วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560

ตั้ง 'สหกรณ์เซรามิค' 5องค์กรจับมือ มุ่งตลาดทั่วไทย

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

นายชัยณรงค์ จุมภู  นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง  เปิดเผยถึงปัญหาผู้ประกอบการเซรามิกคในปัจจุบันว่า  ขณะนี้เซรามิคประสบปัญหาหลายเรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องวัตถุดิบ ตอนนี้เหมืองแร่ก็มีปัญหาเรื่องสัมปทานขอต่ออายุได้ยากขึ้น เนื่องจาก พ.ร.บ.แร่  2560 ตัวใหม่ที่ออกมา มีการเปลี่ยนเงื่อนไขค่าต่อใบอนุญาตประทานบัตร ทำให้เหมืองแร่ขนาดเล็กจะอยู่ไม่ได้  เมื่อต้นน้ำเกิดปัญหา เซรามิคก็จะไม่มีวัตถุดิบและเกิดปัญหาตามไปด้วย  เรื่องที่สองคือปัญหาแรงงาน ไม่มีผู้สานต่อโรงงานเซรามิค แรงงานที่เป็นหัตถอุตสาหกรรมจะหายไป จะแก้ปัญหาได้คือต้องนำเครื่องจักรเข้ามาแทน แต่จะทำได้เฉพาะในโรงงานใหญ่เท่านั้น เพราะการลงทุนสูง โรงงานเล็กจึงต้องหาแนวทางที่จะสร้างเรื่องราว สร้างมูลค่าสินค้าให้กับตัวเอง โดยไม่ต้องผลิตมาก แต่ขายได้มูลค่ามาก   และสุดท้ายเรื่องพลังงานเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้  ไม่สามารถคอนโทรลราคาต้นทุนที่คุยกับลูกค้าได้ บางครั้งมีการรับออเดอร์ล่วงหน้า 3 เดือน ในขณะที่แก๊สราคาถูก แต่พอถึงเวลาผลิตแก๊สขึ้นราคา ก็ต้องเพิ่มต้นทุนไปโดยปริยาย

นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผา กล่าวต่อไปว่า  ภาคเซรามิคจะมีสเกลที่ลดลง เนื่องจากโรงงานใหญ่จะได้รับผลกระทบอาจจะลดจำนวนคนลง ซึ่งคนลำปางจะมีความเชี่ยวชาญด้านเซรามิคเป็นหลัก  ส่วนใหญ่ออกมาแล้วก็จะมาตั้งเป็นโรงงานขนาดเล็ก เป็นเซรามิคในครอบครัว กลุ่มนี้จะเชี่ยวชาญด้านการผลิต แต่ไม่เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ สมาคมจึงต้องเข้าไปดูแลบุคคลกลุ่มนี้ โดยมีการจัดตั้งกลุ่มลำปางเซรามิคคลัสเตอร์ขึ้นมา เพื่อช่วยต่อรองเรื่องการซื้อขาย  แต่การช่วยเหลือในระยะยาว ทางภาคเอกชนเห็นว่าการจัดตั้งสหกรณ์จะเป็นการช่วยเหลือได้ จึงได้ร่วมมือกันระหว่าง 5 องค์กรหลัก คือ สมาคมเครื่องปั้นดินเผา  สมาคมไม้   สมาคมเหมืองแร่ กลุ่มคลัสเตอร์ และสมาคมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  โดยตั้งชื่อว่า “สหกรณ์เซรามิกและหัตถอุตสาหกรรม” มีการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 ส.ค.60 ที่ผ่านมา  พร้อมกับมีการเลือกตั้งประธานกรรมการดำเนินการแล้ว คือ นายธนโชติ วนาวัฒน์ เป็นประธาน มีสมาชิกเริ่มแรกทั้งหมด 30 คน  เบื้องต้นสำนักงานสหกรณ์จะตั้งอยู่ที่สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ของศูนย์แสดงสินค้าเซรามิกและหัตถอุตสาหกรรม อ.เกาะคา เป็นที่ทำการของสหกรณ์

นายชัยณรงค์ กล่าวถึงรูปแบบการทำงานของสหกรณ์ว่า ในปีแรกเป็นการเริ่มเร็วที่สุดคือการนำผลิตภัณฑ์ของสมาชิก 5 องค์กรหลัก นำเสนอขายให้กับสหกรณ์ในเครือข่ายทั่วประเทศ และจะมีฝ่ายการตลาดดูในเรื่องการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ให้เกิดความทันสมัยเกิดขึ้น เพื่อตอบสนองกับผู้ประกอบการเซรามิคที่ไม่มีเวลา แต่ให้สหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการขายโดยแบ่งปันผลกำไรกัน สิ้นปีก็จะได้เงินปันผลตามหุ้นที่มีอยู่   ปีที่สองจะพูดคุยกันถึงเรื่องวัตถุดิบที่จะขายให้กับสมาชิกของเราเอง ปีที่สามจะคุยไปถึงเรื่องพลังงาน  อาจจะมีเตาเผากลางสำหรับโรงงานเล็กที่ไม่มีเตาเผาเซรามิค มีโรงบรรจุและจำหน่ายแก๊สของเราเอง  จะเป็นไปตามโร้ดแม็บที่ตั้งไว้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลภายใน 3 ปี  หากได้ที่ทำการแน่ชัดแล้วจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อไป

ข้อดีที่สมาชิกจะได้รับคือ โรงงานขนาดเล็ก การขอกู้เงินค่อนข้างยาก เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่นต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ซึ่งโรงงานเซรามิคยังไม่มีความพร้อมที่จะจัดตั้งในรูปแบบของบริษัทจำกัด ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เพราะฉะนั้นสหกรณ์จะตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ ประกอบกับสหกรณ์ไม่เคยตรวจสอบเรื่องเครดิตบูโร แต่สมาชิกจะต้องตรวจสอบและช่วยเหลือกันเองในกลุ่ม จะเป็นการช่วยเหลือกันเรื่องเงินทุนหมุนเวียน  นอกจากนั้นในเรื่องของการซื้อสินค้า ถ้าสมาชิกซื้อแก๊สซื้อดินกับทางสหกรณ์ ซึ่งจะขายในราคาท้องถิ่น เคยซื้อเท่าไรก็ได้ราคานั้น จะไม่ทำลายธุรกิจชุมชนแต่จะเป็นพันธมิตรกัน  สหกรณ์จะเข้าไปประสานงานให้ แต่สมาชิกจะได้เงินปันผลรายปีหากซื้อสินค้าผ่านสหกรณ์ สมาชิกได้กับได้ ซื้อในราคาเดิมแต่ได้เงินปันผลด้วย

นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผา กล่าวว่า  ตอนนี้มีคนสนใจขอซื้อหุ้นเพิ่มอีกจำนวนมาก แต่ก็ต้องทำตามระเบียบของสหกรณ์ที่จะต้องมีการประชุมพิจารณาร่วมกันว่าจะรับเพิ่มหรือไม่ เพราะตอนนี้เราก็ถือว่ายังเป็นมือใหม่ จึงเริ่มต้นเล็กๆก่อน และจะมีการขยายต่อไปในอนาคต

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1146 วันที่ 15 - 21 กันยายน 2560)             
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์