วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

โป่งน้ำร้อน-วิถีปกาเกอะญอ เสน่ห์ดึงดูดแห่งเสริมงาม

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

หากจะพูดถึง ชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี อาจเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่คุ้นหู เพราะโครงการนี้ถือเป็นเรื่องของการต่อยอด การพัฒนาโอทอป ซึ่งเป็นสินค้าจากชุมชนที่มีคุณภาพ ผ่านมาตรฐานการคัดสรรของรัฐ ให้พัฒนารูปแบบใหม่ โดยให้ขายสินค้าอยู่ภายในชุนชน เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน นำเสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์มาแปลงเป็นรายได้

หมู่บ้านโป่งน้ำร้อน หมู่ 1 ต.เสริมกลาง อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ซึ่งตั้งอยู่แนวเขาติดลำห้วยแม่เสริม ที่ไหลลงมาจากภูเขาและน้ำตกแม่พิม แต่สิ่งมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างไว้ที่นี่คือ โป่งน้ำร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ นับได้ว่าเป็นแห่งที่ 3 ของจังหวัดลำปาง นอกเหนือจาก ที่น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน อุทานแห่งชาติแจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง และแห่งที่ 2 คือที่บ้านโป่งน้ำร้อน หมู่ที่ 1 ต.ใหม่พัฒนา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ซึ่งความแตกต่างของโป่งน้ำร้อน อ.เสริมงาม มีน้ำพุร้อน น้ำร้อนผุดขึ้นริมตลิ่งลำห้วยแม่เสริม ระยะทางราว 100 เมตร ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้พัฒนา  ขุดเป็นบ่อน้ำร้อนขึ้นมา 3 บ่อ แต่ละบ่อความร้อนไม่เท่ากัน ซึ่งบ่อที่ร้อนที่สุด จะอยู่ติดกับตลิ่งและใช้ลวกไข่ไก่ ให้สุกทั้งไข่แดงไข่ขาวเหมือนเป็นไข่ต้มได้ภายในเวลา 15 นาที แต่หากอยากรับประทานแบบไข่แดงสุกไข่ขาวเหลวก็อยู่ที่ประมาณ 7-10 นาที เช่นเดียวกับแหล่งบ่อน้ำร้อนทั่วไป


ด้วยสภาพภูมิศาสตร์อยู่ติดแนวภูเขา ชาวบ้านที่นี่เป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ หรือเรียกกันว่าชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นเชื้อสายชนเผ่าที่อาศัยอยู่กับป่าอย่างกลมกลืน อาจพูดได้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงอาหารและวัฒนธรรม วิถีชีวิตแบบชาวปกาเกอะญอ เป็นจุดดึงดูดของแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่ตอบโจทย์ยุคสมัยที่ผู้คนในเมืองออกออกไปพักผ่อนตามชนบท

สายสมร  บุญเฉลิม พัฒนาการชุมชนอำเภอเสริมงาม เผยว่า ชุมชนบ้านโป่งน้ำร้อน มีความพร้อมที่จะพัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีต้นทุนทางธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวิถีชาวปกาเกอะญอ มีบ่อน้ำพุร้อน-น้ำตกที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่พัฒนาจากวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น การทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ งานจักสานจากไม้ไผ่ และ กล้วยกรอบน้ำแร่ ซึ่งทางพัฒนาชุมชนอำเภอเสริมงามได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเป็นอาชีพสร้างรายได้ โดยในปีงบประมาณ 2561 นี้ได้จัดทำโครงการ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อสร้างและพัฒนาชาวบ้านและบุคลากร ในชุมชนที่เกี่ยวข้องในชุมชนท่องเที่ยว ให้มีขีดความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์สามารถนำมาต่อยอด  ในการบริหารจัดการชุมชน การพัฒนาสินค้าชุมชนเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวที่ยังรักษาอัตลักษณ์ของหมู่บ้าน “โป่งน้ำร้อน”  ได้อย่างเหมาะสม


