วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ปรากฏการณ์ ถ้ำหลวง – เรือล่ม เส้นแบ่งพรมแดน สื่อแท้ สื่อเทียม?

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

านหลายปีแล้ว ที่สังคมถูกทำให้เชื่อว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร การเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์  Facebook ,Twitter , line และ YouTube ได้ทำลายกำแพงของ Mass media อีกทั้งลดทอนอำนาจการสื่อสารของสื่ออาชีพ จนกระทั่งกล่าวขานกันว่า ใครๆก็เป็นสื่อได้

นี่ย่อมเป็นความจริง เมื่อคำนึงถึงบทบาทของสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะอิทธิพลของ Online influencer ซึ่งได้แก่เพจต่างๆ  เช่น เพจอีเจี๊ยบเลียบด่วน  เพจอีจัน  จ่าพิชิต Drama Addict  แหม่ม โพธิ์ดำ ฯลฯ

กลุ่มคนเจ้าของเพจเหล่านี้ มีคนติดตาม มียอดไลค์ ยอดแชร์ มากกว่าสื่ออาชีพหลายเท่า  จนเกือบจะพูดได้ว่า เป็น mainstream media หรือสื่อกระแสหลักไปแล้ว

ไม่เพียงคนทั่วไป จะติดตามพวกเขาเท่านั้น หากสื่ออาชีพจำนวนไม่น้อย ก็ยังอาศัยข้อมูล ข่าวสาร ความคิด ความเห็นในเพจ ไปอ้างอิง ไปบอกต่อ คล้ายเป็นแหล่งข่าวสำคัญด้วย

ยังมีคนใช้สื่ออีกจำนวนมาก ที่เรียกตัวเองว่าสื่อ หรือเชื่อว่า เขากำลังทำหน้าที่เป็น Citizen reporter ที่ทำหน้าที่รายงานข่าว ส่งภาพ วิพากษ์ วิจารณ์ คาดเดา ซึ่งเราเห็นภาพนี้ชัดในปรากฎการณ์ข่าวถ้ำหลวง ที่มี fake news เรื่องคนเจ็บ คนเสียชีวิตออกมาเป็นระยะในตอนต้น  หรือปรากฏการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต ซึ่งทำให้เกิดคำถามในเชิงจริยธรรม  และวิชาการว่า นิยามความหมายของคำว่าสื่อ และความเชื่อว่า ใครๆก็เป็นสื่อได้นั้น  สังคมควรจะได้ทบทวน และหาคำตอบที่แท้จริงหรือไม่ จากอุบัติภัยทั้ง 2 เหตุการณ์

ผู้ที่ใช้นามว่า Puxxxxx โพสต์ภาพเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต เป็นภาพศพในสภาพอเนจอนาถ   พร้อมเรียกร้องเชิญชวน ว่า “กดติดตามผมไว้ครับ มีข่าวด่วนมาบอกทุกนาที” รวมทั้งปรากฏคลิป ขณะเก็บศพที่ลอยอยู่ในทะเล อยู่ในสื่อออนไลน์ โดยไม่มีเซนเซอร์

Facebook , line ของผู้ใช้สื่อทั่วไป โพสต์ภาพ ชื่อ นามสกุล ของเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือออกมาจากถ้ำชุดแรก สื่อมวลชนหลายสำนัก ก็เผยแพร่ต่อ  ที่มีทั้งได้ภาพมาโดยตรง หรือแชร์จากสื่อเหล่านี้ ทั้งที่การปกปิดชื่อเป็นเหตุผลในเชิงจิตวิทยา เพื่อดูแลความรู้สึกของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่เด็กยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออกมา

ทั้งหมดนี้บอกอะไรกับเราบ้าง?

สิ่งที่บอกชัดระหว่างสื่ออาชีพ กับสื่อทั่วไป คือเส้นแบ่ง หลักการทำงาน ความเข้าใจและความรับผิดชอบ ในฐานะที่สื่อเป็น “วิชาชีพ” ไม่ใช่อาชีพ หรือที่คนทำสื่อรุ่นเก่า เรียกว่า “อาชีวปฏิญาณ” แปลว่า ความมุ่งมั่นที่จะทำงานด้วยความรับผิดชอบ  บนหลักการพื้นฐานของจริยธรรม นัยหนึ่งคือการสาบานว่า จะไม่ทรยศต่อหลักการเช่นนี้

นอกจากหลักคิด ในการจำแนกประเภทสื่อ โดยใช้หลักการและความรับผิดชอบ เป็นตัววัด เราก็อาจทบทวนหลักวิชาการ แนวคิด ทฤษฏีต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้ อาจมีคนบอกว่า เป็นทฤษฏีที่ตายแล้ว หรือแม้กระทั่งการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ก็ไม่มีความจำเป็นต่อโลกอีกแล้ว

เช่น เราเคยบอกว่า ทฤษฏีสื่อมวลชนในฐานะผู้รักษาช่องทางการสื่อสาร หรือนายประตูข่าวสาร Mass media as gatekeeper คือบทบาทของสื่อในการคัดกรองข่าวสาร  ในโลกการสื่อสารยุคใหม่ ที่ใครก็ได้ สามารถส่งสารออกไป โดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรอง หรือตรวจสอบก่อน หรือแม้กระทั่งสื่ออาชีพที่ใช้ออนไลน์ เป็นเครื่องมือสื่อสาร  บทบาทนายประตูข่าวสาร ก็หมดความจำเป็น

ในทางวิชาชีพ เราอาจไม่ได้เรียกการประชุมข่าว การคัดกรองข่าวที่ดีที่สุด หรือการระแวดระวัง ไม่เลือกข่าวที่ส่งผลกระทบ ละเมิดสิทธิเด็ก สิทธิส่วนบุคคล  เลือกภาพศพ ภาพที่เป็นการซ้ำเติมผู้ประสบเคราะห์กรรมว่า เป็นการทำหน้าที่นายประตูข่าวสาร แต่การทำหน้าที่ทั้งหมดนั้น ก็เพราะสื่ออาชีพตระหนักว่า “ความเชื่อถือ” เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด

ความเชื่อถือ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความรับผิดชอบ และเคารพหลักการเคร่งครัด

ในโลกแห่งความเป็นจริง เราไม่อาจตัดสินได้ว่า ใครเป็น “สื่อแท้” ใครเป็น “สื่อเทียม”

มีแต่ความเชื่อถือเท่านั้น ที่จะบอกได้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1187 วันที่ 13 - 19 กรกฎาคม 2561)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์