วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2560

ความตายของทีวีดิจิตอล กับความ(ไม่)ตายของหนังสือพิมพ์



จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

มื่อมีการพูดกันว่า ภูมิทัศน์สื่อ หรือ  media landscape ที่เปลี่ยนไป ทำให้คนเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ที่หลากหลาย รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น และย้อนหลังไปราว 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการเปิดประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง ก็เกิดมายาคติว่า นั่นคือยุคทองของนักนิเทศศาสตร์ ที่จะมีช่องทางทำมาหากินมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน นักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ก็ถูกปลุกเร้าให้สำคัญผิดว่า จะมีตลาดแรงงานรองรับอย่างมหาศาล เพราะการขยายตัวของฟรีทีวี จากเดิม 6 ช่อง ขยายไป 4 เท่า มีดีมานด์ในตลาด ที่เรียกว่า ยังไม่ทันจบการศึกษา ก็จะมีคนรอรับไปทำงานกันเลยทีเดียว

คาดการณ์กันเช่นนั้นว่า หนังสือพิมพ์กำลังจะตาย แต่เอาเข้าจริงทีวีดิจิตอล ที่วาดฝันกันไว้สวยหรูเมื่อกว่า 2 ปีก่อน กลับตายก่อนและทยอยกันล้มหายตายจากไป ผ่านไปเพียงปีเศษๆ ไทยทีวี และโลก้า ก็โยนผ้ายอมแพ้เป็นเจ้าแรก  เหลือเพียงช่องบันเทิง และช่องที่”สายป่าน” ยังยาวพอที่จะผ่อนเชือกออกไปได้

แต่ไม่เกิน 5 ปีจากนี้  24 ช่อง จะเหลือไม่ถึง 10 ช่อง

แม้จะมีคำสั่งมาตรา 44 ยืดชีวิตไปแล้วก็ตาม

ความคมชัด ของภาพและเสียงอันเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นของ  การส่งสัญญาณผ่านระบบดิจิตอล มาช้ากว่ากาลเวลา เพราะในโลกที่เทคโนโลยีการสื่อสาร เปลี่ยนแปลง ก้าวหน้านับกันเป็นนาที ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร สาระบันเทิงในช่องทางที่คม ชัด หลากหลาย โดยไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของเวลาและสถานที่อีกต่อไป  ทีวีดิจิตอลก็กลายเป็นเพียงช่องทางหนึ่งที่ล้าสมัย และไม่พัฒนา

สมาร์ทโฟน เป็นช่องทางสำคัญ ในการเลือกรับสาร ในมหาสมุทรแห่งข้อมูล ข่าวสาร ทีวีดิจิตอล เป็นเพียงฟองอากาศเล็กๆที่ล่องลอยอย่างไร้จุดหมาย

ทุกวันนี้ คนดูยังไม่เห็นเนื้อหาที่แตกต่างของทีวีดิจิตอล ที่คุยกันคำโตก่อนประมูลคลื่น เพราะสุดท้ายแล้ว เกือบทุกๆช่องก็ทำเหมือนกัน มีเกมโชว์เหมือนกัน มีประกวดร้องเพลงในช่วงก่อนไพรม์ไทม์เหมือนกัน  มีชกมวยเหมือนกัน มีรายการเล่าข่าวเหมือนกัน ผ่านมาระยะหนึ่ง พวกเขาก็พบความจริงว่า เกมโชว์และความบันเทิงนั้นคือเนื้อหาที่ครองใจคนส่วนใหญ่ และพยายามทำให้เหมือนเขา แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะหรือแชร์ส่วนแบ่งบันเทิง จากรายการหรือ ช่องบันเทิงดั้งเดิมที่แข็งแกร่งได้

