วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2561

บ้านดงเล็งฟ้อง ม.157 ขอระงับทิ้งดิน กฟผ.เคลียร์ก่อนฝน

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

กรณีการเกิดดินสไลด์ในพื้นที่ทิ้งดิน ปิดทับเส้นทางเชื่อมต่อระหว่าง ต.บ้านดง และ ต.แม่เมาะ โดยเมื่อวันที่ 26 มี.ค.61 ที่ผ่านมา นายถาวร งามกนกวรรณ  รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ.   นายบรรพต ธีระวาส ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ได้เข้ารวมประชุมชี้แจงกับชาวบ้านที่ศาลาเอนกประสงค์ อบต.บ้านดง  โดยมีนายศุกร์ ไทยธนสุกานต์ นายก อบต.บ้านดง  ผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านเข้าร่วมรับฟังประมาณ 300 คน

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการถกเถียงกรณีผู้บริหาร กฟผ.ระบุว่าถนนเส้นทางเชื่อมต่อระหว่าง ต.แม่เมาะ และ ต.บ้านดง ดังกล่าว เป็นพื้นที่เฉพาะของ กฟผ.ไม่ได้เปิดให้เป็นทางสาธารณะ ตั้งแต่ออกแบบไว้ครั้งแรกก่อนจะสร้างโรงไฟฟ้า สำหรับรถวิ่งตรวจงานตามคลองไปเขื่อนแม่ขาม ในช่วงหลังชุมชนร้องขอและพอขยับเส้นทางได้จึงเปิดเส้นทางสาธารณะ  แต่ชาวบ้านได้ค้านว่า ผู้บริหาร กฟผ.กล่าวไม่ถูกต้อง  ไม่ใช่ กฟผ.หรอกหรือที่เข้ามาทำเหมือง และย้ายสถานที่ราชการ โรงพยาบาลของชาวบ้านออกไป รวมไปถึงถนนที่ชาวบ้านใช้สัญจรหายไปไหน  ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้เส้นทางนี้ไปโรงพยาบาล ไปติดต่อราชการที่อำเภอ การที่บอกว่าถนนเส้นนี้ชาวบ้านร้องขอไม่ถูกต้อง ขอให้ กฟผ.พูดความจริง

นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่ทางผู้บริหาร กฟผ.กล่าวว่า  แม่เมาะในอดีตมีคนไม่กี่พันคน ตอนนี้มี 5 หมื่นกว่าคน ถ่านหินมีวันหมด โรงไฟฟ้ามีวันหมดอายุ สภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่สามารถรักษาไว้ได้ตลอด โรงไฟฟ้าก็จะเริ่มทยอยหมดอายุ สิ่งที่จะตามมาคือเงินกองทุนจะลดลง การจ้างงานลดลง  อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงชัดเจน ร้านค้าก็จะลดตามปริมาณประชากร เคลื่อนย้ายไปในแหล่งที่มีงานทำ  บอกด้วยความเป็นห่วงเพราะเคยอยู่ที่แม่เมาะมานาน หลังจาก กฟผ.ปิดโครงการที่นี่แล้วจะอยู่กันอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ กฟผ.ได้วางแผนไว้คือ การทำให้แม่เมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ  พื้นที่ทั้งหมดที่ขอใช้เป็นพื้นที่ป่าไม้ จึงมีแนวคิดที่จะโซล่าฟาร์ม ทั้งบนดินและลอยน้ำ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ต้องขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้พื้นที่ป่าไม้ ถ้ามีโซล่าฟาร์มต่อเนื่องเงินกองทุนก็จะยังอยู่ อย่างน้อยก็สามารถมีเงินหมุนเวียนในพื้นที่ถึงแม้ว่าการจ้างงานจะน้อยลง การท่องเที่ยวก็จะทำให้มีการใช้เงิน ประชาชนก็จะได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว  ในอนาคตรุ่นลูกหลานก็จะยังอยู่กันได้  ซึ่งในกรณีนี้กลุ่มชาวบ้านได้คัดค้านว่า ที่ผ่านมาก่อนหน้าที่จะมีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ชาวบ้านก็อยู่มากันเป็นร้อยปีแล้วยังอยู่กันได้ ไม่ต้องพูดถึงอนาคตว่าถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าแล้วชาวบ้านจะอยู่กันได้อย่างไร ไม่ต้องสร้างภาพหวังดีกับชาวบ้าน

