วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บก.ลานนาโพสต์ชนรัฐ ต้าน ก.ม. กดหัวสื่อ สื่อลำปางหวั่นกระทบ

จำนวนผู้เข้าชม http://www.hitwebcounter.com/

บรรณาธิการ “ลานนาโพสต์” ยื่นลาออกจากอนุฯกรรมาธิการสื่อ สปท.ร่วมกับอีก 3 ตัวแทนสื่อ ประดิษฐ์ – อมรรัตน์-สุวรรณา ย้ำจุดยืนค้านร่างกฎหมายกดหัวสื่อ ให้อำนาจสภาสื่อ ออกและเพิกถอนใบอนุญาต  ตั้งตัวแทนรัฐ 4 ตำแหน่งคุมอำนาจบริหาร ขณะเดียวกันผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่นประธาน สปท.ทบทวนกฎหมาย จี้ปลด “คณิต” ออกจากตำแหน่งประธานกรรมาธิการสื่อ ฐานไม่รู้เรื่องสื่อ ซ้ำบิดเบือน
 
ในการแถลงข่าวเมื่อ วันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ที่รัฐสภา ภายหลังจากที่ยื่นหนังสือลาออกต่อ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ และอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสิ่งพิมพ์ เปิดเผยว่า การลาออกจากอนุกรรมาธิการครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นจุดยืนในการสนับสนุน 30 องค์กรวิชาชีพสื่อ ที่ได้รวมตัวกันคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งเป็นการแสดงจุดยืนคัดค้านร่างกฎหมาย ที่กรรมาธิการชุดใหญ่ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาในสาระสำคัญ อันเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
           
นายจักร์กฤษ กล่าวว่า สาระสำคัญอันเป็นประเด็นที่มีความเห็นต่างระหว่างคณะกรรมาธิการ กับอนุกรรมาธิการ รวมทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อ คือการกำหนดให้ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจในการรับขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งขัดกับหลักการพื้นฐานในการรับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ฉบับปี 2540 เป็นต้นมา จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ซึ่งสิทธิเช่นนี้มิได้มีการบัญญัติรับรองไว้สำหรับผู้ที่อยู่ในอาชีพอื่นๆ เพราะวิชาชีพสื่อนั้น เป็นวิชาชีพเฉพาะที่มีบทบาทในการตรวจสอบอำนาจรัฐ เป็นกระจกสะท้อนสังคม และเป็นหมาเฝ้าบ้าน ซึ่งหากสื่อถูกลิดรอนสิทธิเช่นนี้ สังคมก็จะได้ความจริงไม่ครบถ้วน รอบด้าน เป็นการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วย
      
 “ใบอนุญาตนี้ จะครอบคลุมถึงสื่อทุกประเภท รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย ฉะนั้นหากกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้บังคับ ทุกคนที่ทำสื่ออาจต้องไปขออนุญาต สื่อต่างจังหวัด เช่นลำปางก็ต้องมีใบอนุญาตเช่นกัน”
นายจักร์กฤษ กล่าว
           
นอกจากนั้น การกำหนดให้ปลัดกระทรวง 4 กระทรวง เป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยตำแหน่งก็เท่ากับเปิดช่องทางให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงโดยผ่านตำแหน่งข้าราชการประจำเหล่านี้ได้ การกำหนดตำแหน่งตัวแทนรัฐเช่นนี้ ก็คล้ายกับความพยายามเสนอกฎหมาย จัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในยุครัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ที่ให้มีตัวแทนรัฐ 3 ตำแหน่ง อยู่ในสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คือ เลขาธิการสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ อธิบดีกรมตำรวจ และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งในที่สุดกฏหมายฉบับนั้นก็ตกไป
       
บรรณาธิการลานนาโพสต์ ย้ำว่า สื่อมวลชนก็ไม่แตกต่างไปจากคนในอาชีพอื่นๆ ย่อมถูกตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งเป็นเสรีภาพโดยธรรมชาติ และเป็นไปตามหลักการทำงานของสื่ออยู่แล้ว การกำหนดให้การแสดงความเห็น พูด เขียนพิมพ์และโฆษณา หรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่น จะทำได้ก็ต่อเมื่อขึ้นทะเบียนก่อน ย่อมมีผลเป็นการทำลายหลักการของเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้แต่ต้นอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเหตุผลที่ต้องการใช้เป็นกลไกป้องกันการลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษในด้านจริยธรรม เป็นการใช้อำนาจรัฐป้องกันความเสียหายที่เกินความจำเป็น
          
 สำหรับตัวแทนสื่อในคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสิ่งพิมพ์ประกอบด้วย นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข และนางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์

ด้าน น.ส.รัตนา ธะนะคำ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวนครลำปาง มีความเห็นว่า จากกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่กำลังจะถูกส่งให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)พิจารณาเร็วๆนี้นั้น โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการที่สื่อจะต้องขึ้นทะเบียน มีความกังวลกันว่า หากมีการขึ้นทะเบียนจริง เหมือนกับวิชาชีพอื่น อาทิ แพทย์ วิศวกร ทนายความ ก็จะต้องเรียนจบมาจากสายที่เรียนมาโดยตรงเท่านั้น แล้วจะเกิดปัญหาไหม มันดีหรือไม่ดีอย่างไร สื่อลำปางจะได้รับผลกระทบไหม
           
