วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ชี้ทางรอดสื่อบ้านนอก ปรับตัวทวนกระแส มุ่งทิศ นสพ.ชุมชน

จำนวนผู้เข้าชม good hits

บรรณาธิการ “ลานนาโพสต์” ติวเข้มสื่อภาคเหนือ ใช้ออนไลน์อย่างมีจริยธรรมและไม่ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันชี้ทางรอดสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทวนกระแส “หนังสือพิมพ์กำลังจะตาย” ชี้ทางปรับเนื้อหา ลดข่าวชาวบ้านชอบ เพิ่มข่าวใกล้ชิดชุมชน เสนอ  “ลานนาโพสต์โมเดล”  หนังสือพิมพ์ชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่โตแต่ไม่ตาย

ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และมีจริยธรรม จัดโดยคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่โรงแรมวังคำ จังหวัดเชียงราย  เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล บรรณาธิการลานนาโพสต์ ได้บรรยายในที่ประชุมสื่อมวลชน และภาคประชาสังคมในจังหวัดภาคเหนือว่า ปรากฏการณ์การล่มสลายของสื่อหนังสือพิมพ์ในเมืองใหญ่ อาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับหนังสือพิมพ์ในต่างจังหวัด หากมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทในท้องถิ่น

นายจักร์กฤษ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่หนังสือพิมพ์ระดับชาติ ไม่สามารถอยู่รอดได้ในทางธุรกิจ เช่น หนังสือพิมพ์บ้านเมือง อายุ 44 ปี ที่กำลังจะปิดตัวเอง และตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายในฉบับวันที่ 1 มกราคม 2560ไม่ใช่มาจากสื่อออนไลน์ หรือโลกยุคใหม่ที่ก้าวเข้าสู่ระบบดิจิตอล โดยเฉพาะทีวีดิจิตอล คุณภาพของสัญญาณจะเพิ่มสูงขึ้นมากทั้งภาพและเสียง มีความคมชัดมากขึ้น  แต่เนื้อหาก็ไม่ได้สะท้อนให้เห็นความคิดเชิงสร้างสรรค์ หรือมีความแปลกใหม่ มากกว่าฟรีทีวีเดิม แต่สาเหตุน่าจะมาจากการเสนอข่าวซ้ำๆ ภาพซ้ำๆของหนังสือพิมพ์ที่ถูกสื่ออื่นช่วงชิงไปก่อนแล้วในกรณีหนังสือพิมพ์ และการเสนอข่าวและรายการซ้ำๆเลียนแบบกัน ของทีวีดิจิตอล เช่น รายการชกมวย เกมโชว์ ประกวดร้องเพลง กรณีสื่อโทรทัศน์ดิจิตอล  ดังนั้นเมื่อสื่อเหล่านี้ไม่ใช่ทางเลือก จึงไม่มีเหตุผลที่คนจะอ่านข่าวซ้ำในหนังสือพิมพ์ หรือดูรายการที่ซ้ำๆกันอีก

“ด้วยประสบการณ์ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสื่อในสังคมไทยมายาวนาน ผมเชื่อว่าทุกสื่อที่มีอยู่ในขณะนี้จะยังอยู่ต่อไปได้ เพราะธรรมชาติของแต่ละสื่อมีความแตกต่างกัน และหากตอบโจทก์การทำสื่อที่ไม่ซ้ำซ้อน มีที่ทางและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน  ค้นหาตัวเองให้เจอ ในกรณีสื่อต่างจังหวัด  เน้นหนัก และให้ความสนใจเนื้อหาข่าวที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน เช่น ลานนาโพสต์ ที่เลือกตำแหน่งทางการตลาด เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเพื่อชุมชน  แนวทางนี้จะเป็นทางออกที่ยั่งยืน”

นายจักร์กฤษ กล่าวและว่า  หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะต้องเข้าใจบริบทของสังคมตัวเอง และเลือกที่จะนำเสนอข่าวที่ใกล้ชิดชาวบ้าน ข่าวที่พวกเขาไม่สามารถหาอ่านจากสื่อไหนๆได้ และหากเป็นข่าวประเภทอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะได้เปรียบกว่าหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง หรือการส่งนักข่าวส่วนกลางมาทำข่าวในท้องถิ่น  อีกทั้งข่าวบางประเภทเช่นข่าวสิ่งแวดล้อม ก็เป็นปัญหาและปรากฏการณ์ร่วมในระดับชาติ หากทำได้ละเอียดและเข้าถึงปัญหาได้อย่างแท้จริง ก็สามารถขยายผลไปสู่การรับรู้ในระดับชาติได้

บรรณาธิการลานนาโพสต์กล่าวด้วยว่า ในทางธุรกิจ หนังสือพิมพ์ต่างจังหวัด ไม่อาจสร้างรายได้ให้ร่ำรวย มีฐานะเหมือนหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ในเมืองได้อยู่แล้ว แต่การเลือกปรับเนื้อหา ให้สนองตอบความต้องการในท้องถิ่น ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว และหากสามารถสร้างเนื้อหาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหนังสือพิมพ์ได้ ก็จะอยู่รอดได้

“มันไม่ถึงกับเติบโต ขยายตัวเหมือนหนังสือพิมพ์ใหญ่ แต่ถ้าทำให้เป็นหนังสือพิมพ์ทางเลือกได้ มีคนอ่านที่เหนียวแน่นสักกลุ่มหนึ่ง เราก็สามารถทำงานข่าวในเชิงอุดมการณ์ได้เต็มที่”
นายจักร์กฤษ กล่าว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1108 วันที่  9 - 15  ธันวาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์