วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2560

สองทายาท ‘อินเตอร์คัทส์’ รับไม้ต่อขยายฐานธุรกิจ
























จำนวนผู้เข้าชม website counter 

กว่า 30ปีที่ บริษัท ไอ.ที.ซี. อินเตอร์คัทส์ จำกัด ผู้ผลิต ใบเลื่อย ใบกบไฟฟ้า ใบมีดตัดหญ้า และ ใบมีดอุตสาหกรรม ก้าวเดินจากโรงงานห้องแถวไปสู่ความเป็นปึกแผ่นและผู้นำที่ไม่เป็นรองใครอุตสาหกรรมเดียวกันซึ่งมีอยู่ไม่มากนักในประเทศไทย ด้วยมือของ มาลีราช ปาเต็ล เขยลำปางที่ตัดสินใจย้ายโรงงานมาตั้งอยู่ที่ลำปาง ตามความตั้งใจที่จะกลับมาตั้งรกรากที่บ้านเกิดของภรรยาที่ลำปาง ปัจจุบันได้ส่งต่อกิจการแก่ทายาทรุ่นแรก นำพาไปสู่ความมั่นคง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับยุคของเทคโนโลยีการสื่อสารการตลาดที่มีการแข่งขันสูง

ปัทมา กฤษณรักษ์ และ นิรันดร์ ปาเต็ล สองทายาทธุรกิจที่รับช่วงบริหารงานจากคุณพ่อ มาลีราช ปาเต็ล เล่าถึงความเป็นมาของโรงงานแห่งนี้ว่า เดิมทีคุณพ่อเริ่มทำจากโรงงานรับจ้างผลิตใบเลื่อยที่กรุงเทพฯ และย้ายมาตั้งอยู่ที่ลำปางราวปี 2538 ซึ่งพัฒนาจากรับจ้างผลิตใบเลื่อยมือ ใบเลื่อยลันดาและผลิตใบมีดทุกชนิดที่ใช้ในเครื่องจักร   เป็นเวลากว่า 30 ปี ที่โรงงานแห่งนี้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของลูกค้ากว่า 14 แบรนด์ชั้นนำของไทย ที่ไว้ใจให้ผลิต สินค้าออกสู่ท้องตลาดในปัจจุบัน

“เราเริ่มจากการรับจ้างผลิตใบเลื่อย และพัฒนาไปสู่การผลิตใบมีดต่างๆที่ใช้ในเครื่องจักรเพราะเครื่องจักรอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ หาอะไหล่ใบมีดยาก ทำให้ตลาดนี้ยังมีความต้องการสูงและมีคู่แข่งน้อย  จึงเปิดโรงงานรับจ้างผลิตอะไหล่ใบมีดต่างๆ เน้นงานคุณภาพใช้เครื่องจักรจากญี่ปุ่น และนำมาตรฐานการผลิตจากหลายประเทศทั้ง เยอรมนี สวีเดน และ ญี่ปุ่น มาเป็นต้นแบบการผลิต เลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูงทำให้ใบมีดทุกใบมีความคงทน ธุรกิจเราจึงมีความแตกต่างเฉพาะตัว งานชิ้นเดียว หรือจำนวนน้อยมากเราก็รับ จากเริ่มแรกรับทำเฉพาะงานที่ใช้วัสดุเกรด เอ เท่านั้น ซึ่งราคาอาจจะสูงมาก ระยะหลังมีลูกค้าขอให้หาวัสดุที่คุณภาพดีเทียบเคียงในราคาไม่สูงมากเราก็ทำให้ เศรษฐกิจเปลี่ยน รสนิยมของลูกค้าและการตลาดก็เปลี่ยนตาม เราผลิตได้ทุกเกรดตามที่ลูกค้าต้องการแต่ยังรักษามาตรฐานคุณภาพเอาไว้” และนี่อาจจะเป็นกุญแจดอกแรก ท่ามกลางเศรษฐกิจบางช่วงที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก แต่เรายังมีจุดขายทำให้ “อินเตอร์คัทส์” ตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกราย

ปัจจุบันมีโรงงานแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนผลิตใบมีด และ ส่วนงานผลิตใบเลื่อย ผลิตงานให้กับแบรนด์ดังหลายราย รวมถึงลูกค้ากลุ่มผู้จำหน่ายสินค้า Hardware โรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงพิมพ์ ไปจนถึง บริษัทนำเข้าเครื่องจักรที่มีใบมีด ใบเลื่อยเป็นองค์ประกอบ

“ สิ่งสำคัญในการบริหารคือ การยืดหยุ่น แต่แก้ปัญหาในจุดที่ควรแก้อย่างเข้มงวด ”


