วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

วาทะ Street art จุดจบ ที่ไม่จบ

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

ลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ลำปางซิตี้” ที่คงยกเว้นไม่ได้ “ม้าสีหมอก” ขอเป็นส่วนหนึ่ง บนพื้นที่แห่งการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงเหตุผล รับการด่าทอ รองรับอารมณ์ ว่าด้วยข้อโต้แย้ง อันเนื่องมาจาก โปรเจคท์ “ริเวอร์ สตรีท อาร์ต” ของท่านผู้ว่าฯทรงพล สวาสดิ์ธรรม


คนที่เคยไปเยือนเมืองสงขลา ที่ท่านผู้ว่าฯทรงพล เคยเป็นเจ้าเมืองที่นั่น คงไม่เห็นแปลก สำหรับสตรีท อาร์ต “ม้าสีหมอก” คลับคล้าย คลับคลา ว่าเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของท่าน ประกอบภาพเมืองสงขลา แต่งแต้มไปด้วยสีสัน ตีพิมพ์ในหนังสือบนเครื่อง ภาพเหล่านั้นติดตา ตรึงใจ เป็นที่จดจำของคนทั้งประเทศ


ในฐานะคนเคยเรียนศิลปะ และสอบได้คะแนนดีในการเขียนภาพแนวนี้ ยืนยันได้ว่า ภาพ Composition บนตอม่อสะพานรัษฏาภิเษกนั้น ถือเป็นงานศิลป์ที่งดงาม ไม่ได้เสียหาย ไม่ได้ขัดแย้งกับภาพความเก่าแก่ ที่มิใช่โบราณสถาน อย่างน้อยก็ยังดีภาพเขียนสี เลอะเทอะ ของเก่าบนตอม่อนั้น

ถึงกระนั้น ก็ควรฟังความรอบข้าง โดยเฉพาะคนพื้นที่ คนที่มีหน้าที่ ความรับผิดชอบโดยตรงในการจัดการ ดูแลสถานที่ ให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่เกิด “ทัศนะอุจาด” ที่ทำให้สิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้นในเมืองที่มีสิ่งก่อสร้างที่ทรงคุณค่าในเขตเทศบาลนครลำปาง

“การวาดรูปลงที่ฐานสะพานรัษฏาแบบนี้ ประชาชนคนลำปางเห็นด้วยหรือไม่ ผมในฐานะประชาชนคนลำปาง และฐานะนายกเทศมนตรี ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง คนทำต้องรีบจัดการแก้ไขโดยด่วน”

(FB นายกกิตติภูมิ นามวงค์)

ถ้อยคำของท่านนายกเทศมนตรีนครลำปาง ทั้งตั้งคำถามกับคนลำปาง ทั้งแสดงความเห็นในฐานะส่วนตัว รวมทั้งแสดงความเห็นในฐานะนายกเทศมนตรี

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาคำตอบก่อนว่า ในแต่ละฐานะ แต่ละบทบาทนั้น ควรต้องตอบหรือแสวงหาแนวทางออกที่ดีที่สุดอย่างไร นายกฯกิตติภูมิ ถามว่า คนลำปางเห็นด้วยหรือไม่ คำตอบคือมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย มีทั้งมีเหตุผล มีทั้งใช้อารมณ์ความรู้สึก

เนื่องจากเรื่องของศิลปะ เป็นเรื่องของความชอบ เป็นเรื่องรสนิยม ยิ่งถ้าคนนั้นร่ำเรียนมาด้านศิลปะ หรือมีสุนทรียรส แปลว่า ความชื่นชม เพลิดเพลิน อิ่มเอิบ และพึงพอใจกับงานนั้น ซึ่งเป็นอีกระดับหนึ่งของการเสพงานศิลปะ เขาก็จะมองเห็นเรื่องนี้เป็นธรรมดา ปฏิกิริยาจากการวาดด้วยมือ และลบด้วยแปรง จึงออกมาในรูปของความเสียดายงาน ที่กว่าจะแต่งแต้มสีสันออกมาได้งามเท่านี้ ต้องใช้เวลานาน

