วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

หยุดกินหูฉลาม

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาเลยทีเดียวสำหรับเมนูที่มีส่วนผสมของหูฉลามของร้านสุกี้ชื่อดังร้านหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งเมืองลำปางเราก็มีสาขาของร้านนี้อยู่ โดยผู้นำเสนอประเด็นนี้คือเพจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่าง Sunshine Sketcher ที่รายงานว่า ร้านอาหารดังกล่าวเพิ่มเมนูใหม่ขึ้นมาเป็นลูกชิ้นที่มีส่วนผสมของหูฉลาม สวนกระแสกับร้านอาหารทั่วโลกที่กำลังตื่นตัวในเรื่องนี้อยู่ และที่ผ่านมาหลายร้านก็ทยอยถอดเมนูหูฉลามออกไปแล้ว เนื่องจากถูกต่อต้านอย่างหนักจากนักอนุรักษ์ แม้แต่ในหมู่คนจีนรุ่นใหม่ ก็มีการรณรงค์อย่างมากมายให้ยกเลิกเมนูนี้ในงานแต่งงาน

อันที่จริงน่าดีใจที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ เรามีสัตว์สงวนใหม่ของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 4 ชนิดในรอบ 30 ปี ได้แก่ วาฬบรูดา วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง นอกจากสัตว์สงวนแล้ว คณะรัฐมนตรียังมีมติอนุมัติสัตว์ป่าคุ้มครองเพิ่มอีก 12 ชนิด ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายาก ได้แก่ ปลากระเบนแมนต้ายักษ์ ปลากระเบนแมนต้าแนวปะการัง ปลากระเบนปีศาจครีบสั้น ปลากระเบนปีศาจหางหนาม ปลากระเบนปีศาจครีบโค้ง ปลากระเบนปีศาจแคระ ปลากระเบนราหูน้ำจืด ปลาโรนิน หรือปลากระเบนท้องน้ำ ปลาฉนากยักษ์ ปลาฉนากปากแหลม ปลาฉนากเขียว และปลาฉนากฟันเล็ก

ทว่าไม่มีปลาฉลาม...

ถามว่าทำไมเราจึงไม่กินเสือ กินช้าง เพราะเรารู้ว่ามันหายาก ใกล้สูญพันธุ์ และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ที่สำคัญ คือมีกฎหมายคุ้มครอง แต่สำหรับสัตว์ทะเลหายากหลายชนิด บ้านเรายังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การกินพวกมันคือสิ่งที่เหมาะสม

การออกมาถามหาความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากร้านอาหารยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอาหารของตัวเองให้มากกว่านี้ ก็ไม่วายโดนค่อนขอดจากผู้ที่เห็นต่างว่าร้านอาหารแถวเยาวราชยังขายหูฉลามดาษดื่น ทำไมไม่ไปโวยบ้างล่ะ หรือนำฉลามไปเปรียบเทียบกับสัตว์เศรษฐกิจอย่างหมูเห็ดเป็ดไก่วัว ชนิดที่เรากินกันอยู่ทั่วไป

ฉลามเป็นสัตว์ผู้ล่าสูงสุดของระบบนิเวศทางทะเล ฉลามเป็น ๆ จึงมีคุณค่ามหาศาล ไม่ต่างจากปลานกแก้ว ปลาที่ไม่ได้เป็นสัตว์อนุรักษ์อะไรเลย แต่มีความสำคัญมากมายต่อแนวปะการังหากร้านสุกี้ดังที่มีสาขามากกว่า 400 สาขาทั่วประเทศมีการเสิร์ฟเมนูนี้ ความต้องการหูฉลามจะเพิ่มขึ้นไปอีก

ภาพของซากฉลามจำนวนมากวางระเกะระกะอย่างไร้ค่า รอการประมูลอยู่ที่ท่าเรือระนอง จังหวัดระนอง ไม่ว่าจะเป็นฉลามหัวค้อน ฉลามครีบดำ ฉลามพยาบาล ฉลามหางยาว ฯลฯ มีให้เห็นหลายขนาด โดยเฉพาะฉลามวัยอ่อนซึ่งทั้งหมดนี้นักอนุรักษ์เห็นแล้วแทบใจสลายเพราะฉลามแตกต่างจากปลาอื่น ความที่มันโตช้า ใช้เวลานานกว่าจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ระยะเวลาการตั้งท้องก็นานนับปี และออกลูกครั้งละไม่กี่ตัว กว่า 1 ใน 3 ของชนิดพันธุ์ฉลามทั่วโลกจึงอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ หลายพื้นที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า ประชากรฉลามลดลงกว่า 90-95 เปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้นักดำน้ำรุ่นเก่า ๆ ยืนยันได้ว่า ทะเลไทยทุกวันนี้ยากแล้วที่จะเห็นฉลามตัวเป็น ๆแม้แต่หมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ซึ่งเคยติดอันดับแหล่งดำน้ำที่ดีที่สุดในโลก...เมื่อนานมาแล้ว

ปัญหาในการอนุรักษ์ฉลามของบ้านเรา คือ กฎหมายไม่ได้ให้การคุ้มครอง ดังนั้น การค้าขายฉลามจึงไม่ผิดกฎหมาย ยกเว้นว่าจะจับในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ แต่จะมีวิธีตรวจสอบได้อย่างไรกันเล่า

อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้มากว่า ซากฉลามที่ท่าเรือระนองนั้น ถูกจับมาจากทะเลอันดามันในฝั่งเมียนมาร์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักวิชาการประมงทะเลจังหวัดระนองท่านหนึ่งออกมาระบุว่า ฉลามบางชนิดขึ้นบัญชีไซเตส ห้ามซื้อขายและส่งออกแล้ว สถานีประมงทะเลระนองร่วมกับด่านตรวจสัตว์น้ำและหน่วยงานกรมประมงจะติดตามรายงานว่า ที่มาของฉลามว่ามาจากไหน และเป็นฉลามชนิดที่ขึ้นบัญชีไซเตสหรือไม่ เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ฉลามที่จับมาได้เหล่านี้ ทางวิชาการเรียกว่า สัตว์น้ำพลอยจับได้ (bycatch) คือไม่ได้ตั้งใจจับว่าอย่างนั้นเถอะ แต่ติดอวนมาสอดคล้องกับข้อมูลของกรมประมงที่ติดตามเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วพบว่า การประมงที่มีเป้าหมายจับปลาฉลามในประเทศไทยนั้นไม่มี ฉลามที่ได้มามีเพียงส่วนน้อย แต่ก็มีคนค้านว่า ฉลามตัวใหญ่ ๆ ที่เห็น ไม่น่าจะมาจากเครื่องมืออวนลาก

ทุกวันนี้ มีรายงานว่า ฉลามถูกล่ากว่า100 ล้านตัว ต่อปี ราว 38 ล้านตัวถูกล่าเพื่อเอาหู (จริง ๆ คือส่วนที่เป็นก้านครีบ) แล้วอีก 62 ล้านตัวล่ะ ถูกล่าเพื่อเอาของเหลวที่สกัดจากตับของปลาฉลามน้ำลึก เนื้อ หนัง กระดูกมาแปรรูปขายให้สุนัขแทะ

การล่าฉลามมีมานานแล้วก็จริง แต่สมควรให้มีต่อไปหรือไม่ การตระหนักรู้ในคุณค่าของฉลามจะนำมาซึ่งการลดจำนวนความต้องการฉลามในท้องตลาด มันอาจกินเวลาเนิ่นนาน แต่ยังไม่สายเกินไปเสียทีเดียวที่จะเริ่มต้น

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1108 วันที่  9 - 15  ธันวาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์