วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

จากอีสานสู่เหนือ เรื่องเล่าสื่อบ้านนอก

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris


สุดสัปดาห์ก่อน “ม้าสีหมอก” มีภารกิจเดินสาย ไปตั้งวงสนทนาเรื่อง “ความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น” ที่ขอนแก่น เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ความสำคัญอยู่ตรงที่หนังสือพิมพ์ฉบับนั้น เริ่มต้นเดินทางในถนนสายเดียวกับ “ลานนาโพสต์” ในวันนี้

เป็นถนนสายเปลี่ยว ที่ต้องมุ่งมั่นตั้งใจ ให้ผู้คนยอมรับ ด้วยความรับผิดชอบ ด้วยความเอาใจใส่ในทุกข์ร้อน และการงานที่คนอ่าน คนในท้องถิ่นวางใจ

ย้อนหลังไป 10 ปี เมื่อนักข่าวอาวุโสคนหนึ่ง ก้าวเดินออกมาจากองค์กรสื่อใหญ่ ในวัย 40 ต้น เขาพยายามจะค้นหาตัวเอง พยายามจะสร้างงานในฐานะสื่ออิสระ ที่ยังคงรักษาอุดมการณ์ไว้ได้ ในขณะเดียวก็ต้องอยู่รอดให้ได้ด้วย

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้น ในบทบาทที่ปรึกษา ของ “ม้าสีหมอก” หลังจากเก็บรับข้อมูล ความฝันใฝ่ ของผู้ชายคนนั้นแล้ว ผมวิเคราะห์ข้อมูลประกอบกับบริบทของสังคมเมืองกึ่งชนบท แบบจังหวัดขอนแก่น ที่เศรษฐกิจกำลังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วแล้ว วาบหนึ่งของความคิดก็เกิด

 “ม้าสีหมอก”เรียกชื่อหนังสือพิมพ์ในความฝันเวลานั้นว่า “อีสานบิซวีค” ซึ่งน่าจะเป็นชื่อที่ตอบโจทย์ความเป็นเมืองที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตขยายตัวเป็นอย่างดี และเป็นชื่อที่ในเวลาต่อมา กลายเป็น ลานนา BiZWeeK ที่ลานนาโพสต์ เพื่อรองรับความเป็นเมืองเศรษฐกิจการค้า และการเป็นฮับเชื่อมสู่อาเซียนในอนาคตของจังหวัดลำปาง

 “ม้าสีหมอก” เชื่อและยืนยันอยู่เสมอว่า หนังสือพิมพ์ไม่มีวันตาย

เหตุใด หนังสือพิมพ์จึงยังทวนกระแสอยู่ได้ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ต้องค้นหาคำตอบกัน

แน่นอนว่า ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้สื่อระดับชาติต้องปรับตัวขนานใหญ่ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยอดขายลดลง จำนวนผู้อ่านลดลง จนต้องเปลี่ยนทิศทางไปสู่ทีวีดิจิทัล ออนไลน์  รวมทั้งกิจกรรมทางการตลาด เพื่อความอยู่รอด แต่สื่อท้องถิ่น ในกลุ่มสื่อหนังสือพิมพ์ยังคงมีอนาคต เพียงแต่ต้องเข้าใจบทบาทของสื่อเพื่อชุมชน  หรือ Community Newspapers กล่าวคือ บทบาทในการนำเสนอข่าวที่ใกล้ตัว มีสาระและคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

สำคัญที่สุดคือมีความรับผิดชอบ บทบาทเช่นนี้ เป็นบทบาทสำคัญ ที่สื่อระดับชาติไม่อาจเข้าถึงได้ น่าเสียดายที่สื่อท้องถิ่นยังไม่ได้ตระหนักในเรื่องนี้มากเท่าที่ควร

วัฒนธรรมการเสนอข่าวของสื่อท้องถิ่น หากไม่เสนอเรื่องบทบาท ความเคลื่อนไหว ของกลุ่มทุน กลุ่มนักการเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล ซึ่งอาจเป็นแหล่งทุนสนับสนุนแล้ว บนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น  จะเต็มไปด้วยข่าวและภาพหมามีเขา เต่ามีหนวด ข่าวบอกใบ้ให้หวย ข่าวอาชญากรรมเลือดท่วม ข่าวข่มขืน  ข่าวเด็กก่ออาชญากรรม ข่าวเด็กเป็นเหยื่ออาชญากรรม โดยเปิดเผยชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หรืออ่านแล้วเข้าใจได้ว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร

