วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

โกงได้เป็นไทยแท้

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ข่าวการจัดซื้อที่ดินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูลำปาง ซึ่งคณะกรรมการชุดจัดซื้อถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นการจัดซื้อที่ดินในราคาแพงกว่าปกติ ในชั้นนี้คงไม่อาจชี้ถูก ชี้ผิดใครได้ เพราะยังอยู่ในกระบวนการสอบสวน และการพิจารณาของศาล

แต่ปรากฏการณ์นี้ก็อธิบายได้ว่า ภาพของการทุจริต คอรัปชั่นในสังคมไทยนั้น เกือบจะกลายเป็นภาพแทนของความเป็นคนไทยไปแล้ว เอาแต่เรื่องเล็กๆ เช่น การทุจริตสอบเข้ารับราชการ การทุจริตสอบนายสิบตำรวจ ซึ่งเงินเดือนหมื่นกว่าบาท แต่จ่ายเป็นแสน

นั่นก็แปลว่า ขอให้ได้ชื่อว่าเป็นตำรวจ ก็จะมีช่องทางในการทำมาหากิน มีฐานะร่ำรวยมากกว่าเงินเดือนหลายเท่า จึงน่าจะคุ้มกับความเสี่ยงในการทุจริตสอบ เพื่อไปทุจริตในระดับที่ใหญ่ขึ้นเมื่อได้สวมเครื่องแบบตำรวจแล้ว

และเรื่องทุจริต ก็เป็นเรื่องระดับชาติ เพราะไม่ว่าจะชี้ไปที่ไหน บ้านนอกหรือเมืองกรุง สหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีเงินหมุนเวียนไม่มาก จนกระทั่งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มีเงินหลายพันล้าน จนขนาดต้องจ่ายเช็คไปให้วัดพระธรรมกายช่วยใช้ ก็มีประวัติอาชญากรรมทุจริต คอรัปชั่นได้เท่าๆกัน

ดังนั้น แม้เราจะอยู่ในยุคทหารเป็นใหญ่ ดูเอาจริงเอาจังกับเรื่องคอรัปชั่น ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่เข้าตัว ภาพคอรัปชั่นที่วัดจากดัชนีองค์กรระดับโลกก็ไม่เปลี่ยนแปลง

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2016 หรือปี 2559 ที่ผ่านมา ปรากฎว่า 2 ใน 3 จาก 176 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน

ประเทศที่ได้อันดับหนึ่งยังคงเป็นประเทศเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ 90 คะแนนเท่ากัน ขณะที่ประเทศจากทวีปเอเซียอย่างสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 7 ได้ 84 คะแนน

ประเทศไทยได้ 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลง 3 คะแนน ได้ลำดับที่ 101 เมื่อเทียบกับปี 2558 ได้ 38 คะแนน อยู่อันดับ 76 จาก 168 ประเทศ

ในการให้ค่าคะแนน CPI ปี 2016 นี้ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้คะแนนและจัดอันดับประเทศไทย โดยพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งข้อมูล (ปี 2015 ใช้ 8 แหล่งข้อมูลโดยใน 8 แหล่งข้อมูล ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 3 แหล่งข้อมูล

คะแนนเท่าเดิม 1 แหล่งข้อมูล และคะแนนลดลง 4 แหล่งข้อมูล ขณะที่แหล่งข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่ในปีนี้ 1 แหล่งข้อมูล วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย

แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทย ได้คะแนนลดลงกว่าปีก่อนมี 4 แหล่งข้อมูล คือ

1.Global Insight Country Risk Rating (GI) ได้ 22 คะแนน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 20 คะแนน โดย GI ประเมินปัจจัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ต้องเกี่ยวกับคอร์รัปชัน การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับพิจารณาสัญญา และขอใบอนุญาต

ทั้งนี้ TI ได้เปลี่ยนแปลงการใช้ข้อมูลในการประเมินจากเดิมที่ใช้ข้อมูลของ IHS Global Insight แต่ในปีนี้ใช้ข้อมูลของธนาคารโลก (World Governance Indicators : WGI) แทน ซึ่งอาจจะทำให้ค่าคะแนนเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยนักลงทุน นักธุรกิจ และผู้ทำสัญญากับภาครัฐ อาจมองว่าการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ยังมีอุปสรรคการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับการพิจารณาสัญญาและการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ภาคธุรกิจมีการรับรู้ในเชิงลบ

2 .World Economic Forum (WEF) : Executive Opinion Survey ได้ 37 คะแนนลดลงจากปีก่อน 6 คะแนน โดย WEF สำรวจมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุดในการทำธุรกิจ 5 ด้าน คือ 1)การคอร์รัปชัน 2)ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/ปฏิวัติ 3)ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย 4)ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ 5)โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอว่าแต่ละปัจจัยเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้นหรือลดลง ทั้งนี้ WEF จะสำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม – มิถุนายนของทุกปี
การที่ค่าคะแนนลดลง น่าจะเป็นผลมาจากข่าวสารการทุจริต การรับ-จ่ายสินบนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข่าวดังกล่าวมีผลต่อนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก

3. Economist intelligence Unit (EIU) : Country Risk Rating ได้ 37 คะแนนลดลงจากปีก่อน 1 คะแนน โดย EIU วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ ได้แก่ ความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ/ส่วนรวม การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง มีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณของหน่วยงานนั้นๆ มีหน่วยงานอิสระด้านยุติธรรมตรวจสอบผู้บริหาร/ผู้ใช้อำนาจ ธรรมเนียมการให้สินบน เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ EIU มีการสำรวจเก็บข้อมูลเดือนกันยายน 2016

การที่ค่าคะแนนลดลง น่าจะเป็นผลมาจากแหล่งข้อมูลดังกล่าวให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่ไม่เป็นธรรม การใช้จ่ายงบประมาณ ความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบความโปร่งใส ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ

และ 4. Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 38 คะแนนลดลงจากปีก่อน 4 คะแนน โดย PERC สำรวจนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติในแต่ละประเทศ เพื่อให้คะแนนเกี่ยวกับระดับปัญหาการทุจริตในประเทศที่เข้าไปทำงานหรือประกอบธุรกิจว่าลดลง เพิ่มขึ้น หรือเท่าเดิม เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ PERC สำรวจข้อมูลช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2016 และตีพิมพ์วารสารในเดือนมีนาคม 2016

การที่ค่าคะแนนลดลง น่าจะเป็นผลมาจากมุมมองการรับรู้ของผู้ตอบแบบสอบถามสะท้อนว่า การทุจริตยังมีอยู่อย่างแพร่หลายในหน่วยงานของรัฐ และองค์กรภาคประชาสังคมยังติดตามและตรวจสอบการทุจริตได้ไม่ดีเท่าที่ควร
เมื่อพูดถึงองค์กรภาคประชาสังคม สื่อก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่คอรัปชั่นไม่ได้กลัวสื่อ และสื่อโดยเฉพาะสื่อท้องถิ่นก็ไม่อยากยุ่งกับข่าวคอรัปชั่นมากนัก เพราะมีความเสี่ยงทั้งในเรื่องสวัสดิภาพ และการถูกฟ้องคดี คอรัปชั่นจึงยังเบิกบานอยู่ในทุกที่

วงเสวนา เรื่องคอรัปชั่นจะแก้ได้ชาตินี้หรือชาติหน้าซึ่งจัดขึ้นที่สมาคมนักข่าวฯ กรุงเทพ เมื่อเร็วๆนี้ จึงมีคนตอบว่า “ชาติหน้า” กันโดยถ้วนหน้า

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1117 วันที่  17 - 23 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์