วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

นกและสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ในพระที่นั่งทรงธรรม

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารชั้นเดียวขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ ที่ประทับสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชวงศ์ต่างประเทศ พระราชอาคันตุกะ รวมทั้งจัดเป็นที่ประทับและที่นั่งสำหรับบุคคลสำคัญที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี ความจุ 2,600 ที่นั่ง โดยแบ่งพื้นที่สำหรับเป็นห้องทรงพระสำราญ ที่ประทับพักของพระบรมวงศานุวงศ์ ห้องพักรับรองสำหรับพระสงฆ์ และบุคคลสำคัญที่เข้าเฝ้าฯ บนพระที่นั่งทรงธรรม รวมทั้งห้องส่งสัญญาณในการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี ห้องพักสำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ด้วย

บริเวณภายในพระที่นั่งทรงธรรมประดับด้วยภาพเขียนจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่คัดสรรโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 46 โครงการ จากทั้งหมดกว่า 4,000 โครงการ

บนผนังกึ่งกลางพระที่นั่งทรงธรรมเป็นภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คือโรงสีข้าวและผลิตภัณฑ์จากโคนมสวนจิตรลดา มูลนิธิพระดาบส และการบริหารจัดการน้ำท่วม บนผนังด้านทิศเหนือเป็นภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ มูลนิธิโครงการหลวง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาฬสินธุ์ การอนุรักษ์ดิน ปลูกหญ้าแฝก บนผนังทิศใต้ของพระที่นั่งทรงธรรมเป็นภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในภาคกลางและภาคใต้  ได้แก่ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา โครงการฝนหลวง (ปฏิบัติการฝนหลวงดับไฟป่าพรุโต๊ะแดง) จังหวัดนราธิวาส

ไม่เพียงเท่านั้น ภาพวาดจิตรกรรมยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวาจากสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ

กานต์ รัตนจุล นักภาพวาดธรรมชาติ ในฐานะศิษย์เก่าวิทยาลัยช่างศิลป คือหนึ่งในทีมวาดภาพนกในพระที่นั่งทรงธรรมนอกเหนือจากทีมวิทยาลัยเพาะช่างและช่างสิบหมู่ เขาบอกว่า นกที่ปรากฏในพระที่นั่งทรงธรรมนั้น รวมแล้วมีมากมายนับร้อยชนิด แต่ละชนิดวาดขึ้นโดยอาศัยหลักความจริง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย หรือตำแหน่งที่พบเจอ

“ภาพวาดจิตรกรรมในพระที่นั่งทรงธรรม นอกจากจะสื่อถึงการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ยังบอกเล่าด้วยว่า ผลจากการทรงงานของพระองค์ท่านนั้น ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติมากมาย นอกจากนก จึงมีภาพกระรอก ปลา แมลงปอ ผีเสื้ออีกด้วย” กานต์กล่าว

กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของภาพวาดนกในพระที่นั่งทรงธรรม หรือนก 59 ชนิด คือผลงานที่น่าภาคภูมิใจของกานต์ “ผมวาดนกที่พบในภาคตะวันออกกับภาคใต้ และในสวนจิตรลดาครับ” ด้วยความที่กานต์เป็นนักดูนก เขาจึงถ่ายทอดภาพนกออกมาได้อย่างสมจริงที่สุด รายละเอียดในทุกแง่มุมเชื่อได้ว่าไม่มีการผิดเพี้ยน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้นักดูนกคนนี้ประหลาดใจมากก็คือ ในสวนจิตรลดานั้น สามารถพบนกหายากอย่างนกกาบบัว นกกระทุง รวมไปถึงนกแขกเต้า “ไม่น่าเชื่อว่า ในสวนจิตรลดาจะมีนกแขกเต้าฝูงใหญ่เลยนะครับ” เขาว่าพลางหัวเราะ

 กานต์เล่าว่า การวาดภาพนกบนฝาผนังนั้น ยากกว่าที่คิดมาก เนื่องจากจะเมื่อยล้ากว่าการวาดบนพื้นราบ จริงอยู่แม้ผืนผ้าใบยักษ์จะมีขนาด 6x11 เมตร ทว่าตัวนกกลับต้องมีขนาดเล็กจ้อย จนต้องพึ่งพาแว่นขยายในการทำงาน เมื่อบวกรวมเข้ากับอากาศที่ร้อนและสภาพแสงจำกัดในบางขณะ จึงทำให้การทำงานตลอดระยะเวลา 3 เดือนของทีมภาพเขียนจิตรกรรมในโรงเขียนจิตรกรรมฝาผนัง  สำนักช่างสิบหมู่ จังหวัดนครปฐม ต้องอาศัยความอดทน พากเพียร และหัวจิตหัวใจที่เสียสละโดยแท้

“นี่คือการทำงานถวายในหลวงครั้งสุดท้าย ซึ่งเราทุกคนต่างภูมิใจ ใคร ๆ ก็อยากทำครับ แม้จะเป็นส่วนเล็ก ๆ ก็ตาม ผมโชคดีหน่อยตรงที่ที่ทำงานอยู่ใกล้บ้าน คนอื่นลำบากกว่าผมเยอะ” กานต์เล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิ “บางคนมาจากพังงา นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ มาตั้งเต็นท์กิน-นอน-ทำงานอยู่ที่นี่ร่วม 3 เดือน ผมเห็นน้ำใจของชาวจิตอาสาทุกรูปแบบ ซึ่งตรงนี้ผมซาบซึ้งใจมาก” กานต์เล่าทิ้งท้าย

หลังจากเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว นอกเหนือจากพระเมรุมาศ อาคารต่าง ๆ ภายในพื้นที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงจะได้ใช้ในการจัดแสดงนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ภายใต้ชื่อ “พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์” โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมพระเมรุมาศและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ  พร้อมชมนิทรรศการ ทั้งยังมีการจัดแสดงบนเวที การบรรเลงเพลงปี่พาทย์ที่ใช้ในพระราชพิธี เพื่อเป็นการจำลองบรรยากาศงานพระราชพิธีให้ประชาชนได้มีโอกาสรับชมรับฟัง ตั้งแต่วันที่ 1-30 พฤศจิกายนนี้ รอบแรกเวลา 07.00 นาฬิกา รอบสุดท้ายเวลา 21.00 นาฬิกา ทั้งนี้ การเข้าชมนิทรรศการกำหนดจุดคัดกรองผู้เข้าชม 3 จุด ได้แก่ แม่พระธรณีบีบมวยผม หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และท่าช้าง โดยมีจุดพักคอยเข้าชมพระเมรุมาศและนิทรรศการบริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1153 วันที่ 3 - 9 พฤศจิกายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์