วันศุกร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560

บ้านเก่าเล่าเรื่อง หวงแหนได้ แต่ไร้สิทธิ์

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

ถนนคนเดินกาดกองต้าของลำปาง มีชื่อเสียงโด่งดัง จนกลายเป็นแลนด์มาร์คที่นักท่องเที่ยวต้องมาเช็คอิน เพราะที่นี่มีเสน่ห์ในแบบชุมชนเก่าริมน้ำ เคยเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองมากในอดีต และยังรายล้อมด้วยตึกเก่าสุดคลาสสิกตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็น บ้านคมสัน ตึกฟองหลี อาคารเยียนซีไท้ลีกี ตึกฝรั่งหัวใจจีน อาคารกาญจนวงศ์  สร้างบรรยากาศให้ถนนเส้นนี้เป็นอย่างดี  

หรือแม้แต่ย่านท่ามะโอ อีกหนึ่งย่านชุมชนเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยที่ชาวพม่าเข้ามาทำการค้าไม้สักกับชาวอังกฤษในจังหวัดลำปาง มีทั้งชาวยุโรป  ชาวพม่า  ชาวล้านนาเข้ามาอาศัย ทำให้ย่านนั้นมี วัด วิหาร กำแพงเมืองโบราณ และอาคารบ้านเรือนสวยงามที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น บ้านหลุยส์ บ้านร้อยปี บ้านเสานัก บ้านเก๊าม่วง

บ้านอีกหนึ่งหลังที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน อย่าง บ้านราชวรัยยการ สร้างตั้งแต่ พ.ศ.2478

บ้านราชวรัยยการ  เป็นบ้านของ อำมาตย์เอกพระยาราชวรัยยการ (บู่ กันตะบุตร) อัยการมณฑลพายัพ (ประกอบด้วยเมืองนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน นครแพร่ เถิน) และคุณหญิงราชวรัยยการ (บุญรอด กันตะบุตร) อยู่ติดคุ้มหลวงของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย  เดิมเป็นชาวพิษณุโลก เป็นผู้รับพระราชทานนามสกุล "กันตะบุตร" จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2462 หรือร้อยกว่าปีที่แล้ว

มีบุตรและธิดา 3 คน คือ  นายบรรฦา กันตะบุตร เนติบัณฑิตไทย อัยการประจำจังหวัดหลายจังหวัด  และเป็นเจ้าของบ้านกันตะบุตร นครลำปาง (ข้างโรงเรียนลำปางกัลยาณี) คุณหญิงบรรเลง กันตะบุตร ( ชัยนาม ) ธรรมศาสตร์บัณฑิตหญิงคนแรกของไทย และเป็นเนติบัณฑิตหญิงคนที่สองของประเทศไทย  และ ศาสตราจารย์กิตติคุณบัณฑิต กันตะบุตร ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชาสถิติและผู้บุกเบิกศาสตร์คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และประกันภัยของไทย

อำมาตย์เอกพระยาราชวรัยยการ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานหีบลายทอง เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านและวงศ์ตระกูลด้วย  ส่วนคุณหญิงราชวรัยยการ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2518 ทิ้งไว้แต่คุณงามความดีให้ผู้คนระลึกถึง

บ้านหลังนี้ ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามที่ว่าการอำเภอเมืองลำปาง บนถนนบุญวาทย์ ต.หัวเวียง จ.ลำปาง ก่อสร้างโดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นรูปแบบผสม Alam phang - Victoria (อาลัมภางค์-วิคทอเรีย) ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นตึกอาคาร ค.ส.ล.2 ชั้น เพื่อพักอาศัย หลังคาทรงจั่วปั้นหยาและปั้นหยา  ชั้นล่างจะมีบันไดและเฉลียงขึ้นด้านหน้า มุขเฉลียงอาคารมีส่วนของห้องพักยื่นมาคลุม มีเสาแบบตะวันตก (Doric) อยู่ 4 ต้น รับซุ้มโค้งและกันสาด ลูกกรงระเบียงหล่อพิมพ์ปูนลวดลายเว้นช่องห่าง มีประตูไม้เข้าบ้าน 2 ชุด เป็นบานไม้ทึบตกแต่งลายรูปทรงขนมเปียกปูน มีช่องแสงระบายอากาศอยู่ด้านบนเหนือประตู หน้าต่างเป็นบานเปิดลูกฟักไม้และกระจกบานคู่มีช่องแสงติดกระจก เหนือหน้าต่างเป็นกันสาด ค.ส.ล.ยื่นออกมากันฝน มีประตูออกด้านหลังบ้าน 1 ชุด ออกสู่เฉลียงและบันไดลงหลังบ้าน

ปัจจุบันที่ดินนี้กำลังมีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ บดบังอาคารเก่าหลังนี้

นอกจากนี้ บ้านวงค์พรหมมินทร์ เรือนเก่าอีกหลังหนึ่งสร้างในสมัย ราว พ.ศ.2451 ที่ผ่านร้อนผ่านฝนมาว่า 1 ศตวรรษ สวยงามด้วยการออกแบบเชิงสถาปัตย์แบบพม่าผสมลำปาง เป็นบ้านของนายสิงโต วงศ์พรหมมินทร์ ผู้ทำการสัมปทานค้าไม้ของบริษัท บริททิส บอร์เนียว จำกัด เป็นชาวพม่าสร้างให้ฝรั่งเช่าเพื่อก่อสร้างสะพานรัษฏาภิเศก ที่อยู่ติดร้านบุญสนองเชิงสะพานรัษฏาภิเศก ที่ถูกทำลายเชิงประวัติศาสตร์ทิ้งไปแล้ว และอนาคตอาจไม่มีบ้านวงค์พรหมมินทร์

ในขณะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การที่นักลงทุนซื้อที่ดินเพื่อทำธุรกิจจนถึงกับต้องทำลายอาคารเก่านั้น เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์จนมีการเรียกร้องผ่าน www.change.org “ขอให้เทศบาลนครลำปาง ตราเทศบัญญัติรักษาอาคารตึกเก่า และควบคุมแบบการก่อสร้างสำหรับอาคารใหม่” ซึ่งมีผู้ลงชื่อสนับสนุน 1,402 คน (ข้อมูลวันที่ 31 สิงหาคม 2560) ลานนา Bizweek จึงได้ไปสัมภาษณ์เจ้าของโครงการถึงกรณีดังกล่าว

นายสุรวิทย์ ต.ประยูร เจ้าของโครงการข้าวหอมคอนโดมิเนียม กล่าวว่า อาคารบริเวณตลาดหัวขัวเดิมคิดว่าจะเก็บไว้ เพราะหากรื้อแล้วสร้างใหม่จะต้องเว้นช่วงเข้าไปด้านละ 3 เมตร แต่เมื่อให้วิศวกรประเมินดูแล้วพบว่าโครงสร้างต่างๆภายในอาคารเสียหายไปเกือบทั้งหมด จึงจำเป็นต้องรื้อออก ซึ่งอาคารได้ถล่มลงเองก่อนรื้อเพียง 1วัน สำหรับโครงการที่จะทำในจุดดังกล่าวคือ การก่อสร้างคอมมิวนิตี้มอลล์และเปิดให้เช่าค้าขาย โดยจะทำเป็นอาคาร 3 ชั้น รูปแบบล้านนาทั้งหมด อ้างอิงจากรูปแบบเดิมแต่จะมีการปรับเปลี่ยนนิดหน่อย ส่วนด้านหลังก็จะทำเป็นลานจอดรถ ซึ่งจะรวมบริเวณที่เป็นบ้านเก่าด้วย อาจต้องรื้อออกทั้งหลัง หรือรื้อออกบางส่วน คงต้องดูแบบจากสถาปนิกอีกครั้งหนึ่ง จากการเข้าไปดูภายในบ้านหลังดังกล่าวก็พบว่าไม่ใช่เป็นบ้านเก่าทั้งหมด จะมีเพียงเฉพาะกลางบ้านเท่านั้นที่มีความเก่าแก่ ส่วนอื่นโดยรอบเจ้าของเดิมได้มีการต่อเติมออกมาด้วย

นายสุรวิทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มคนออกมาเรียกร้องให้อนุรักษ์อาคารเก่าว่า ความเห็นส่วนตัวคิดว่าเจ้าของบ้านจะมีความผูกพันกับบ้านมากกว่าเราที่ไม่ได้เป็นผู้อยู่อาศัย แต่เจ้าของเขายินดีที่จะขายให้เรา คือให้เราสามารถจัดการได้ตามสภาพ หากมีผู้หวังดีอยากให้เก็บรักษาไว้ก็ควรจะต้องตื่นตัวและเข้ามาดูแลกันก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่พอถึงเวลาที่บ้านทรุดโทรมลง มีการซื้อขายแล้วมาพูดกันภายหลัง แต่ไม่ลงมือทำอะไร

ถ้าหน่วยงานภาครัฐหรือเทศบาลเล็งเห็นความสำคัญจริง ก็น่าจะออกกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารในเขตเมืองเก่า ขอความร่วมมือให้ก่อสร้างในรูปแบบย้อนยุค และรัฐสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อให้รูปแบบอาคารออกมาเหมือนกันทั้งหมด อาจจะทดแทนของเดิมไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นเอกลักษณ์ของเมืองได้ 

เจ้าของโครงการข้าวหอม กล่าวถึงโครงการหน้าที่ว่าการอำเภอว่า บริเวณดังกล่าวได้ก่อสร้างเป็นอพาร์ทเม้นท์ ซึ่งบ้านเก่าตรงจุดนั้นอาจจะต้องมีการรื้อออกไป เมื่อถามว่าทำไมต้องรื้อก็ต้องเข้าใจเหตุผลของการทำธุรกิจด้วย ตนเองก็การขยายธุรกิจ ซึ่งการลงทุนไม่ใช่เงินน้อยๆ ทางเจ้าของบ้านคนเดิมได้ตัดสินใจขายไปแล้ว อย่างที่บอกว่าหากจะอนุรักษ์ควรจะเริ่มตั้งแต่การพูดคุยกับเจ้าของบ้านเดิมตั้งแต่ต้น หากมีการร้องขอว่าให้เก็บบ้านหลังนี้ไว้ ตนก็คงจะต้องดูเหตุผลทางธุรกิจมาประกอบด้วย



                                                                       ภาพ-ข้อมูลบ้านวงค์พรหมมินทร์ : เฟซบุ๊ค Manaspee Dacha

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1144 วันที่ 1 - 7 สิงหาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์