ความแข็งแกร่งของช่องข่าว ถูกลดทอนด้วยรายการเกมส์โชว์ และบันเทิง ในขณะที่ช่องบันเทิง ก็พยายามสร้าง brand awareness เรื่องข่าว คล้ายให้รู้ว่าไม่ใช่มีเพียงบันเทิงเริงรมย์เท่านั้น หากยังมีความเข้มข้นของข่าวอยู่ด้วย แน่นอนว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก โดยเฉพาะเมื่อจับดารา เซเลบทั้งหลายมานั่งอ่านข่าว แต่ไม่เข้าใจเรื่องข่าว หรือแม้กระทั่งความคาดหวังในผู้ประกาศข่าวที่ เชื่อว่าจะเป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดผู้คนได้ แต่ไม่ลึกซึ้งเรื่องข่าว

กระนั้นเมื่อความคาดหวังของผู้บริโภคข่าวสารอยู่ที่เกมส์โชว์ และความบันเทิง เรื่องข่าวก็เป็นมูลค่าเพิ่มที่ไม่ได้เสียหายอะไร มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่เป็นไร เพราะรอบตัววันนี้ก็ท่วมท้นไปด้วยข้อมูล ข่าวสารที่วิ่งมาชนตัวเราตลอดเวลาอยู่แล้ว

ดังนั้น จึงไม่แปลก ที่ผลประกอบการกลุ่มทีวีดิจิตอล ที่อยู่ในตลาดหุ้น ขาดทุนกันโดยทั่วหน้า โดยเฉพาะช่องข่าวที่เคยฝันว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งในวงการ  เหลือเพียงช่อง 3 เวิร์คพอยด์ และอาร์เอสเท่านั้น ทียังมีกำไรต่อเนื่อง  ส่วนทีวีดิจิตอลในกลุ่มสื่อยักษ์ใหญ่ ไทยรัฐ และเดลินิวส์ ไม่มีข้อมูล แต่ฟังว่าสถานการณ์ก็ไม่ดีนัก
ความล่มสลายขององค์กร แยกไม่ออกจากตัวคน เมื่อ กสทช.ตีธงเขียว ให้สัญญาณเริ่มแข่งขัน เมื่อเดือนเมษายน 2557  ปรากฏการณ์ “มนุษย์ทองคำ” ย้ายค่าย ตั้งราคาต่อรอง ก็คึกคักยิ่ง เพราะในขณะเริ่มต้นทีวีดิจิตอลนั้น  คนข่าวระดับชำนาญการที่สามารถเริ่มต้นงานได้มีน้อยอย่างยิ่ง ไม่แตกต่างไปจากปรากฏการณ์มนุษย์ทองคำช่วงก่อนหน้าปี 2540 ที่คนข่าวหนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อยถูกซื้อตัว

ยังไม่ต้องกล่าวถึง คนข่าวจำนวนหนึ่งที่ถูกยกขึ้นเป็นระดับชำนาญการ โดยที่อายุราชการยังน้อย ความสามารถไม่ถึง ความรู้เรื่องข่าวมีปัญหา ความสำนึกเรื่องจริยธรรมต่ำ แต่กว่าจะรู้ความจริงก็สายเกิน
ความจริงที่ทีวีดิจิตอล มิใช่สิ่งที่สังคมนี้ต้องการอีกแล้ว บวกกับคุณภาพคนข่าวที่ทำได้ “ไม่ถึง” ไม่สามารถแสดงความคิดเชิงสร้างสรรค์ให้เห็นความแตกต่างชัดเจน ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความรับผิดชอบ พร้อมๆกับความตายของไทยทีวี และโลก้า  โพสต์ทีวี ที่ตั้งใจจะสานฝันกับไทยทีวี ก็ต้องปลดคนงานออกจำนวนมาก

แต่ในขณะที่สังคมทอดตามองมาที่สื่อหนังสือพิมพ์ เกือบทั้งหมดยังอยู่ได้ ยกเว้นกลุ่มสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารที่ทยอยปิดตัวเองไป ด้วยเหตุผลที่แตกต่าง

เหตุใด หนังสือพิมพ์จึงยังทวนกระแสอยู่ได้ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ต้องค้นหาคำตอบกัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1113 วันที่  20 - 26 มกราคม 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์