การเสนอข่าวและภาพในลักษณะนี้นับเป็นการเสนอที่มิได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว หรือเป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฎกรรมของผู้เป็นข่าว ซึ่งสื่อมวลชนจะต้องระมัดระวังพิเศษ สำหรับเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส

เมื่อได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบ และบทบาทของสื่อเพื่อชุมชน “หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์” ซึ่งถือเป็นห้องทดลองปฏิบัติการ  จึงท้าทายความเชื่อในวัฒนธรรมการเสนอข่าวของสื่อท้องถิ่น  โดยให้น้ำหนักกับข่าวที่อาจหวังผลยอดขายไม่ได้มากนัก เช่น ข่าวการเมืองท้องถิ่นที่มิได้มุ่งเน้นข่าวในเชิงความขัดแย้ง หากเป็นการเสนอข่าวเพื่อติดตามตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองท้องถิ่น ข่าวเศรษฐกิจชุมชน ข่าวธุรกิจขนาดย่อม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ข่าวสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อชุมชน เช่น ข่าวแม่น้ำวังแห้งขอด และเน่าเหม็น ข่าวจอกหูหนูระบาดบนผืนน้ำเขื่อนกิ่วลม จนส่งผลกระทบต่อวิถีชาวบ้าน และการท่องเที่ยว

พื้นที่ของจังหวัดลำปาง อาจเป็นพื้นที่ไม่มากนักในต่างจังหวัด ที่คนทั้งประเทศ อาจสัมผัสรับรู้ได้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และข่าวเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสื่อระดับชาติอยู่เสมอ เช่น ปัญหาอากาศเป็นพิษ จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ข่าวหมอกควันจากการเผาทำลายป่า

แต่น่าแปลกอย่างยิ่งที่สื่อท้องถิ่นในจังหวัดให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ น้อยกว่าข่าวอาชญากรรม ข่าวที่ไม่มีสาระ ข่าวที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบความถูกต้อง แท้จริง  ข่าวและภาพผู้เสียชีวิตในสภาพอเนจอนาถ เหล่านี้คือการละเมิดจริยธรรมขั้นพื้นฐานของสื่อมวลชน เป็นการใช้เสรีภาพโดยปราศจากความรับผิดชอบ ซึ่งหากสื่อท้องถิ่นใส่ใจและเห็นถึงคุณค่าของการทำงานข่าวคุณภาพ ก็จะสามารถสะท้อนภาพปัญหาได้ชัดเจนมากกว่าสื่อที่อยู่ห่างไกล

ในภาวะแห่งความสับสนในทิศทางการทำงานของสื่อในระดับชาติ  สื่อท้องถิ่นควรมีบทบาทที่โดดเด่นในการเสนอข่าวชุมชน เพื่อสะท้อนปัญหาของชุมชนไปสู่ภายนอก เพื่อนำไปสู่การจัดการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีการเสนอข่าวแม่น้ำวัง ซึ่งคนลำปางไม่เคยให้ความสำคัญหรือรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเขามาก่อน เมื่อมีการรายงานข่าวนี้อย่างเจาะลึก รอบด้านและต่อเนื่อง ก็มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับข่าวจอกหูหนูระบาดที่เขื่อนกิ่วลม วันนี้ด้วยการเสนอข่าวอย่างเกาะติด และชี้ให้เห็นปัญหาที่กระทบต่อชุมชน ในที่สุดความใสสะอาดของน้ำในเขื่อนก็คืนกลับมาอีกครั้ง

ทั้งลานนาโพสต์ และอีสานบิซวีค แม้จะมีความแตกต่างในการให้น้ำหนักความสำคัญของเนื้อหา โดยอีสานบิซวีค วางตำแหน่งทางการตลาดเป็นข่าวธุรกิจ เศรษฐกิจ ขณะที่ลานนาโพสต์ ให้ความสำคัญกับข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งสองฉบับก็อาจเป็นเสมือนห้องทดลอง ที่พิสูจน์ว่าหนังสือพิมพ์ชุมชนที่ใกล้ชิดชุมชน ให้ความใส่ใจในปัญหาของชุมชน และมีสำนึกความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรม ก็สามารถอยู่รอดได้ในทางธุรกิจ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1116 วันที่  10 - 16 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์