วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เจ้าหมูป่า ในกรงเล็บหมาป่า

จำนวนผู้เข้าชม url and counting visits

ารหายตัวไปของ “ทีมเจ้าหมูป่า” ไม่เพียงสะท้อนความห่วงใย ของคนไทยทั้งชาติ และความร่วมไม้ร่วมมือของคนจำนวนมาก ทุกหน่วยงาน แพทย์ พยาบาล ไฟฟ้า ชลประทาน กทม.รวมทั้งหน่วยงานจากจังหวัดลำปาง  ที่เข้าไปช่วยเหลือโดยไม่รู้เหน็ดเหนื่อย  ภัยครั้งนี้ ยังเป็นปรากฏการณ์ที่อธิบายภาพความตกต่ำ ไร้จิตสำนึกของคนทำสื่อส่วนหนึ่งด้วย

แม้จะเป็นนาทีทอง ในการสร้างเรทติ้ง เพิ่มจำนวนคนอ่าน คนดู คนฟัง เนื่องเพราะเป็นข่าวที่ผู้คนสนใจ  เป็น Sensational Reporting มีเงื่อนงำ ลึกลับ ชวนติดตาม แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ มีความอ่อนไหวอย่างยิ่ง ที่จะกระทบกับอารมณ์ ความรู้สึก ของผู้ประสบเคราะห์กรรม

ในข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาวิชาชีพสื่อ เขียนไว้ชัดว่า การเสนอข่าวหรือภาพใดๆ ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาส ในการเสนอข่าวนี้ ต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์ หรือโศกนาฏกรรม อันเกิดแก่เด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาสนั้น

และต้องไม่เสนอข่าวที่งมงาย ไร้สาระ

น่าแปลกใจอย่างยิ่ง ที่นักข่าว พ.ศ.นี้ ที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีเครื่องไม้ เครื่องมือทันสมัยในการสื่อและส่งข่าว กลับตั้งคำถามย้อนยุค กับพ่อ กับแม่ เด็กผู้สูญหายว่า รู้สึกอย่างไร แน่นอนพวกเขาจะรู้สึกอะไรได้ นอกจากความเป็นห่วงใยลูก ความทุกข์ทรมานใจที่ลูกยังไม่กลับออกมา

ร้ายไปกว่านั้น  โปรดฟัง...บางคำถามจากผู้ดำเนินรายการช่อง 8

“แม่คิดว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ยังหาน้องไม่เจอครับ แม่รู้เรื่องความเชื่อของถ้ำ น้องมาเข้าฝันบ้างไหมครับ”

สอดรับกับรายการ “กนก-ธีระ” เล่าอาถรรพ์น่าขนลุก !! ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน  เนชั่นทีวี  อีกทั้ง “เจ้าปู่พญานาค” ของข่าวสดออนไลน์

คำถามซ้ำเติม เรื่องราวที่ซ้ำเติมผู้ประสบเคราะห์กรรมเหล่านี้ บอกถึงความตกต่ำ และไร้จิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ ของคนทำข่าว บอกถึงความหยาบกระด้างของจิตใจ ที่ไม่แม้แต่จะฉุกคิดได้ว่า หากเราเป็นผู้ประสบเคราะห์กรรมเช่นนั้น เราจะยินดีตอบคำถามแบบนั้นหรือไม่

ยังมีความเลวร้าย ในการให้พื้นที่ ให้ความสำคัญกับข่าวทรงเจ้า เข้าผี ข่าวไสยศาสตร์ ข่าวที่มุ่งจะตอบสนองสัญชาติญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ทั้งที่ความต้องการที่จะขายข่าวในแนวนี้ อาจสวนทางกับความรู้สึกของคนไทยยามนี้ที่ต้องการให้กำลังใจพ่อ แม่ ญาติพี่น้องของเด็กที่หายไป มากกว่าอยากรู้เรื่องลี้ลับนั้น ที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใครเลย

สื่อมวลชนควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ในสถานการณ์ข่าวที่มีความอ่อนไหวเช่นนี้  ข่าวที่คาบเกี่ยวกับความเป็นความตายของคน  อันดับแรก คือต้องรายงานข่าวบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบยืนยันอย่างชัดเจนแล้ว ไม่เสนอข่าวเลื่อนลอย ไร้สาระ หรือข่าวที่ฟังมาจากแหล่งข่าวที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ หรือแหล่งข่าวบอกเล่า

ต่อมาก็ต้องคิดถึงว่า อย่าเพียงรายงานข่าวอย่างละเอียดที่สุด หาแง่มุมที่แหลมคม ล้ำหน้ากว่าสื่ออื่นๆ เช่นข่าวในเชิงไสยศาสตร์ เรื่องเร้นลับทั้งหลาย แต่ต้องคำนึงถึงฐานะของความเป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ เช่นเดียวกับคนไทยคนอื่นๆด้วย

ความเป็นธุรกิจ ความเป็นอุตสาหกรรมสื่อ ที่ต้องแข่งขันกันโดยมีรายได้เป็นเป้าหมายสูงสุด สุ่มเสี่ยงที่จะผิดพลาด เพราะพวกเขาจะคิดแต่เพียง ข่าวที่ขายได้ ภาพที่ขายได้ โดยไม่มีความรับผิดชอบ บทเรียนครั้งนี้ จะเป็นบทเรียนครั้งต่อๆไปอีก หรือสื่อจะเริ่มคิดได้บ้างว่า ความรู้สึกของความเป็นมนุษย์นั้นสัมพันธ์กับการทำข่าวที่ยึดมั่นในหลักการอย่างไร


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1185 วันที่ 29 มิถุนายน - 5 กรกฎาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์