วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ดอกเบี้ยบานชาวไร่สุดช้ำ แบกหนี้ ะ.ก.ส.ขายสับปะรดราคาดิ่งเหว




จำนวนผู้เข้าชม IP Address

ปัญหาสับปะรดราคาตกต่ำในพื้นที่ จ.ลำปาง ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ ต.บ้านเสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง  ซึ่งเป็นแหล่งปลูกสับปะรดมากที่สุด ร้อยละ 90 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด  พบว่าเกษตรกรยังคงนำสับปะรดมาวางขายบริเวณริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ตลอดเส้นทางเมื่อเข้าสู่เขต ต.บ้านเสด็จ อ.เมืองลำปาง โดยมีมากกว่า 20 ร้าน   โดยมีผู้ที่ขับรถผ่านมาจอดแวะซื้ออย่างต่อเนื่อง บางรายก็ขายได้อย่างคึกคัก ส่วนบางรายก็เงียบเหงา อยู่ที่ลูกค้าจะเลือกซื้อร้านใด  ซึ่งราคาผลสด เนื้อหวานปกติจะอยู่ที่ราคาลูกละ 10 บาท ส่วนเนื้อน้ำผึ้งอยู่ที่ผลละ 20-30 บาทตามขนาด  หากขายส่งเป็นกิโลกรัม เนื้อหวานปกติยังคงอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.50-2 บาท  ส่วนเนื้อน้ำผึ้งกิโลกรัมละ 4-5 บาท เท่านั้น

ส่วนภายในไร่สับปะรด มีเกษตรกรเก็บเกี่ยวอยู่ตลอดทั้งวัน พบว่ามีผลสุกเน่าตายคาต้นจำนวนมาก เจ้าของต้องฟันทิ้งเพื่อให้กลายเป็นปุ๋ย และมีผลที่ยังไม่โตเต็มที่ และผลที่พร้อมเก็บเกี่ยวเหลืออยู่อีกมากมายเช่นกัน โดยชาวสวนต้องเข้ามาเก็บเกี่ยวทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

นางลัดดา ล่ำแรง เกษตรกรบ้านปงอ้อม หมู่ 4 ต.บ้านเสด็จ  ที่กำลังเก็บเกี่ยวสับปะรดท่ามกลางแดดร้อนจัด  เปิดเผยว่า  ตนปลูกสับปะรดมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ นาน 30 ปีแล้ว โดยเช่าพื้นที่ปลูกอยู่ประมาณ 25 ไร่  ได้ทยอยตัดขายออกไปส่งให้แม่ค้าที่มารับซื้อกิโลกรัมละ 2 บาท  ที่ผ่านมาขายได้กิโลกรัมละ  1.50 บาทเท่านั้น  จากปีที่แล้วเคยขายกิโลกรัมละ 10-12 บาท ผลสดเต็มหลังรถกระบะขายได้อยู่ 1 หมื่นบาท แต่ปีนี้ทั้งลำรถขายได้เพียง 1,000 กว่าบาท เดือดร้อนมากเพราะรายได้ลดลงฮวบ ในขณะที่ต้นทุนยังอยู่เท่าเดิม  ต้องจ่ายค่าจ้างคนงานวันละ 300 บาท ค่าน้ำมันรถ  ถ้าไม่มีรถของตัวเองก็ต้องจ้างรถขนเที่ยวละ 200 บาท  ค่าเช่าพื้นที่ปลูกไร่ละ 800 บาท  ต้นทุนการปลูกสับปะรดต้นหนึ่งอยู่ประมาณต้นละ 5 บาท เฉลี่ย 1 ไร่มีประมาณ 8,000 ต้น ก็เป็นทุน 40,000 บาทแล้ว   แต่เกษตรกรขายได้เพียงวันละไม่ถึง 2,000 บาท หักค่าใช้จ่ายแล้วบางวันเหลือกลับบ้านเพียง 500 บาทเท่านั้น   ตอนนี้จะขอขึ้นราคาสับปะรดก็คงไม่ได้แล้ว  จึงขอให้มาช่วยซื้อกันให้มากๆ ไม่อยากให้ต้องเน่าตายไป  ทุกวันนี้ตนเองก็เป็นหนี้ ธกส.อยู่หลายแสนบาท เพราะกู้เงินมาลงทุนในการเพาะปลูก และต้องจ่ายหนี้ให้กับ ธกส.ทุกปี  คงต้องเจียดเงินที่ขายสับปะรดได้มารวบรวมไว้เพื่อนำไปจ่ายดอกเบี้ยไปก่อน เพราะยังไม่มีเงินที่จะไปจ่ายเงินต้นได้

