วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561

ไม่มีวิกฤติฟองสบู่สื่อ มีแต่วิกฤติผู้บริหารสื่อ !

จำนวนผู้เข้าชม Counter for tumblr

มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในวงการสื่อเรื่องหนึ่ง คือการส่งหนังสือเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และกรรมการปฏิรูปสื่อ เพื่อให้มีการแก้ปัญหาฟองสบู่สื่อ ควบคู่ไปกับแนวทางการปฏิรูปสื่อ

หนังสือฉบับนี้ ลงชื่อคุณสุวิทย์ มิ่งมล ผู้ก่อตั้งกลุ่มตรวจสอบ กสทช  และพนักงาน อสมท โดยมีการเชิญชวนให้ร่วมกันลงชื่อ

คำอธิบายของคุณสุวิทย์ในหนังสือฉบับนี้ ชัดเจนอย่างยิ่งว่า หากไม่มีการแก้ไขเยียวยา ปัญหาของสื่อ โดยเฉพาะผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ผลกระทบไม่เพียงคนข่าวที่ถูกเลิกจ้างมากกว่า 2 พันคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์เท่านั้น  ยังจะส่งผลกระทบต่อเนื่องในมิติต่างๆอย่างมหาศาลด้วย

 “..นอกจากผลกระทบต่อสังคมและกระบวนการรับรู้ ข้อมูลข่าวสารของประชาชนแล้ว หากวิกฤติฟองสบู่ยังไม่มีการแก้ไขในระยะเวลาอันใกล้ จะส่งผลในเชิงเศรษฐศาสตร์ต่อเนื่อง ทั้งการตกงาน รวมไปถึงการนำเข้าอุปกรณ์ ซอฟแวร์ที่ไม่สามารถผลิตในประเทศได้ เช่น การลงทุนในส่วนของโครงข่ายสัญญาณ (MUX) เป็นต้น”

ข้อเสนอของคนกลุ่มนี้ คือ ขอให้มีการพิจารณาแก้กฎหมาย กสทช และกฎหมายจำเป็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นทางออกให้กับปัญหาวิกฤติเหล่านี้

ด้วยความเคารพและความเข้าใจในปัญหาความเดือดร้อน ความหวั่นไหวในอนาคต ของเพื่อน พี่ และน้องในวงการวิชาชีพสื่อทีวีดิจิตอล  “จอกอ” กลับเห็นไปอีกทางหนึ่งว่า นี่มิใช่วิกฤติฟองสบู่เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2540 แต่เป็นวิกฤติของผู้บริหารสื่อที่เล็งผลเลิศ ดีดลูกคิดรางแก้วมาแต่ต้นว่า ทีวีดิจิตอลจะสร้างความมั่งคั่ง ร่ำรวย และเปิดโอกาสในทางธุรกิจให้กับตนเองมากขึ้น เป็นปัจจัยภายใน หาใช่ปัจจัยภายนอก คือ วิกฤติฟองสบู่ในปี 2540 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อคนในวิชาชีพสื่อไม่น้อยกว่า พ.ศ.นี้เช่นกัน

ในปี 2540 วิกฤติ เริ่มขึ้นในประเทศไทย เมื่อมีการโจมตีค่าเงินบาทจากจอร์จ โซรอส  พลเอกชวลิต ยงใจยุทธนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ตัดการอิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากได้ใช้ความพยายามที่จะสนับสนุนค่าเงินบาทเมื่อเผชิญกับการแผ่ขยายแบบเกินเลยทางการเงิน อย่างรุนแรง

เฉพาะอย่างยิ่งส่วนขับเคลื่อนอสังหาริมทรัพย์ ในเวลานั้น ประเทศไทยมีภาระหนี้สาธารณะซึ่งทำให้ประเทศอยู่ในสภาพล้มละลายก่อนหน้าการล่มสลายของค่าเงิน และเมื่อวิกฤตดังกล่าวขยายออกนอกประเทศ ค่าเงินของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่นก็ได้ทรุดตัวลงเช่นกัน ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงและรวมไปถึงราคาสินทรัพย์อื่น ๆ และทำให้หนี้เอกชนเพิ่มสูงขึ้น

ในแง่ของวงการสื่อสารมวลชน เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถูกกระทบ กระเทือนไปจนถึงธุรกิจต่อเนื่อง การจ่ายเงินโฆษณาก็ลดลง จากที่เคยเป็นงบประมาณอันดับต้นๆ สื่อต้องจ่ายค่ากระดาษ ค่าเครื่องมือเครื่องจักร แท่นพิมพ์ ที่ใช้ในงานประจำ เป็นเงินสกุลยูเอสดอลลาร์ซึ่งสูงกว่าก่อนหน้านั้นหลายเท่า

สำหรับวิกฤติครั้งนี้ เป็นเรื่องภายใน เป็นการคาดหวังผลทางธุรกิจสูงกว่าความเป็นจริง ทั้งที่ควรคิดได้ว่า ทีวีเพิ่มขึ้นมาพรวดเดียว 24 ช่อง ในขณะที่เค๊กยังก้อนเท่าเดิม จะแบ่งสันปันส่วนกันอย่างไร นอกจากนั้นเจ้าของกิจการ เจ้าของผลิตภัณฑ์ทั้งหลาย ก็สามารถผลิตเนื้อหาได้เอง ทำโฆษณาและส่งผ่านทางช่องทางต่างๆได้เองอย่างสะดวก และรวดเร็ว

ในตอนประมูลทีวีดิจิทัล ทุกคนไปด้วยความหวัง หลายคนทุ่มเงินไม่อั้นแม้จะด้วยราคาที่สูงจนผิดปกติ ไม่มีใครบังคับให้ไปเสนอราคาแข่งขันกัน มีแต่ความฝัน ความมั่นใจว่า จะเปิดพื้นที่ในการค้ากำไรได้มากขึ้น

ดังนั้น หากถามว่าวิกฤติฟองสบู่สื่อครั้งนี้ จะแก้ด้วยนโยบายรัฐ หรือกฎหมายฉบับใด คงไม่สำคัญเท่ากับวิกฤติผู้บริหารสื่อ ที่ล้มเหลวทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ และการบริหาร ล้มเหลวทั้งในเชิงการสร้างสรรค์รายการใหม่ รูปแบบการเสนอข่าวใหม่ๆ ที่ล้วนแต่คุยว่าเป็นข่าวเจาะลึก ทั้งที่ผิวเผิน และฉาบฉวย

ท่องให้ขึ้นใจว่า นี่คือวิกฤติผู้บริหารสื่อ ไม่ใช่วิกฤติฟองสบู่สื่อ

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1163 วันที่ 19 - 25 มกราคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์