาะกันรุนแรง

"บรรยากาศมีความเคร่งเครียด มีความกังวลและความหวาดระแวงซึ่งกันและกันและแตกต่างจากสมัยเมื่อก่อนมีเหมืองเข้ามา อย่างสมัยก่อนยังไม่มีความแตกต่างกันทางความเห็น แต่เดี่ยวนี้ข้างบ้านกันก็อาจจะมีความเห็นต่างกัน ก็ทำให้ไม่สนิทสนกันเหมือนแต่ก่อน ทำให้วิถีชีวิตของเราที่เคยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน หายไปด้วย" นางสาวชุทิมา ชื่นหัวใจ ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าว

เป็นเวลาล่วงเลยกว่า 1 ปีที่ชาวบ้านได้ทำการจัดเวรยามเฝ้าระวัง เพื่อกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ของทางบริษัท เขียวเหลือง จำกัด เข้ามาในพื้นที่ ส่งผลให้ ทางบริษัทเหมืองได้ยื่นหนังสือกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอ 'หยุด' การเปิดเหมืองไว้ก่อน เพราะตามกฎหมายบริษัทจะต้องทำการเปิดเหมืองภายในระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ระบุไว้ในประทานบัตร แต่ปัจุบันเนื่องจากยังมีความขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่ จึงทำให้ไม่สามารถทำการเปิดเหมืองตามระยะเวลาตามข้อกำหนดของประทานบัตรได้

ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากมีการทำเหมือง

ในตำบลบ้านแหงนั้น ประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่ ทำอาชีพเกษตรกร มาเป็นระยะเวลานาน โดยมีแม่น้ำสายสำคัญที่ขนาบหมู่บ้าน และหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านมาเนิ่นนาน จำนวนสองสาย คือแม่น้ำแหง และ แม่น้ำมือง ซึ่งหากมีการทำเหมืองขึ้นมา พื้นที่เหมืองซึ่งอยู่สูงกว่าหมู่บ้าน ก็จะกลายเป็นพื้นที่ต้นน้ำ และจะส่งผลให้แม่น้ำมีการปนเปื้อนเกิดสารพิษที่มาจากการทำเหมืองได้

"ถ้าเหมืองมีการล้างแร่เหมืองก็จะต้องดึงน้ำจากแหล่งน้ำเดียวที่มีอยู่ในพื้นที่ซึ่งก็คืออ่างเก็บน้ำ แต่ถ้าหากเขาไม่ดึงน้ำจากอ่าง เขาก็ต้องไปตัดน้ำจากสาขาของอ่างเก็บน้ำหรือเบี่ยงสายน้ำไปสู่พื้นที่เหมือง สุดท้ายแล้วผลกระทบก็จะตกอยู่กับชาวบ้าน ซึ่งในประเด็นเรื่องนี้ ทางบริษัทไม่ได้เขียนไว้ใน EIA ว่าจะดำเนินการบำบัดน้ำอย่างไรหลังจากการใช้งานในเหมืองแล้ว ซึ่งนี่เป็นช่องโหว่หนึ่งที่เรากำลังจับตาอยู่"

การทำเหมืองแร่ลิกไนต์ นอกจากจะสร้างมลพิษทางเสียงและทางอากาศแล้ว ยังสร้างมลพิษให้กับน้ำอีกด้วย จากน้ำที่เคยสามารถใช้อุปโภคและบริโภค ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายจนไม่สามารถนำมาใช้กระโยชน์ได้เลย สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคือ น้ำที่ผ่านเหมืองจะสร้างมลพิษให้กับสภาพแวดล้อมรอบๆ ตำบลบ้านแหงและพื้นที่ใกล้เคียง ทำลายทรัพยากรณ์ต่างๆ และทำลายผืนดินของชาวบ้าน อาชีพและความเป็นอยู่ที่เคยพึ่งพาธรรมชาติโดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ ก็จะเปลี่ยนไปโดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย

นายนัน ดอกบัวนาง อายุ 78 ปี  ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวว่า "ถ้าหากมีเหมืองเข้ามา หนทางทำมาหากินก็คงหมดไป น้ำที่มีก็คงไม่สามารถใช้ได้เพราะจะปนเปื้อนสารพิษจากการทำเหมืองไปหมด ซึ่งเราก็กลัวว่าผลกระทบเหล่านี้จะตกไปถึงลูกหลาน”

นางสม บัวคำ อายุ 83 ปี  ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวว่า "บางครั้งก็มีอาการนอนไม่หลับ เพราะกังวลว่าจะมีคนเข้ามาสร้างเหมือง และหากเหมืองได้เกิดขึ้นมาจริงๆ หมู่บ้านก็คงจะแตกแยกกันมากกว่าเดิม เพราะแม้แต่ตอนนี้ก็ยังมีการแบ่งแยกกันแล้ว ระหว่างฝั่งที่เห็นด้วยกับเหมืองกับไม่เห็นด้วย ต่อไปลูกหลานก็คงไม่รู้จักกัน ต่างคนต่างอยู่”

ในปัจจุบัน การต่อสู้ระหว่างชาวบ้าน ตำบล บ้านแหง กับ บริษัท เขียวเหลือง จำกัด ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี แนวโน้มอาจดูเหมือนว่าฝ่ายชาวบ้านจะมีข้อได้เปรียบที่มากกว่า แต่หนทางการต่อสู้ของชาวบ้านนั้นยังคงเป็นหนทางที่ยาวไกล เนื่องจากคดีที่มีการฟ้องร้องต่างๆ ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานในชั้นศาล แม้จะเป็นการต่อสู้ที่โดดเดียว เนื่องจากกลุ่มนายทุนมีผู้สนับสนุนที่มีอำนาจมากมาย แต่ชาวบ้านทุกคนยังมีความหวังในการต่อสู้เพื่อที่จะได้รับความเป็นธรรมในท้ายที่สุด
เขมมินี นันทานุกูล
คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์
นักศึกษาฝึกงาน คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1108 วันที่  9 - 15  ธันวาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์