วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา ดัชนีวัดสำนึกสิทธิมนุษยชน

จำนวนผู้เข้าชม website counter

ม่น่าแปลกใจที่ปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ที่รัฐยะไข่ นอกจากยูเอ็นแล้ว ชะตากรรมของพวกเขา กับท่าทีของประเทศจีน ไทย และอีกหลายประเทศที่กำลังจะเข้าไปขุดทองในพม่า ทั้งน้ำมัน เหมืองแร่ ทรัพยากรค่ามหาศาล เฉยชาอย่างยิ่ง
           
โดยเฉพาะประเทศไทย มีมุสลิมบางกลุ่มเท่านั้นที่ชุมนุมกดดันพม่าหน้าสถานทูต
           
ยังไม่ต้องกล่าวถึงประเทศพม่า และนางอองซาน ซูจี ที่ทำให้ชนชาติโรฮิงญา เหมือนไม่มีตัวตนอยู่ในพม่าเช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น การเผาบ้านชาวโรฮิงญา อุ้มฆ่า ปิดมัสยิด ห้ามละหมาด จึงเป็นความชอบธรรมที่จะผลักดันคนกลุ่มนี้ ออกนอกแผ่นดิน
           
คนโรฮิงญากลุ่มแล้วกลุ่มเล่า ต้องอพยพหนีตายออกจากพม่า กลุ่มหนึ่งไปบังคลาเทศ ซึ่งก็ถูกจำกัดด้วยจำนวนคนในค่ายลี้ภัย ซึ่งมีจำนวนนับแสนคนแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งล่องทะเลไปขึ้นฝั่งประเทศไทย บ้างก็ตายในเรือ บ้างก็มุ่งมาถึงจุดหมายปลายทางได้
           
แต่แม้ขึ้นฝั่งได้ ก็ต้องมาจบชีวิตเช่นกัน
           
การพบหลุมฝังศพ และค่ายกักกันชาวโรฮิงญาจำนวนมากในประเทศไทยก่อนหน้านี้  ได้เปิดให้เห็นขบวนการค้ามนุษย์ที่ถูกปกปิดมายาวนาน พวกเขานับถือศาสนาอิสลาม ความเป็นมุสลิมของเขากลับเพิ่มความหวาดระแวงให้กับสังคมไทย ที่มีความคิด มีทัศนคติในศาสนานี้ว่าเป็นศาสนาแห่งความรุนแรง
           
Islamophobia มิได้เกิดเฉพาะในพม่าที่รัฐต้องการให้เกิด หากแต่ความรู้สึกหวาดกลัวอิสลามเช่นนี้ เกิดขึ้นทุกหนแห่ง รวมทั้งในสังคมไทย
           
หากฟังกระแสสังคม ที่อยู่บนพื้นฐานของความหวาดระแวง โรฮิงญากำลังถูกตั้งคำถามมากมาย ทั้งมิใช่ชาวโรฮิงญาที่แท้จริง หากเป็นเพียงคนบังคลาเทศที่พยายามหลบหนีเข้าเมือง หรือข้อสังเกตอื่นๆที่พยายามตอบโจทก์ว่า โรฮิงญามิใช่กลุ่มคนที่ควรได้รับความเห็นใจ
           
แม้รูปลักษณ์ของคนโรฮิงญา จะดูแปลกแยกแตกต่างไปจากคนไทย แต่นานนับร้อยปีแล้ว ที่คนแปลกแยกแตกต่างเหล่านี้อพยพหลบหนีภัยสงคราม และความยากจน เข้ามาพึ่งพาแผ่นดินไทย และมีหลายสิ่งที่คนไทยอาจไม่รู้ว่า มาจากคนต่างถิ่นเหล่านี้
           
ข้าวซอย ที่ดูเหมือนก๋วยเตี๊ยวไม่ใช่ข้าว เป็นอาหารยอดนิยมของภาคเหนือ ไม่ใช่อาหารพื้นถิ่น ของคนท้องถิ่น แต่คือ 'ก๋วยเตี๊ยวฮ่อ' อันมีต้นกำเนิดมาจากมุสลิมจีนฮ่อ มุสลิมจีนฮ่อ อพยพมาจากยูนนานสายหนึ่ง อีกสายหนึ่งแตกทัพมาจากกองพล 93
           
วันนี้พวกเขากลายเป็นคนท้องถิ่น ผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว กับคนท้องถิ่น มีถิ่นฐานอยู่ในอำเภอฝาง แม่อาย เมืองเชียงใหม่ ลำปาง บางส่วนกระจัดกระจายอยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือ
           
มุสลิมภาคกลาง ส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากเฉกอะหมัด หรือพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา ว่าที่จุฬาราชมนตรี ในยุคสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ แห่งกรุงศรีอยุธยา
           
พระยาเฉกอะหมัด เป็นพ่อค้ามุสลิมชาวเปอร์เซีย หรืออิหร่านปัจจุบัน และเป็นต้นสกุล บุนนาค อะหมัดจุฬา จุฬารัตน์ ศรีเพ็ญ บุรานนท์ ศุภมิตร ฯลฯ
           
เรื่องราวของพระยาเฉกอะหมัด มีบันทึกไว้จำนวนมาก ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ) เล่าว่า
           
“เดิมท่านเศรษฐีแขกสองคนพี่น้อง เป็นแขกชาติมะห่น และเป็นชาวเมืองกุนีในแผ่นดินอาหรับ ท่านผู้พี่ชื่อ เฉกอะหมัด ท่านผู้น้องชื่อ มหะหมัดสะอิด สองคนพี่น้องเป็นหัวหน้าพ่อค้าใหญ่ฝ่ายแขกทั้งปวง ท่านทั้งสองนั้นเป็นต้นเหตุพาพวกลูกค้าแขกชาติมะห่นคือแขกเจ้าเซ็น เข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา..”
           