ก่อนอื่นคงต้องเรียนว่า จริงอยู่ที่วิชาชีพอื่นอย่างที่บอกไว้นั้นที่มีการขึ้นทะเบียนกันสมาชิกล้วนแต่ต้องร่ำเรียนมาตรงสายทั้งสิ้น เพราะถือเป็นวิชาชีพเฉพาะทางไม่ใช่ว่าใครจะมาทำอาชีพเหล่านั้นเองก็ทำได้เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ส่วนวิชาชีพสื่อมวลชนหากมองก็จะเห็นว่าเป็นวิชาชีพที่ค่อนข้างจะพิเศษกว่าวิชาชีพอื่นๆ  ความเห็นส่วนตัวจึงทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กล่าวคือ หากเข้ามาทำอาชีพสื่อมวลชนตามที่ได้เรียนมาก็ดี หากเปรียบกับการสร้างบ้าน กับคนที่เรียนมาทางนี้เขาก็จะรู้ตั้งแต่เริ่มต้น รู้ตั้งแต่กระบวนการเลือกวัสดุในการก่อสร้าง ไปจนถึงการสร้างบ้านจนสำเร็จ แต่จะสวยหรือสมบูรณ์แบบไปทุกหลังก็คงไม่ใช่ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้เรียนมาจากสายนี้โดยตรงแต่สนใจ ตั้งใจ และชอบในการที่จะสร้างบ้าน ก็สามารถสร้างบ้านให้ออกมาสวยสมบูรณ์ได้ เช่นเดียวกันบางครั้งอาจจะสร้างบ้านออกมาสวยกว่าคนที่เรียนจบมาด้านนี้โดยตรงก็มีเช่นกัน
           
วิชาชีพสื่อไม่เหมือนกับวิชาชีพอื่นแม้จะเรียนจบมาโดยตรง หรือไม่ได้เรียนจบมาทางนี้โดยตรง เมื่อมาทำงานจริงทุกคนก็ตรงเริ่มต้นจากศูนย์เช่นเดียวกัน เมื่อเข้าสู่สายงาน หากเราจะลองเปรียบเทียบคนสองคน คนแรกเรียนจบสาขานิเทศศาสตร์ ซึ่งมีประสบการณ์และความสามารถจากวิชาเรียน เฉพาะในมหาวิทยาลัย เมื่อมาทำงานจริงกลับไม่มีความโดดเด่น ขาดประสบการณ์และคุณภาพ ก็สู้คนที่สอง ที่ไม่ได้เรียนจบมาโดยตรง แต่มีประสบการณ์ด้านการทำงานสื่อสารมวลชน และมีผลงานการันตีความสามารถ ผ่านการฝึกฝนจากการทำงานจริงไม่ได้เช่นกัน
           
น.ส.รัตนา กล่าวว่า ดังนั้นถามว่าหากจะต้องขึ้นทะเบียนสื่อมวลชนจริงแล้วจะดีหรือไม่ ในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่งและอยู่ในสังกัดสื่อส่วนกลาง และฐานะนายกสมาคมผู้สื่อข่าวนครลำปาง มองว่าหากการขึ้นทะเบียนสื่อมวลชนเพียงเพื่อต้องการที่จะนำไปใช้เพื่อควบคุมกันเอง ในการที่ให้ทุกคนที่อยู่ในสายนี้ตระหนักเสมอว่า ก่อนที่จะนำเสนออะไรออกไปสู่สังคมต้องอยู่บนทางสายกลาง ข้อเท็จจริง และต้องรับผิดชอบต่อสังคม และมีบทลงโทษหากสื่อเหล่านั้นฝ่าฝืน เพื่อให้สื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนและสังคมได้ โดยไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายใดๆ จนถูกมองว่าสื่อถูกปิดกั้นในการนำเสนอความจริงสู่ประชาชน ตนเองเห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาหลายสื่อก็มีการนำเสนอข่าวสารแบบไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งโดยที่ไม่มีใครทำอะไรได้ จนสังคมเบื่อหน่าย ซึ่งเราก็ต้องยอมรับตรงนี้ กลับกัน หากการขึ้นทะเบียนจะต้องเริ่มต้นจากที่มาคือตั้งกฎว่าใครจะขึ้นทะเบียนทำอาชีพสื่อมวลชน ต้องเรียนมาจากสายสื่อสารมวลชนโดยตรงแล้ว ตนเองไม่เห็นด้วย แม้ตัวเองจะเรียนมาสายนี้โดยตรงก็ตาม เพราะจะเป็นการปิดกั้นผู้ที่มีใจรัก มีความสามารถ อุดมการณ์ ในอาชีพนี้ให้ออกไป และเห็นว่าแทบจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการทำงานของสื่อลงได้เลย
           
ย้อนมาที่จังหวัดลำปาง หากมีการขึ้นทะเบียนโดยยึดว่าผู้ที่จะมาทำหน้าที่สื่อมวลชนได้จะต้องเรียนจบด้านนี้มาก่อน จะได้รับกระทบหรือไม่ น.ส.รัตนา กล่าวว่า  คงกระทบกับผู้ที่มีอาชีพสื่อมวลชนจริงๆที่ไม่ได้เรียนมาในสายนี้โดยตรงแน่นอน เพราะหากตราเป็นกฎหมายย่อมต้องใช้บังคับอย่างเสมอภาค และด้วยปัจจุบันสื่อมวลชนในจังหวัดลำปางส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนจบมาจากสายนิเทศศาสตร์โดยตรง แต่มาจากหลากหลายอาชีพที่แตกต่างกันอยู่แล้ว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1115 วันที่  3 - 9 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์