วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อัปยศ !! ปฏิรูปสื่อ



จำนวนผู้เข้าชม install tracking codes


ากใครเชื่อว่า การปฏิรูปสื่อคือการเสนอข่าว ที่ตอบสนองความพึงพอใจของรัฐบาล หรือฟังเสียงผู้มีอำนาจที่จะกำหนดทิศทางของการปฏิรูปสื่อ หายนะย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นคิดปฏิรูปสื่อแล้ว

เมื่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดให้การปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เป็นวาระสำคัญ 1 ใน 11 ด้าน ที่ต้องปฏิรูปกันเป็นการเร่งด่วน  ไม่มีใครปฏิเสธว่าสื่อมวลชนสมควรต้องปฏิรูป ด้วยภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป มีสื่อและช่องทางสื่อสารที่หลากหลายมากขึ้น การประกอบกิจการสื่อมีลักษณะของอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ความรับผิดชอบลดลง

ถึงแม้ว่า การปฏิรูปสื่อจะทำกันมาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนขึ้นเป็นฉบับแรก จนกระทั่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฏีกาคณะที่ 1 ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และมีการตรวจแก้ร่างอย่างละเอียดแทบทุกวรรค ทุกตอน

จนมาถึงคณะทำงานปฏิรูปสื่อภายในองค์กรวิชาชีพสื่อเอง  แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ของสังคม ในทุกครั้งที่ปรากฏภาพและข่าว ที่ละเมิดจริยธรรม ด้วยโครงสร้างการกำกับดูแลกันเอง ด้วยความเชื่อในมาตรการลงโทษทางสังคม ในขณะที่มีสื่อเกิดใหม่มากขึ้น มีสื่อที่หลากหลายมากขึ้น และมีสื่อบุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก ที่ทำให้สื่อวิชาชีพถูกเหมารวมเป็น “ผู้ร้าย” ในความคิดของผู้มีอำนาจไปด้วย

ดังนั้น ความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปสื่อยังมีอยู่ โดยเฉพาะการปฏิรูป การกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ อันเป็นวาระสำคัญที่ คณะกรรมาธิการการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ กำหนดเป็นวาระ ต่อยอดจากร่างกฎหมายในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่มีหลักการสนับสนุนให้กระบวนการกำกับ ดูแลกันเองมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดย “สภาพบังคับ” เท่าที่จำเป็น

น่าเสียดายที่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ อายุสั้นเกินกว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ภาระในการขับเคลื่อนกฏหมายจึงตกมาอยู่ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่แต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สปท.มีพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เลขานุการ ประธาน กสทช.เป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมาธิการรวม 12 คน มีสื่อมวลชนอาชีพเพียง 1 คน นอกนั้นเป็นข้าราชการประจำหรืออดีตข้าราชการประจำ

ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ สปช.ซึ่งมีรองศาสตราจารย์จุมพล รอดคำดี เป็นประธาน มีนักวิชาการด้านสื่อมวลชน อดีตข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับงานสื่อมวลชน และสื่อมวลชนอาชีพ 13 ใน 21 คน

ในเชิงเปรียบเทียบ ตัวบุคคลไม่ควรเป็นประเด็นที่ทำให้การปฏิรูปสื่อหลงทาง หรือไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เริ่มขึ้นในชุด สปช.เพราะถึงแม้ว่า จะเป็นบุคคลภายนอก เป็นทหาร เป็นข้าราชการ หากไม่เข้าใจหรือมีพื้นฐานด้านสื่อมวลชนมาก่อน ก็ควรเปิดใจกว้างยอมรับฟังคนที่เขาอยู่ในวิชาชีพนี้ มีประสบการณ์ในวิชาชีพนี้มายาวนาน

แต่ความเศร้าของประเทศไทย คือคนที่นั่งหัวโต๊ะปฏิรูปสื่อ คือคนที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องสื่อเลยแม้แต่น้อยนิด ร้ายกว่านั้นคือความคับแคบและไม่เปิดใจยอมรับความคิดที่แตกต่าง หรือความเห็นที่อยู่บนพื้นฐานหลักการ ซึ่งคนปกติทั่วไปย่อมเข้าใจได้

สื่อสมควรต้องถูกตรวจสอบจากสังคมอย่างเข้มข้นแน่นอน การกำกับดูแลสื่อในโครงสร้างเดิมจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างแน่นอน แต่การปฏิรูปสื่อที่ยอมศิโรราบต่ออำนาจ ความสำคัญผิดว่าปฏิรูปสื่อคือการเอาใจนาย การปฏิรูปสื่อคือการเหยียบย่ำหลักการพื้นฐานของประเทศเสรีประชาธิปไตย

นั่นย่อมเป็นความอัปยศ มิใช่เกียรติยศ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1115 วันที่  3 - 9 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์