“การบริหารจัดการธุรกิจดำเนินมาแบบระบบเถ้าแก่ และการสร้างฐานลูกค้าจากเพื่อน และบอกต่อ ผสมกับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาช่วยในการตลาด แต่ยังยึดแนวทางดูแลลูกค้าแบบเพื่อนที่ดี ส่วนการบริหารภายในยังเป็นคนในครอบครัวเป็นทีมบริหารเป็นหลัก โดยสามีดูแลโรงงานใบมีด ส่วน นิรันดร์ ปาเต็ล น้องชายเข้ามาช่วยบริหารโรงงานใบเลื่อย ส่วนตัวเองก็ดูแลภาพรวมทั้งหมด ด้านการเงิน จัดซื้อวัตถุดิบ บริหารคน งานฝ่ายสำนักงาน และการเชื่อมโยงตลาด โดยยังมีคุณพ่อเป็นที่ปรึกษาทุกเรื่อง และเชื่อมสัมพันธภาพกับลูกค้าเก่าแก่ ทำให้เรามีฐานตลาดลูกค้าเก่าจากรุ่นพ่อ ที่มั่นคง และลูกค้าใหม่ (รุ่นลูก)เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งสำคัญในการบริหารคือ การยืดหยุ่น แต่แก้ปัญหาในจุดที่ควรแก้อย่างเข้มงวด ดูแลพนักงานเหมือนพี่น้อง ทุกคนมีส่วนช่วยกันพัฒนาศักยภาพของโรงงานตามเป้าหมาย"

นิรันดร์ ปาเต็ล  อีกหนึ่งทายาทที่ดูแลบริหารฝ่ายโรงงานผลิตใบเลื่อย ใช้ความรู้ความสามารถด้านวิศวะเครื่องกล และบริหารธุรกิจ มาช่วยพัฒนาขยายโรงงาน โดยนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัย และใช้ทรัพยากรแรงงานที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพ ลดของเสีย และรักษามาตรฐานการผลิต

“งานที่ผมดูแล ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย ผมจู้จี้เรื่องต้นทุนมาก ทำของมีคุณภาพที่ดีในต้นทุนที่ไม่สูง และต้องมีการสูญเสียจากกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุด ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น เราต้องแข็งแรงให้มากที่สุด เราจึงสามารถพยุงราคาเดิมเอาไว้ได้นาน 5 ปี ลูกค้าเก่าก็ยังไม่ไปไหน ลูกค้าใหม่ก็เพิ่มขึ้น  สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ถ้างานเสียเราก็บอกลูกค้า ว่างานเสีย ไม่ดีรอทำใหม่ ดีกว่าส่งงานไม่ดีให้ลูกค้า ขณะนี้เราต้องแข่งกับจีน ถ้าเรารักษามาตรฐานเอาไว้แบบนี้เหนือกว่าแน่นอน  นี่คือแนวคิดของการสร้างฐานของการผลิต ให้พร้อมกับการแข่งขันตลาด ซึ่งผมมองว่า ตลาดAEC ในรอบประเทศเพื่อนบ้านยังมีโอกาสให้ก้าวไปถึงไม่ยากนัก”

แนวคิดเรื่องการบริหารจัดการโดยคนรุ่นใหม่ นับเป็นเรื่องของการขยายโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ บวกกับความเชื่อถือและนโยบาย"งานคุณภาพดี" จากรุ่นพ่อ ยังเข้มข้นเหมือนเดิม

นอกเหนือจากงานในบทบาทนักบริหาร ของอินเตอร์คัทส์แล้ว ทั้งสองทายาทยังแบ่งเวลาให้กับองค์กรเพื่อสังคม ซึ่งเขาถือว่าเป็นเส้นทางของการพบเพื่อนและประสบการณ์ รวมถึงความเชื่อมโยงสายสัมพันธ์จากภายนอกให้คนรู้จักทั้งในนาม อินเตอร์คัทส์ และส่วนตัว โดย ปัทมา เข้าช่วยงานในสภาอุตสาหกรรม มาต่อเนื่อง กระทั่งได้รับความไว้วางใจในหมู่เพื่อนธุรกิจอุตสาหกรรม ให้นั่งตำแหน่ง ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดลำปาง  ขณะที่ นิรันดร์ ปาเต็ล น้องชาย ช่วยงานในกลุ่มของชมรมทายาทธุรกิจ หรือ ที่เรียกกันว่า ชมรมนักธุรกิจรุ่นใหม่ เป็นที่รู้จักกันในสายงานนักธุรกิจรุ่นเดียวกัน

นิรันดร์ กล่าวในช่วงท้ายการสนทนาว่า ลำปางเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นหลายๆด้าน การเปิดโอกาสให้ นักธุรกิจรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมสร้างประโยชน์ให้สังคมบ้าง ถือเป็นเรื่องน่ายินดี และเชื่อว่าลำปางยังมีอะไรให้สร้างกิจกรรมจุดเด่นเฉพาะ นำรายได้จาการท่องเที่ยว การขายสินค้าให้เป็นแหล่งทำรายได้ของคนท้องถิ่นเกิดผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมให้ลำปางอีกมาก..
นี่คือส่วนหนึ่งเล็กๆจาก แนวคิดจากสองทายาทอินเตอร์คัทส์ ที่เขาเหล่านี้ยังมีไฟและมีฝันมีส่วนร่วมเป็นกลไกสร้างเศรษฐกิจลำปางอีกแรงในอนาคต

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1112 วันที่  13 -  19 มกราคม 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์