วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

บนเส้นขนานข่าว #ประชาสัมพันธ์ และบทบาทกรมประชาสาขา 2

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

มีคนให้ความสนใจศึกษาปรากฏการณ์ประชุมครม.สัญจรที่โคราช และการติดตามทำข่าวตามคำสั่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในพื้นที่อีสานในเชิงวิชาการมาก อย่างน้อยสังคมควรได้เข้าใจบทบาทของสื่อมวลชน ระหว่างการทำข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ และการประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาลที่มีนัยสำคัญแตกต่างกัน

แต่ครั้งนี้ควรได้พูดถึงประเด็นเรื่องฐานความคิด ความเข้าใจ ของคนที่ต่างสังคม ต่างอาชีพ ต่างที่มาระหว่างนักการเมือง กับสื่อมวลชน ซึ่งในที่นี้หมายถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีทุกคนที่ได้แสดงบทบาทความเป็นนักการเมืองชัดเจน ไม่ว่าจะอ้างที่มาอย่างไรก็ตาม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเห็นว่าคำว่า “ประโยชน์สาธารณะ” คล้ายกับเรื่องราวของนายกรัฐมนตรีไม่น่าสนใจ ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ ทั้งๆที่เขากำลังทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ

“...แล้วสื่อไหนที่บอกว่าจะไม่มาทำข่าวผม ใครไม่มา ไหนมาหรือเปล่า ไม่อยู่แล้วก็ดีแล้ว เมื่อวานเขามาทำหรือเปล่า ผมไม่ได้โกรธเขา แต่ผมรับนิสัยเขาไม่ได้ เขาบอกว่าสื่อต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ขอถามว่าแล้วสิ่งที่ผมทำอยู่ทำเพื่อสาธารณะหรือเปล่า”

คำว่า “ประโยชน์สาธารณะ” กับความเป็น บุคคลสาธารณะ หรือ Public Figure มีความใกล้เคียงกันมาก สถานภาพของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันนี้ ก็คือบุคคลสาธารณะ คือคนที่จะต้องสละสิทธิในการดำเนินชีวิต ในความเป็นส่วนตัวหรือมีความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าบุคคลทั่วไป

และยิ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ที่อยู่ในฐานะผู้นำประเทศ ก็ต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ มีความหนักแน่นมากกว่าคนอื่นๆ ฟังคนอื่นมากกว่า และไม่ว่าจะผิดหรือถูกนี่คือสิ่งที่ผู้นำทุกคนจะต้องเผชิญ 

ในขณะเดียวกันความเป็นบุคคลสาธารณะ ก็ต้องยึดโยงอยู่กับประโยชน์สาธารณะเพราะงานของนายกรัฐมนตรีคือการทำงานเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ทางด้านสื่อมวลชนหลักการพื้นฐานของเขาก็คือการรายงานข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ คือข่าวที่ควรจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคข่าวสาร

คำถามว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีทำตามหน้าที่ ในฐานะบุคคลสาธารณะนั้น ใช่เพื่อสาธารณะหรือไม่ จึงไม่มีประเด็นที่ต้องถาม ยกเว้นบุคคลสาธารณะ พูดเลอะเทอะในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคข่าวสาร ก็อาจจะต้องจัดหมวดหมู่ใหม่ เป็นเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ แต่ประชาชนควรสนใจ หรือเป็น Human Interest คือคนพูดน่าสนใจ แต่เรื่องไร้สาระ ฟังเอาเป็นความบันเทิงได้

พูดถึง Human Interest ในทางวารสารศาสตร์ ถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของคุณค่าข่าว หรือ News Values เช่นเรื่องบุคคลสาธารณะ ทั้งที่มีสาระและไร้สาระ ความมีชื่อเสียง ความสดใหม่ ความใกล้ชิด ความต่อเนื่อง ความมีเงื่อนงำ ลึกลับ ความผิดปกติ และอื่นๆอีกมากมาย

จึงไม่น่าสงสัยว่า เหตุใดสื่อจึงให้ความสนใจติดตามทำข่าวนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางคนที่ดูฉลาดและให้สัมภาษณ์มีประเด็น มีสาระ เช่น ดร.วิษณุ เครืองาม และไม่น่าสงสัยว่าเหตุใด จึงมีรัฐมนตรีบางคนที่กลายเป็นรัฐมนตรีโลกลืม หรือเป็นรัฐมนตรีที่งานในหน้าที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก แต่ไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่บ้าง จนรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ต้องสั่งงานให้ไปติดตามทำข่าว

หลายช่องที่ถ่ายทอดคำสั่งแล้วก็ไปปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างน่าพอใจ รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ ที่เขียนกฎเหล็กทางจริยธรรมกันไว้ว่า ผู้บริหารและพนักงานต้องเป็นอิสระอย่างแท้จริงจากรัฐบาล กลุ่มและพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อให้สาธารณชนเชื่อมั่นในความเป็นอิสระ และความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

กองบรรณาธิการ หรือคณะผู้รับผิดชอบในการผลิตรายการ ต้องมีความเป็นอิสระในการคัดเลือกประเด็น การกำหนดเนื้อหา และวิธีการหรือรูปแบบการนำเสนอ สามารถอธิบายเหตุผลในการตัดสินใจอย่างสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบขององค์กรต่อสาธารณะ

สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ก็จัดการงานตามสั่งเรียบร้อย ภาพรัฐมนตรีอบอุ่นคับคั่งอยู่กับชาวบ้าน มี caption ว่า รมว.พม.ติดตามโครงการบ้านมั่นคง ด้านหลังมี backdrop ขนาดใหญ่ บอกชื่อ บอกนามสกุล รัฐมนตรี บอกพิธีกรรมที่กำลังทำที่จังหวัดขอนแก่นชัดเจน ถือเป็นการทำงานตามคำสั่งโดยไม่บกพร่อง เป็นกรมประชาสาขา 2 ที่วางใจได้

ไม่จำเป็นต้องมีสาระ มีเนื้อหา มีความชัดเจนในประโยชน์สาธารณะ ภาพเช่นนี้เองที่บอกว่าเป็นประชาสัมพันธ์ไม่ใช่ข่าว ตรงตามความปรารถนาของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

บทเรียนวารสารศาสตร์ คงสอนให้เราได้เรียนรู้อีกครั้งว่า คนที่บริหารองค์กรข่าวแต่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ด้านข่าวอย่างมืออาชีพ ร้ายกว่านั้นคือขาดจิตวิญญาณของความเป็นสื่ออิสระที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของอาชีพสื่อมวลชน ให้ผลที่น่าเศร้าอย่างไร

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1143 วันที่ 25 - 31 สิงหาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์