วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2560

สื่อซ้ำ โศกซัด

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

ากมีใครสักคนในโศกนาฏกรรมรถตู้ประสานงานกับรถกระบะ ที่อำเภอบ้านบึง ชลบุรี ตาย 25 ศพ  เป็นลูก เป็นเมีย เป็นญาติพี่น้องของนักข่าว นักข่าวจะเสาะแสวงหาเรื่องราวว่า  แต่ละชีวิตที่มาพบจุดจบพร้อมกัน มีแง่มุมพอจะดราม่าไหม จะถามไหมว่าพ่อ แม่ ญาติพี่น้องเขาจะรู้สึกอย่างไร  ปรารถนาที่จะรู้ไหมว่าบรรยากาศก่อนที่แม่จะพรากจากลูก พี่จะพรากจากน้อง ญาติพี่น้องจะพลัดพรากจากกันเป็นอย่างไร

พวกเขาอาจรู้สึกดีก็ได้ ที่ต้องตอบคำถามเหล่านี้ ในขณะที่หัวใจกำลังแหลกสลาย !

นี่มิใช่เรื่องจริยธรรม หรือหลักการสูงส่งอะไร มันเป็นเพียงความรู้สึกพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่ควรต้องเข้าถึงหัวจิตหัวใจของผู้สูญเสีย รู้สึกได้ในภาวะที่เราตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนั้น และไม่ไปซ้ำเติมหรือบั่นทอนความรู้สึกของผู้สูญเสียอีก

เพียงเพราะต้องการขายข่าว !

ต้องการดราม่าให้ถึงที่สุด ให้คนอ่าน คนดู คนฟัง ได้รู้สึกเศร้าสะเทือนใจที่สุด ด้วยกลวิธีการพูด การเขียน  การแสดงสีหน้า ท่าทาง ให้เห็นภาพคล้ายฉากละคร ที่เห็นความสูญเสีย ความเศร้าโศกของคนอื่น เป็นความบันเทิง คล้ายคนโรคจิต เฝ้ามองแมลงวันที่ก้นแก้วกาแฟดิ้นจนตายไปช้าๆ

หลัก ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ รูปแบบ พิธีกรรมในการกำกับ ดูแลเรื่องจริยธรรม การมีอยู่ของคณะกรรมการจริยธรรม จะมีประโยชน์อันใดเล่า  ถ้ามันมีอยู่แล้ว ปฏิบัติไม่ได้ บังคับให้ใครเชื่อและยอมทำตามไม่ได้ เพราะนาทีแห่งการดิ้นรนเอาตัวรอดนั้น คิดแต่จะขายข่าว มากกว่าความรับผิดชอบ

ในการเสนอข่าวหรือภาพใดๆ ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส ต้องไม่ซ้ำเติมชะตากรรม ความทุกข์ หรือโศกนาฏกรรมของผู้สูญเสีย

การรายงานข่าวภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ..... ต้องคำนึงถึงมนุษยธรรม และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่กำลังทุกข์โศก ลำบาก ทรมาน และต้องนำเสนอเนื้อหาด้วยความระมัดระวัง การบรรยายภาพต้องสมเหตุสมผล โดยเฉพาะภาพที่มีความสยดสยอง มีอารมณ์หดหู่ เศร้าใจหรือโกรธแค้น

การนำเสนอภาพการฆ่าบุคคล ภาพผู้เสียชีวิต หรือผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย กำลังมีความทุกข์ ต้องนำเสนออย่างระมัดระวัง และเคารพต่อศักดิ์ศรีของบุคคลในภาพและครอบครัว

สามวรรคนี้คือหลักการจริยธรรมพื้นฐานที่เขียนไว้โดยไม่จำแนกประเภทของสื่อ แต่จะมีใครสักคนได้อ่าน ได้จดจำ หรือแม้ไม่ได้อ่าน ไม่รู้ว่ามีอยู่ แต่จะคิดได้เองหรือไม่ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องพึงปฏิบัติ

พวกเขาอาจมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป เพราะการได้ตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ การได้เห็นความทุกข์โศกของเพื่อนมนุษย์เป็นความบันเทิง ก็นับว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดในวิชาชีพแล้ว

เราจะเพรียกหาจิตวิญญาณของคนข่าวที่เคยมี จิตวิญญาณแห่งความรับผิดชอบ และความเป็นมนุษย์ที่เข้าถึงหัวจิตหัวใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กลับคืนมาได้อย่างไร

ตราบใดที่สื่อยอมก้มหัวให้เผด็จการ ปิดหู ปิดปาก ปิดตา แลกกับผลประโยชน์ก้อนโตที่ผู้มีอำนาจหยิบยื่นให้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1111 วันที่  6 - 12  มกราคม 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์