คำตอบแรก คือ มีคนเห็นทั้งสองด้าน ซึ่งยังตัดสินไม่ได้

ท่านนายกฯกิตติภูมิ ในฐานะคนลำปางคนหนึ่ง ท่านบอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะคล้ายจะเป็นการไม่เหมาะ ไม่ควร ที่จะป้ายสีสันให้กับสะพานเก่าแก่แห่งนี้ของลำปาง judgment ของท่านก็ดูประหลาดอยู่ หากเปรียบเทียบกับการที่ท่านยอมให้ อุ๊บ วิริยะ ใส่ชุดประหลาดๆที่ไม่เหมาะควร ขึ้นเวทีสลุงหลวง อันเป็นงานประเพณีที่งดงามของจังหวัดลำปางเมื่อปีก่อน  

สุดท้าย ฐานะของนายกเทศมนตรี ความไม่เห็นด้วยในฐานะคนลำปางคนหนึ่ง กับนายกเทศมนตรีคนหนึ่ง ย่อมแตกต่างกัน เพราะสถานะเช่นนี้ แปลว่า ท่านมีอำนาจ มีความรับผิดชอบตามกฎหมายด้วย เมื่อท่านกล่าวถ้อยคำว่า “คนทำต้องรีบจัดการแก้ไขโดยด่วน” ก็เสมือนมีคำสั่งกลายๆอยู่ในตัวด้วย ถึงแม้จะไม่ใช่คำสั่งทางการก็ตาม

ใครเป็นคนทำ??

ในเมื่อเป็นโครงการของท่านผู้ว่าฯ ก็เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯที่ต้องจัดการแก้ไข และท่านก็จัดการแก้ไขได้ฉับพลันทันที โดยย้ายภาพนี้ไปเขียนไว้ในสถานที่อื่น และใช้แปรงป้ายสีขาวบนตอม่อเสีย นัยว่าไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง

เมื่อไม่มีภาพ ความรู้สึกระหว่างทั้งสองท่านก็อาจคลายลง แต่มันไม่ได้จบสิ้นเพียงนั้น

นอกจากคำถามว่า เหตุใดเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว จึงไม่สื่อสาร หรือถามไถ่กันเป็นการภายในเสียให้ได้ข้อยุติเสียก่อน ยังมีเสียงที่มีเหตุ มีผล ว่าภาพเขียนสี Composition นั้น มันไม่ได้มีผลอันใด ให้เกิดทัศนะอุจาด หรือ Visual pollution คือมองแล้ว ไม่น่าดู น่าเกลียดที่ตรงไหนเลย และก็เป็นเพียงภาพที่อาจจะเปลี่ยนจะปรับได้ตลอดเวลา แทนที่จะทิ้งตอม่อไว้ให้มือดีขีดเขียนเลอะเทอะ

ท่านผู้ว่าฯก็อาจจำเป็นต้องฟัง ประชาชนคนลำปางคนอื่นๆด้วย ไม่ใช่ประชาชนคนลำปางที่ชื่อกิตติภูมิ นามวงศ์เท่านั้น การด่วนลบภาพนั้น ด้วยความปรารถนาดีที่ไม่ต้องการให้เห็นภาพขัดแย้ง กลับเพิ่มความขัดแย้งขึ้นอีก

บางทีสังคมอาจจำเป็นต้องเรียนรู้สังคมที่มีความแตกต่างทางความคิดได้ แต่ไม่ต้องทะเลาะกัน ไม่ต้องตีกัน เปิดเวทีสาธารณะมาพูดกันด้วยเหตุ ด้วยผล และยอมรับกันและกัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1180 วันที่ 25 - 31 พฤษภาคม 2561)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์