วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เป็งปุ๊ด เมื่อจันทร์เต็มดวงในคืนวันพุธ

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

เมื่อคืนวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา หากใครได้เงยหน้าดูท้องฟ้าในคืนหนาว คงได้เห็นดวงจันทร์ทอแสงนวลกระจ่างตาสวยงามยิ่งนัก ใช่เพียงความโรแมนติก แต่สำหรับคนพื้นถิ่นเหนือแล้ว ในวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ คือหนึ่งในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เราเรียกกันว่า “เป็งปุ๊ด” หลายวัดในดินแดนล้านนาจะจัดให้มีการตักบาตรในยามเที่ยงคืน ซึ่งนับเป็นประเพณีนิยมที่มีเฉพาะในภาคเหนือเท่านั้น สำหรับบ้านเรา วัดที่จัดต่อเนื่องกันมานาน คือ วัดพุทธสันติวิเวกและวัดประตูต้นผึ้ง

ความเป็นมาของการตักบาตรเที่ยงคืนนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เข้าใจว่าคนทางเหนือคงรับเอามาจากพม่าอีกต่อหนึ่ง ทั้งนี้ การตักบาตรกลางคืนเป็นประเพณีของชาวพม่ามาตั้งแต่ครั้งโบราณ ชาวพม่าจะตื่นตอนดึกเพื่อเตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุต โดยมีคติความเชื่อว่า ในวันนี้พระอุปคุตจะออกจากนิโรธสมาบัติ เนรมิตกายเป็นเณรน้อยมาบิณฑบาตในยามเช้ามืดใครได้ทำบุญใส่บาตรกับพระอรหันต์ที่ออกจากนิโรธสมาบัตินั้น เป็นการสร้างมหากุศล เพราะโอกาสที่จะได้ทำบุญกับพระอรหันต์นั้นยากเต็มที แล้วยิ่งได้ทำบุญกับพระอรหันต์ที่ออกจากนิโรธสมาบัตินั้น ยิ่งยากกว่า ผลจากการสร้างมหากุศลนี้ สามารถพลิกชะตาให้แก่ผู้สร้างในชั่วข้ามคืน แม้แต่เทพเทวดาก็ยังอยากทำบุญกับพระอุปคุตเถระ ในยามที่ท่านแขวนบาตรไว้บนต้นไม้ เทพเทวดาจะนำอาหารทิพย์มาใส่บาตรไว้ พอถึงเวลาฉัน พระอุปคุตใช้วิธีการแหงนดูดวงอาทิตย์เป็นการดูเวลา เพราะการฉันเพลของพระภิกษุนั้น จะฉันก่อนดวงอาทิตย์เคลื่อนมาตรงกลางศีรษะ

สอดคล้องกับการสร้างพระพุทธรูปพระอุปคุตปางจกบาตรหยุดตะวัน ซึ่งเป็นปางที่พระอุปคุตแหงนหน้าหยุดดวงอาทิตย์เพื่อฉันข้าว และด้วยเหตุที่พระอุปคุตเป็นพระเถระผู้อุดมไปด้วยโภคทรัพย์ (แม้ไม่บิณฑบาตก็มีอาหารอันเป็นทิพย์ที่เหล่าเทพเทวดานำมาถวาย) คุณวิเศษของพระอุปคุตจึงเป็นไปในทางขจัดอุปสรรคขวากหนาม เพราะพระอุปคุตเป็นผู้กำราบพญามาร แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้ และความยิ่งใหญ่ของท่าน พระอุปคุตปางนี้จึงเป็นที่นิยมในการสร้างไว้บูชาอย่างแรก พระอุปคุตนิยมเข้านิโรธสมาบัติ ก็เลยกลายเป็นพระมหาลาภโดยปริยาย การบูชาท่านก็จะมีลาภผลมากไปด้วย อีกนัยหนึ่งเป็นความเชื่อในระยะหลัง  คือดูจากพระพุทธรูปแล้วเป็นลักษณะท่านล้วงบาตรกำลังฉันอยู่ ก็คิดว่าถ้าบูชาอย่างไรเสียเราคงไม่อดแน่ มีกินแน่นอน

จากการสันนิษฐานตามตำนาน พระอุปคุตเกิดหลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ท่านเป็นพระเถระสำคัญองค์หนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้เปี่ยมด้วยพุทธานุภาพและฤทธิ์เดชเกรียงไกร สามารถปราบพญามารและกำจัดสิ่งชั่วร้ายที่จะมาทำลายพิธีกรรมใหญ่ ๆ มาแต่ครั้งโบราณ พระอุปคุตเป็นชาวเมืองปาตลีบุตร เมื่อบวชแล้วบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ด้วยความสันโดษและมักน้อย จึงลงไปจำศีลบำเพ็ญเพียร ณ สะดือทะเล เมื่อมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นในทางพระพุทธศาสนา เมื่อมีพิธีกรรมสำคัญ หรือมีผู้นิมนต์ ท่านก็จะขึ้นมาช่วยเหลือด้วยความเต็มใจเสมอ

อย่างไรก็ตาม การออกมาบิณฑบาตในตอนกลางคืนของพระภิกษุและสามเณรตามหลักของพระพุทธศาสนาถือว่าผิดวินัย เพราะเป็นยามวิกาล พระสงฆ์จะออกมาบิณฑบาตได้ในเวลาประมาณตีห้า หรือแบมือแล้วเห็นเส้นลายมือ หากยังไม่ปรากฏเส้นลายมือ ให้ถือว่ายังไม่รุ่งอรุณ จะออกไปบิณฑบาตไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะสงฆ์ได้มีการหารือกันหลายครั้ง แต่เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีนี้เอาไว้ ก็ได้มีการยืดหยุ่นกันไป บ้างก็ปรับเปลี่ยนมาจัดพิธีกันในวัด ให้ชาวบ้านมารวมตัวกันตักบาตรเป็งปุ๊ดในวัดแทน ซึ่งก็เป็นทางออกที่เหมาะสมและได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่พุทธศาสนิกชนล้านนา
           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1109 วันที่  16 -  22 ธันวาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์