วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ที่ดินสหกรณ์ลำปางร้อนๆ โรคระบาดสหกรณ์คลองจั่น

จำนวนผู้เข้าชม

านการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆทองๆ ย่อมมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดความผิดพลาด ตั้งแต่ระดับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เช่น แบงก์พาณิชย์ ในอดีตมีแบงก์ขนาดกลางหลายแบงก์ ที่ล้มครืน เพราะการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใส ขาดธรรมาภิบาล

เช่นกรณี ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ หรือบีบีซี ที่ผู้บริหารรู้เห็นนำหลักทรัพย์ด้อยค่า มาค้ำประกันเงินกู้ เอาเงินแบงก์ออกไปมหาศาล จนกระทั่งบีบีซีล้มลง ปิดตำนานธนาคารเก่าแก่ในยุคแรกๆของไทย

หลังการเข้มงวดเรื่องธุรกรรมทางการเงินของแบงก์พาณิชย์ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ปัญหาเรื่องแบงก์ทั้งระบบก็แทบจะหมดไป ยกเว้นแบงก์อิสลามที่ยังมีปัญหาคาราคาซัง จากการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวม ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่มซึ่งไม่ใช่กลุ่มลูกค้าที่เป็นมุสลิม

ปัญหาเรื่องสถาบันการเงิน ขนาดใหญ่เบาบางลง จนกระทั่งเกิดกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น สปอร์ตไลท์ก็ฉายจับมาที่สหกรณ์ และเกิดอาการหวาดผวา ไม่ไว้วางใจการบริหารสหกรณ์ที่ลุกลามไปทั่ววงการไม่เว้นแม้แต่สหกรณ์ที่น่าจะมีความน่าเชื่อถือ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีรศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา เป็นประธาน

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่กรณีสหกรณ์คลองจั่น จนกระทั่งมาถึงสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นคล้ายโรคระบาดมาถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ครูลำปาง ซึ่งทั้งฝ่ายที่กล่าวหาอดีตประธานคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ และฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา จะต้องยอมรับความจริงว่า เรื่องเงินเรื่องทองนั้น มีโอกาสผิดพลาดได้ ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา

ความเชื่อถือในตัวบุคคล หรือสถาบัน ไม่เป็นเหตุที่จะเชื่อได้ว่าฝ่ายใดถูก ฝ่ายใดผิด

กรณีศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์คลองจั่น และดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา อดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ นั่นก็เป็นตัวอย่าง ชาญ สัตตรัตนขจร อดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูลำปาง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่ากระทำความผิด ก็ควรได้เข้าใจว่า คนที่นั่งอยู่ในตำแหน่งที่ต้องดูแลเงินของชาวบ้าน ของครูทั้งหลายนั้น ย่อมต้องตอบคำถามเรื่องความโปร่งใส เรื่องธรรมาภิบาลในการจัดการบริหารองค์กรอยู่แล้ว

ยกเว้นพิสูจน์ได้ว่า ฝ่ายตรงข้าม ต้องการทำลายเครดิตในเรื่องส่วนตัว ก็ต้องไปว่ากันในอีกเรื่อง อีกกรณีหนึ่ง

“ม้าสีหมอก” ไม่เข้าใครออกใคร แต่เข้าใจได้ในบทบาทของเชิดศักดิ์ เสริมสุข ในฐานะประธานชมรมพิทักษ์ครู ที่ตั้งข้อสงสัยเรื่องการซื้อที่ดินสร้างอาคารสำนักงานใหม่ของสหกรณ์ที่สูงกว่าปกติ เพราะเขาต้องปกป้องและรักษาประโยชน์ของครู และก็ถือว่าเป็นการทำงานตรวจสอบสหกรณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ในขณะเดียวกัน ชาญ สัตตรัตนขจร อดีตประธาน ซึ่งได้มอบให้ทนายมาอธิบายความจริง และยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง ที่สำนักงาน “ลานนาโพสต์” เมื่อห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ถือว่ามีความรับผิดชอบและได้ตระหนักถึงบทบาทของคนเฝ้าเงินชาวบ้านที่ดี

แต่ไม่ว่าจะเป็นความจริงของเชิดศักดิ์ เสริมสุข หรือความจริงของชาญ สัตตรัตนขจร ซึ่งลานนาโพสต์เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้พูดอย่างเต็มที่แล้ว ย่อมมีความจริงอีกหลายชุดที่สังคมภายนอก อาจจะยังไม่ได้รับรู้ และความจริงทุกชุดจะถูกประมวลเป็นชุดเดียว เป็นคำพิพากษา ในวันที่ 29 กันยายน 2560 นี้

สัจจะแห่งความจริงนั้น ไม่ได้อยู่ที่ใครพูด หรือใครพูดก่อนหรือพูดหลัง แต่อยู่ที่ความจริงในใจของแต่ละฝ่ายที่รู้อยู่เต็มอกว่า มีความเท็จใดซุกซ่อนอยู่

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1139 วันที่ 28 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2560)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์