ความนี้อาจผิดเพี้ยนไปจากความจริงบ้าง โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ อ้างว่าได้อาศัยข้อความ จากจดหมายเหตุของพระยาวรเทศ (เถื่อน) และว่าพระยาวรเทศ ได้มาจากจดหมายเหตุของพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) อีกทอดหนึ่ง
           
แต่ไม่ว่าตำนานเกี่ยวกับพระยาเฉกอะหมัด จะเป็นจริงหรือเท็จเพียงใด แต่ความจริงก็คือ คนที่สืบสาแหรกจากพระยาเฉกอะหมัด มีมาต่อเนื่องไม่ขาดสายจนถึงยุครัตนโกสินทร์และในปัจจุบัน ทุกปีคนในสายตระกูลบุนนาค จะรวมตัวกันไปคารวะศพของท่าน ที่ฝังไว้ในบริเวณกุโบร์แขกเจ้าเซ็น อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน
           
มุสลิมส่วนหนึ่งที่กรุงเทพ มาจากการกวาดต้อนมาจากใต้ ครั้งเมื่อรัชกาลที่ 1 ยกทัพไปตีปาตานี ดารุสสลาม กลุ่มนี้มีถิ่นฐานปัจจุบันอยู่ในเขตมีนบุรี หนองจอก บางกะปิ ลาดกระบัง ส่วนที่เคยเป็นขุนน้ำ ขุนนาง ก็จัดให้พำนักอยู่แถบบางพลัด บางอ้อ บางกอกน้อย คลองบางหลวง ยกเว้นเจริญพาศน์ ซึ่งเป็นมุสลิมสายชีอะห์
           
เมื่อพูดถึงเจริญพาศน์ คนทั่วไปอาจได้ยินคำว่ากุฎีเจริญพาศน์อีกชื่อหนึ่ง ซึ่งเป็นสายหนึ่งของมุสลิมจากเปอร์เซียเช่นเดียวกับพระยาเฉกอะหมัด
           
ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม อธิบายความเป็นกุฏีเจริญพาศน์ หรือ กุฎีล่างว่า  ตั้งอยู่ริมคลองบางหลวง ฝั่งบางกอกใหญ่ เชิงสะพานเจริญพาศน์ ซึ่ง "กุฎี" หรือ กะดี ที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายถึง โรงที่ประชุมทำพิธีฝ่ายศาสนาอิสลามนิกายเจ้าเซ็นเป็นศาสนสถานของมุสลิมนิกาย ชีอะห์ หรือเจ้าเซ็นซึ่งความหมายของเจ้าเซ็นที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 หมายถึง อิมามฮูเซ็น ผู้เป็นหลานตาของศาสดามูฮัมมัดหรือ หมายถึง คนพวกหนึ่งที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งนับถืออิมามฮูเซ็น
           
กุฎีนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและเป็น กุฎีแห่งที่ 2 ในกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างโดยพระยาจุฬาราชมนตรีที่2 แห่งรัตนโกสินทร์ (อากาหยี่) ส่วนกุฎีแห่งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ คือ กุฎีหลวงสร้างโดยพระยาจุฬาราชมนตรีที่ 1 ในรัชสมัยเดียวกัน
           
ลักษณะสถาปัตยกรรม เป็นเรือนทรงมนิลาประดับด้วยไม้ฉลุอย่างงดงาม ซึ่งเป็นศิลปะแบบ Ginger Bread กุฎีเจริญพาศน์นับเป็นศาสนสถานสำคัญของแขกเจ้าเซ็นและยังเป็นสถานที่จัดพิธีเจ้าเซ็นซึ่งเป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์และความศรัทธา ที่มีต่อศาสดาของตน
           
นอกจากนั้น ยังมีแขกจาม ซึ่งอพยพหนีภัยสงคราม ครั้งเมื่อฝรั่งเศสยึดครองกัมพูชา และบังคับให้พวกเขาเปลี่ยนศาสนา
           
แขกจาม หรือมุสลิมสายเขมร มีทั้งที่อพยพ และถูกกวาดต้อนมาในสมัย ร.3 ส่วนหนึ่งตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด อีกกลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาในรัชกาลที่ 5 ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมคลองแสนแสบ เขตราชเทวี และบริเวณบ้านครัว ย่านอุรุพงษ์
           
เมื่อคิดถึงโรฮิงญา พวกเขาก็ไม่แตกต่างไปจากบรรพบุรุษเผ่าพันธุ์มุสลิมในประเทศไทย ประวัติศาสตร์ของคนที่มาก่อน ก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ประวัติศาสตร์ของพวกเขา เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยังสดๆ และชวนให้ตั้งข้อสงสัยมากมาย
           
พวกเขาเดินทางมาช้ากว่ากาลเวลา และโลกวันนี้คงไม่มีที่ว่างสำหรับเขาอีก ความสำนึกว่าเพื่อนร่วมโลกของเรากำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง คงเป็นเรื่องที่เข้าใจยากกว่าการที่จะไปขุดทองในพม่าในช่วงเวลาหลังเปิดประเทศได้อย่างไร

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1107 วันที่  2 - 8  ธันวาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์