วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2561

ชัยชนะของผู้ปราชัย

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) คืนแบงก์การันตีให้กับ ติ๋ม ทีวีพูล หรือ นางพันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทไทยทีวี และวินิจฉัยว่า ติ๋ม ทีวีพูล มีสิทธิบอกเลิกการออกอากาศทีวีดิจิตอลได้

คล้ายจะ “เปิดทางถอย” ให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล บางช่อง ที่อยู่ในภาวะ “หัวเราะมิได้ ร่ำไห้มิออก” จะเดินหน้าก็ไม่ได้ จะถอยหลังก็ถูกยึดแบงก์การันตี ซึ่งก็มีส่วนถูก แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ทีวีดิจิตอลช่องไหนไปต่อไม่ไหว โยนผ้ายอมแพ้ แล้วจบกัน

ความเป็นจริงคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ซึ่งยังมิใช่คำพิพากษาถึงที่สุด เนื่องจากยังมีอุทธรณ์เรื่องค่าเสียหายของติ๋ม ทีวีพูล ซึ่งยังต้องรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ใช้เวลาอีกนานปี เป็นคำพิพากษาในพื้นฐานของหลักเรื่องสัญญา ซึ่งฝ่ายหนึ่งอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อวัตถุประสงค์แห่งสัญญา คือ การออกอากาศทีวีดิจิตอลไม่สามารถกระทำได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากความไม่พร้อม การทำให้ระบบทีวีดิจิตอลไม่สามารถได้รับการยอมรับ อย่างแพร่หลายและทั่วถึง ของกสทช.ก็เป็นเหตุเพียงพอ ที่จะบอกเลิกสัญญาได้

แต่ก็ไม่ได้แปลว่า กสทช.แพ้ ติ๋ม ทีวีพูล ชนะ และไม่ได้แปลว่า เป็นความผิดของ กสทช.แต่ฝ่ายเดียว ที่ทำให้ทีวีดิจิตอล กลายเป็นฝันสลายของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลหลายราย

ตอนหนึ่งในคำพิพากษา ระบุชัดเจน

“ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ ล้วนเกิดจากการดำเนินธุรกิจปกติทั่วไปของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดี จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายดังกล่าวกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้”

นั่นหมายถึง เนื้อหาของรายการ คุณภาพของข่าว อาจเป็นเหตุผลไม่ว่ามากหรือน้อย ที่ทำให้ทีวีดิจิตอล ของติ๋ม ทีวีพูล ไม่มีเรทติ้ง ไม่มีความสามารถในการหาโฆษณามาให้พอคุ้มทุน เป็นเหตุผลในเชิงธุรกิจในการค้าข่าว หรือขายสินค้าที่ไม่มีคนดู ไม่มีคนซื้อ ซึ่งก็เป็นเหตุผลร่วมของทีวีดิจิตอลบางช่อง เช่นเดียวกัน

จะเป็นผลของการบริหาร จัดการ ทีวีดิจิตอล ของกสทช. หรือผลความล้มเหลว จากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอล ยังต้องรอฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นศาลสุดท้ายของคดีปกครอง แม้ว่า กสทช.จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาก็ตาม

ติ๋ม ทีวีพูล เป็นผู้ประกอบการรายแรก ที่มองเห็นอนาคตทีวีดิจิตอล เพียงข้ามปีมาไม่กี่วันหลังจากได้รับใบอนุญาต มีสัญญาณมาเป็นระยะ  ถึงความไม่พร้อมของ กสทช.ในการนำร่องให้ สถานีทีวีดิจิตอล ได้เติบโตขยายตัว ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อค

แต่ความไม่พร้อมของผู้ประกอบการก็เป็นประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม  คุณภาพเนื้อหา รายการ ที่ไม่โดดเด่น ไม่แปลกใหม่ จนกระทั่งไม่สามารถทดแทนสิ่งที่เคยมีอยู่ในฟรีทีวีเดิม ก็เป็นเหตุผลที่ต้องยอมรับสภาพ สำหรับนักลงทุนไล่ล่าความฝัน

การขยายตัวของทีวีช่องใหม่ 24 ช่องพร้อมกัน ในขณะที่มีคนจำนวนจำกัด ที่มีความรู้ ความเข้าใจในการทำทีวี ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวแรงงานในอุตสาหกรรมสื่อทีวี จำนวนมาก ทว่ามนุษย์ทองคำหลายคน ก็ไม่ได้แก่กล้าพอที่จะคิดอ่าน สร้างสรรค์รายการฉีกไปจากที่กลุ่มผู้บริโภคข่าวสารคุ้นเคยจากช่องฟรีทีวีเดิม

ดังนั้น ตัวเลขจำนวนคนดูที่ปรากฏนับตั้งแต่ช่วงต้นๆของการเปิดตัวทีวีดิจิตอล ที่ไหลไปทีวีระบบใหม่ และไหลย้อนกลับมาฟรีทีวีเดิม ก็เป็นดัชนีที่พอจะชี้วัดได้ว่า ทีวีดิจิตอลทั้งระบบ ไม่เฉพาะไทยทีวี – โลกา ที่ประกาศหยุดตัวเองเท่านั้น มีอนาคตที่น่าสะพรึงกลัวพอสมควรสำหรับทีวีตระกูล คม – ชัด ทุกช่องด้วย

ก่อนหน้านี้มีหนังสือ 2 ฉบับ ที่พันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยทีวี จำกัด มีไปถึง กสทช. ขอยกเลิกใบอนุญาตและการประกอบกิจการ อธิบายเหตุผลว่าเพราะ กสทช. ไม่สามารถดูแลการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อก มาสู่ดิจิตอลได้อย่างที่คาดหวัง

“กสทช. มิได้ดำเนินการใดๆ  เพื่อให้มีการควบคุมหรือกำกับ ดูแลการเปลี่ยนผ่านระบบการรับชมสัญญาณโทรทัศน์ในระบบภาคพื้นดิน ไปสู่การรับส่งสัญญาณระบบดิจิตอล ให้เป็นไปตามกฎหมายและแผนแม่บท..”

คำว่าดูแลการเปลี่ยนผ่าน หมายถึง การทำให้คนสามารถเข้าถึง ทีวีดิจิตอล ได้เป็นกลุ่มก้อน เพียงพอที่จะมีตัวเลขเรทติ้งไปแลกกับโฆษณา

แต่ในแง่คนดูไม่ว่าจะดูผ่านดาวเทียม หรือกล่องรับสัญญาณของ กสทช.เมื่อพวกเขาแวะเข้ามาแล้ว กลับไปดูช่อง 7 ช่อง 3 โดยเฉพาะช่อง 7  ที่แข็งแกร่งอย่างยิ่งในเรื่องข่าว และละครหลังข่าวช่อง 3 “บุพเพสันนิวาส” ที่ยังสามารถสะกดชาวบ้าน ร้านตลาด ให้อยู่หน้าจอได้ ทีวีดิจิตอล ก็ยังเป็น “ตัวเลือก” ไม่ใช่ “ตัวจริง”

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1171 วันที่ 16 - 22 มีนาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์