นอกจากนี้ชาวบ้านบางรายก็เริ่มทำบ้าน หรือแบ่งห้องพักในบ้านให้เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์เปิดให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนได้พักแรม สัมผัสวิถีการอยู่ การกินอาหารพื้นถิ่นแบบชาวปกาเกอะญอ ซึ่งถือว่าโครงการท่องเที่ยวนวัติวิถีจะมีกิจกรรมต่างๆที่ช่วยต่อยอดให้มีศักยภาพขึ้นในเรื่องการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว พัฒนาบรรจุภัณฑ์ของสินค้าชุมชนเพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก  ยกระดับพัฒนาด้านทอผ้าโดยนำผ้าทอของชุมชนมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งานเช่น กระเป๋าเครื่องใช้ต่างๆ ส่วนงานจักสานจะพัฒนาโดยสอนให้ชาวบ้านทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายแบบมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว เกษตรโฮมสเตย์  ส่งเสริมการตลาดชุมชนท่องเที่ยว ให้มีความพร้อมเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่มีความเป็นเจ้าบ้านที่ดี

พลอย กาวิโล ประธานกลุ่มโฮมสเตย์บ้านโป่งน้ำร้อน เผยว่า หลังจากมีคนภายนอกเริ่มรู้จักหมู่บ้านโป่งน้ำร้อนผ่านสื่อและหน่วยงานราชการต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา มีชาวบ้านสนใจรวมกลุ่มกัน 6 หลังคาเรือน ทำโฮมสเตย์ โดยเริ่มจากแบ่งห้องพัก หรือพื้นที่ในบ้าน ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักแรม และรับประทานอาหารท้องถิ่นในบ้านที่พัก  เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชาวบ้านปกาเกอะญอ  และมีบ้านพักบริเวณสันเขาติดกับบ่อน้ำร้อน จำนวน 2 หลัง สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักเป็นส่วนตัว สำหรับค่าบริการโฮมสเตย์ คิดค่าบริการค่าพักแรมคนละ 200 บาท ไม่รวมอาหารเช้า หากมีอาหารเช้า คิดค่าบริการคนละ 300 พร้อมอาหาร 1 มื้อ และ 350 พร้อมอาหาร 2 มื้อ ส่วนค่าบริการ แช่น้ำแร่ในห้องแช่น้ำแร่รวม คนละ 20 บาท แช่น้ำแร่ห้องส่วนตัวคนละ 50 บาท 

ในส่วนของการพัฒนานั้น พลอยบอกว่า ชาวบ้านเองก็ตื่นตัวกับเรื่องการท่องเที่ยว แม้หนทางจะค่อนข้างไกลจากตัวเมือง ประกอบกับหมู่บ้านนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง แต่ชาวบ้านก็ยังเชื่อมั่นในอัตลักษณ์ของชุมชนปกาเกอะญอ ที่ยังมีผู้คนภายนอกอยากเข้ามาสัมผัส นอกเหนือจากการแช่น้ำแร่ ซึ่งในปัจจุบันมีลูกหลานของคนในหมู่บ้านออกไปเรียนหนังสือ และทำงานข้างนอกมีส่วนช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางสื่อโซเชียล และมีหน่วยงานช่วยสนับสนุน


อย่าไรก็ตามชาวบ้านมองว่า การพัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี อาจเข้าใจยาก แต่ในมุมของชาวบ้าน เข้าใจว่า สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมของคนในชุมชนให้เข้าใจเรื่องการท่องเที่ยว มีสินค้าที่ผลิตโดยคนในชุมชนคุณภาพดีให้เขาซื้อกลับไปเป็นของฝาก เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในหมู่บ้านจะได้ประทับใจ บอกต่อกันไปจะนำพารายได้จากการท่องเที่ยวมาสู่ชาวบ้านและชุมชน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1187 วันที่ 13 - 19 กรกฎาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์