ทั้งนี้ ในการประชุมชี้แจง ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบสิ้น ซึ่งในเบื้องต้นสรุปได้ว่า ให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาเรื่องการใช้เส้นทางและเสนอเส้นทางใหม่ไหม้กับชาวบ้าน ต.บ้านดง ได้ใช้สัญจรผ่านไปในตัวอำเภอ โดยชาวบ้านไม่ต้องการใช้เส้นทางเดิมเนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 เม.ย.61   อบต.บ้านดง ได้เปิดประชุมสภา สมัยสามัญสมัยที่ 2 ครั้งที่ 1 เพื่อประชุมในวาระเร่งด่วนกรณีเหตุการณ์ดินสไลด์ เนื่องจากชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปัญหานี้คือ ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้เส้นทาง ที่ต้องอ้อมเป็นระยะทางไกล  และได้รับผลกระทบจากควันที่เกิดการสันดาปและการฝังกลบไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน โดยทางสภา อบต.บ้านดง เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบเบื้องต้นในการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนของ กฟผ. ได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชน ต.บ้าน  ซึ่งในที่ประชุมสภา อบต.ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ของ กฟผ. ตรวจสอบเร่งรัดและแก้ไขปัญหาโดยเร็ว และในระหว่างตรวจสอบควรให้ กฟผ.ระงับการเททิ้งมูลดินทรายในพื้นที่ดังกล่าวไปก่อน  โดยได้ยื่นหนังสือผ่านทางนายอำเภอแม่เมาะประสานไปยังผู้มีอำนาจทางจังหวัดต่อไป

นายศุกษ์ ไทยธนสุกานต์ นายก อบต.บ้านดง กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องถนน โดยให้ทาง กฟผ.สำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะให้ถนนตัดผ่าน 2-3 เส้นทาง เสนอมาให้ชาวบ้านได้เลือก และในวันที่ 9 เม.ย.61 จะมีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ต.บ้านดง ซึ่งตนเองในฐานะนายก อบต. มีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเข้าร่วมประชุมด้วย เนื่องจากหลังเกิดเหตุมีเพียง กฟผ.เข้ามาชี้แจงให้ชาวบ้านทราบเพียงหน่วยงานเดียว ยังไม่เห็นหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาในพื้นที่แต่อย่างใด หากยังนิ่งเฉยอยู่ นายกฯก็จะแจ้งความในมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กับหน่วยงานนั้น

ด้านนายบรรพต ธีระวาส ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กล่าวว่า  ขณะนี้ทาง กฟผ.ได้ดำเนินการขุดค้นหาบุคคลสูญหายตามจุดที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานงานเข้ามาครอบคลุมพื้นที่ 100 เมตร  ตามที่ร้องขอแล้ว จึงได้ทำบันทึกแจ้งไปทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอเข้าดำเนินการในพื้นที่อื่น รวมถึงแจ้งทางญาติผู้สูญหายด้วยว่าทางเราได้ดำเนินการในจุดที่เขาสงสัยว่าจะพบร่างผู้สูญหายแล้ว แต่ก็ยังไม่พบทั้งรถจักรยานยนต์ และร่างของผู้สูญหาย หากไม่แจ้งไปก็จะว่าทาง กฟผ. กลบเกลื่อนอีก  ดังนั้น ในสัปดาห์หน้าคงจะเริ่มเข้าดำเนินการในพื้นที่ เน้นส่วนที่เป็นถนนและคลองชลประทานออกให้หมด ให้เสร็จก่อนหน้าฝนนี้ เพื่อระบายน้ำที่ผ่านคลองชลประทาน  ถ้าในอนาคตจะพบร่างผู้สูญหายในรัศมีที่เกิน 100 เมตร ก็คงเป็นเรื่องสุดวิสัยไป และเป็นเรื่องของการชี้จุดที่ผิดพลาด ยืนยันว่าทาง กฟผ.ได้ดำเนินการตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอเรียบร้อยแล้ว เมื่อคลายความสงสัยจึงขอเข้าดำเนินการในพื้นที่อื่นต่อไป

นายบรรพต กล่าวถึงกรณีการจะให้หยุดทิ้งดินว่า ผู้ที่มีอำนาจสั่งได้ในจังหวัดคือผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ทาง กฟผ.ได้มีการเข้าไปชี้แจงกับทาง อบต.แล้ว 2 ครั้ง  ได้มีคณะทำงานเพื่อสรรหาถนนใหม่  และตกลงการแก้ปัญหากันแล้ว  การจะให้หยุดเหมืองเลยคงเป็นไปไม่ได้เพราะจะกระทบคนทั้งประเทศ  จุดที่ทิ้งดินปัจจุบันอยู่ห่างจากชุมชนมากพอสมควรประมาณ 5 ก.ม.  ส่วนถนนเส้นทางใหม่ ตามแนวทางที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น อยู่ในช่วงขั้นตอนการศึกษาเพื่อหาเส้นทางที่ดีที่สุด ในระหว่างนี้ก็มีเส้นทางให้วิ่งชั่วคราวแล้ว

ส่วนกรณีที่อ้างว่าหน่วยงานราชการไม่เข้ามาดูแล ซึ่งตามจริงแล้วหน่วยงานที่กำกับดูแล กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้แจ้งให้ทาง อบต.ทราบ และทาง กฟผ.ก็รายงานมาตรการต่างๆให้ทาง อบต.ทราบอยู่แล้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กล่าว.

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1174 วันที่ 6 - 19 เมษายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์