นางลัดดา กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้ควบคุม คือการขายหน่อ เมื่อมีการขายออกไปมาก ก็ทำให้พื้นที่อื่นมีการปลูกสับปะรดเพิ่มมากขึ้น เดิมบ้านเสด็จจะเป็นแหล่งปลูก ตอนนี้ก็มีขยายออกไปจังหวัดใกล้เคียงด้วย ผลผลิตเพิ่มขึ้นแต่ผู้รับซื้อยังคงมีเท่าเดิม เป็นปัญหาให้เกษตรกรขายไม่ได้

ด้านนางประภา ปินตาเครือ เกษตรกรบ้านลูใต้ หมู่ 9 ต.บ้านเสด็จ  กล่าวว่า  ตนมีพื้นที่ปลูกสับปะรดประมาณ 20 ไร่  มีผลผลิตออกมาประมาณ 2 หมื่นหัว ฤดูกาลนี้ผลออกเยอะเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่ปลูกทั้งหมด  ในหนึ่งวันจะเก็บออกมาวางขายประมาณ 2 ตัน หรือประมาณ 1,500 หัว มีราคาตั้งแต่หัวละ 5 บาทไปถึง 20 บาท  แต่ถ้าขายเป็นกิโลกรัมจะอยู่ที่ 3-4 บาท เนื่องจากไร่ของตนปลูกแบบอินทรีย์ ลูกค้าจึงเลือกซื้อมากกว่า ส่วนราคากิโลกรัมละ 2 บาทก็มีแต่จะขนาดเล็กลง  ส่วนใหญ่ก็จะขายหมดในแต่ละวัน รายได้ต่อวันอยู่ที่ 3,000-4,000 บาท  แต่ก็ยังลำบากมากยังไม่ได้ทุนคืนเลย ก่อนเก็บเกี่ยวก็ต้องจ้างคนมัดหัวไม่ให้ช้ำแดด ต้องให้ฮอร์โมน ต้องจ้างคนเก็บเกี่ยว ลงทุนไปกว่า 20,000 บาท  ส่วนใหญ่เกษตรกรจะกู้ ธ.ก.ส.มามากบ้างน้อยมาก เพื่อจะนำเงินไปซื้อปุ๋ยมาเก็บตุนไว้ปลูกในปีต่อไป  แต่ปีนี้กลับราคาตก เกษตรกรแทบจะไม่ได้อะไร เมื่อขายไม่ได้ ก็ไม่มีเงินที่จะไปใช้หนี้ให้กับธนาคาร

ขณะเดียวกัน จังหวัดลำปางได้เร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด โครงการ “คนลำปางไม่ทิ้งกัน” ตามนโยบายของ นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง  โดยจัดหาสถานที่วางจำหน่ายให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งประสานขอความร่วมมือไปยัง อบจ. เทศบาล และ อบต. ในพื้นที่ ช่วยสนับสนุนและจัดหาตลาดให้กับเกษตรกร โดยทำหนังสือถึงจังหวัดใกล้เคียงขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์และรับซื้อสับปะรดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งมีหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ช่วยรับซื้อสับปะรด นำมาแจกจ่ายให้ประชาชน  สามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากยังมีสับปะรดจากสวนที่รอระบายออกอยู่อีกจำนวนมาก

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1135 วันที่ 30 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2560)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์