วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2560

บทบรรณาธิการ พื้นที่ที่ถูกมองข้าม



จำนวนผู้เข้าชม website counter

ศักราชใหม่ของ “ลานนาโพสต์” ยังอยู่ในห้วงแห่งบรรยากาศการทบทวนบทบาทของความเป็น “สื่อท้องถิ่น” ที่มุ่งหวังตั้งใจ ให้เป็นสื่อที่สะท้อนปรากฏการณ์ในท้องถิ่น ไปสู่การรับรู้ในระดับชาติ ความพยายามดังกล่าวยังมีอยู่ในปีที่ผ่านมา ปีนี้ และปีต่อๆไป

แม้จะยังอีกยาวไกลกว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทาง แต่อย่างน้อยในระหว่างทางก็มีดัชนีชี้วัดความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยผ่านการตอบรับในรูปแบบรางวัลต่างๆ โดยเฉพาะรางวัลที่จะพูดถึงในลำดับแรกๆ คือรางวัลบทบรรณาธิการดีเด่น พื้นที่ในหนังสือพิมพ์ที่ถูกมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์กรุงเทพหรือต่างจังหวัด

ก่อนหน้านี้  ในปี 2554 รุจน์ โกมลบุตร แห่งคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้เสนองานวิจัย เรื่อง “การบริหารหนังสือพิมพ์ ลานนาโพสต์ ข้อเสนอต่อการปฏิรูปหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น” เนื้อหาตอนหนึ่ง ระบุว่า “ลานนาโพสต์ไม่มีประสบการณ์ได้รับรางวัลใดๆ ได้รับแต่เกียรติบัตรจากหน่วยงาน ส่วนราชการ องค์การเอกชน และสมาคม สโมสรต่างๆ”

ประสบการณ์ในการได้รับรางวัล อาจวัดได้ในเชิงคุณค่าสำหรับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ในหลักคิดของผู้วิจัย ในขณะเดียวกันในฐานะคนทำหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ก็อาจตอบโจทย์วิจัยนี้ได้ โดยการทดสอบเสนอผลงานเข้าชิงรางวัล โดยเริ่มจากบทบรรณาธิการ พื้นที่ที่ถูกมองข้าม และเป็นพื้นที่ที่หาคนเขียนยากที่สุด

เมื่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เริ่มจัดให้มีการประกวดรางวัลบทบรรณาธิการ ลานนาโพสต์ได้รับรางวัลบทบรรณาธิการดีเด่นเป็นปีแรก ในปี 2555 จากบทบรรณาธิการ ชื่อ  “แม่เมาะ ฤาปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ในปี 2556 ได้รับรางวัลบทบรรณาธิการชมเชย จากเรื่อง “ความหวังของลำน้ำวัง”

ต่อมาในปี 2557 ได้รับรางวัลบทบรรณาธิการดีเด่น จากเรื่อง “สื่อท้องถิ่น บทบาทที่หายไป” ครั้งสุดท้าย ในปี 2558 ลานนาโพสต์ได้รับรางวัลบทบรรณาธิการดีเด่น จากเรื่อง “ความตายที่แม่เมาะ”

บทบรรณาธิการทั้ง 4 ชิ้น ล้วนสะท้อนปัญหาสาธารณะในท้องถิ่น เป็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม  ที่ใกล้ตัวคนในท้องถิ่น และส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น  การแสดงจุดยืน หรือความเห็นต่อประเด็นสาธารณะ ด้วยความคาดหวังว่าจะกระตุ้นเตือนจิตสำนึกของผู้สร้างมลพิษ กับการเป็นพลังใจให้กับชาวบ้านที่เสียงไม่ดัง มีอำนาจต่อรองน้อย ได้มีพลังในการต่อสู้กับหน่วยงานรัฐที่เสียงดังกว่า มีอำนาจมากกว่า การมีอยู่ของพื้นที่บทบรรณาธิการ จึงเป็นความจำเป็นและเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน

หน้าที่ของสื่อมวลชน คือการสะท้อนความจริงอย่างครบถ้วน รอบด้าน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็เช่นกัน แต่ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ คือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมักไม่ให้ความสำคัญกับพื้นที่บทบรรณาธิการ อันเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่คนทำสื่อรุ่นก่อนๆ เรียกว่าเป็นธงชัยเฉลิมพลของหนังสือพิมพ์

กองบรรณาธิการ  ลานนาโพสต์ ถือเป็นนโยบายสำคัญในการให้พื้นที่กับบทบรรณาธิการ ที่จะเสนอประเด็นปัญหาสาธารณะ แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ลำเอียง และนำเสนอทางออกอย่างเป็นรูปธรรม

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1112 วันที่  13 -  19 มกราคม 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์