วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

วิวาทะวิศวกร – เด็ก 17 เจตนาฆ่า หรือป้องกันตัว !?

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris


ถ้าฟังความรอบข้าง ประกอบกับภาพและเสียงในคลิปวิดีโอ จากรถของวิศวกรชัดเจนว่า กระสุนนัดเดียวที่ยิงจากปากกระบอกปืนของ สุเทพ โภชนสมบูรณ์ ทะลุร่างของ ปอน นวพล ผึ่งผาย  จนเสียชีวิตในทันที มีสาเหตุมาจากการทะเลาะวิวาท เรื่องการจอดรถขวางกัน  และต่อเนื่องมาจนถึงภาพที่เด็กวัยรุ่นจำนวนหนึ่งกรูกันลงมา จากรถตู้ พร้อมตะโกนถ้อยคำท้าทาย คล้ายจะเอาเรื่อง

ก็พอฟังได้ว่า คุณสุเทพ ยิงเพื่อป้องกันตัวเอง แม่ของเขาและเด็กที่อยู่ในรถ เพราะกระสุนนัดนั้น ลั่นขึ้นในเวลาที่มีคนคนบนรถตู้พยายามเปิดประตูรถด้านที่เด็กนั่งอยู่

ประกอบกับเวลาที่เกิดเหตุค่ำมืดแล้ว คนที่กรูกันลงมาจากรถก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร มีอาวุธหรือไม่ แต่รู้ว่าคนเหล่านั้นกำลังโกรธแค้น และมีท่าทีว่าจะตรงเข้ามาประทุษร้าย ไม่ใช่เพียงการต่อว่าต่อขานแล้วจบ การยิงสวนออกไปเพียงนัดเดียว ก็น่าจะมีเหตุเพียงพอ

แต่...ความตายของปอน มิใช่ความตายที่จะรวบรัดตัดสินว่า เป็นเรื่องที่สมควรแล้ว หรือแสดงท่าทีสะใจ สมน้ำหน้า กระทั่งเมื่อแม่ของเขาพยายามปกป้องลูก ยืนยันว่าลูกเป็นคนดี และแสดงความโกรธแค้นว่า จะไปดักยิงลูกคุณสุเทพบ้าง เพื่อให้เข้าใจว่าความสูญเสียนั้นเป็นอย่างไร

ระหว่างคนแก่ เด็ก ในรถ ที่คุณสุเทพ ร้องขอ

พอเถอะ ในรถมีคนแก่และเด็ก

และปอน  เด็กหนุ่มที่ถูกยิงตาย

มันให้น้ำหนักที่คนส่วนใหญ่จะรู้สึกโน้มเอียงไปทางคุณสุเทพ มากกว่ากลุ่มเด็กวัยรุ่น ที่พาปอนมาตายอย่างแน่นอน

ไม่มีใครรู้ว่า ถ้ากระสุนนัดนั้นไม่ลั่นออกไป สิ่งใดจะเกิดขึ้นกับคนแก่ เด็ก คุณสุเทพและภรรยา แต่ในทางตรงกันข้ามหากไม่มีกระสุนนัดนั้น ก็อาจเป็นเพียงการทำร้ายร่างกายกันธรรมดา และเหตุการณ์คงไม่บานปลายไป เพราะที่เกิดเหตุอยู่ในย่านชุมชน ที่อาจมีเจ้าหน้าที่มาระงับเหตุได้ไม่นานนัก

เรื่องการคาดการณ์ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่เรื่องความตายเป็นของจริง

ประเด็นอยู่ที่ว่า ปอน สมควรตาย และสังคมควรด่าประณาม สะใจ สมน้ำหน้ากับความตายของเขาหรือไม่

ไม่ว่าเราจะรู้สึกอย่างไรในภาพที่เห็น ในจินตนาการว่า ฝ่ายหนึ่งเป็นคนดี ฝ่ายหนึ่งเป็นคนเลว แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาเท่าๆกัน

เมื่อเกิดความสูญเสีย เราต้องเข้าใจและแยกแยะให้ได้ว่า ผู้ที่สูญเสียย่อมโศกเศร้า สะเทือนใจ คนที่เป็นแม่ ย่อมต้องรักและปกป้องลูกไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร  และเธอก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องความถูกต้อง เป็นธรรมให้กับลูกในสิ่งที่เธอคิด การซ้ำเติมชะตากรรม หรือความทุกข์ของผู้สูญเสีย ไม่พึงกระทำไม่ว่าจากสื่ออาชีพ หรือสื่อบุคคลทั่วไปที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์

ส่วนท่าที ถ้อยคำ ที่ดูก้าวร้าวของเธอ ซึ่งถ้ามองจากมุมของฝ่ายสนับสนุนคุณสุเทพและครอบครัว  คงไม่อาจเรียกร้องความเห็นใจจากใครได้ เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อไปแล้วว่า คุณสุเทพเป็นคนดีและเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง ส่วนกลุ่มเด็กวัยรุ่นทั้งหมด เป็นคนเลว และเป็นฝ่ายก่อเหตุก่อน

คนตายก็ตายไป แต่คนที่ยังอยู่ก็ยังต้องเผชิญวิบากกรรม ต่อสู้คดีกันไป ข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา และพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ข้อต่อสู้ของคุณสุเทพ คือ การป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68  ที่เขียนไว้ว่า “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

และมาตรา 69 “ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้”

เมื่อดูข้อเท็จจริง ภาพที่ปรากฏ ประกอบกับแนวคำพิพากษาศาลฏีกา เรื่องป้องกันแล้ว การใช้ปืนซึ่งโดยสภาพอาจเล็งเห็นผลได้ว่าสามารถทำให้คนตายได้ ยิงออกไปในวิถีกระสุนที่พุ่งตรงไปยังกลุ่มคน นั้น อาจถือว่าเจตนาฆ่า และไม่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ในขณะนั้น ซึ่งมีคนจำนวนมากกรูกันเข้ามาแสดงท่าทีประทุษร้าย ถึงเกินกว่าเหตุ แต่ศาลก็อาจลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้

นอกจากนั้น ด้วยน้ำเสียงของคุณสุเทพ ภรรยา ประกอบกับบรรยากาศกดดัน ฟังได้ว่าคุณสุเทพตื่นเต้น ตกใจ จนต้องเลือกใช้อาวุธปืนยิงออกไป เพื่อหยุดฝ่ายตรงข้ามให้ได้ และไม่ได้ยิงปืนซ้ำอีก ก็อาจจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ลงโทษคุณสุเทพได้

แต่ไม่ว่าอย่างไร ปรากฏการณ์ความขัดแย้งบนท้องถนน ที่นำไปสู่ความตายสีเทาครั้งนี้ เป็นภาพที่อธิบายสังคมไทยที่วูบวาบไปตามกระแส และพร้อมที่จะแสดงบทบาทผู้พิพากษา ตัดสินถูก-ผิดของผู้คน จนบางครั้งละเลยความรู้สึก ความสูญเสีย และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรมีเท่าๆกัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1116 วันที่  10 - 16 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์