วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ศักดิ์ศรีหนังสือพิมพ์บ้านนอก เด็ดปีก 3 สำนักใหญ่ละเมิดลิขสิทธิ์

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

รื่องราวของข่าว แขวนปลัดงาว พันไม้เถื่อน และหลักกิโลเมตรยักษ์ ที่เป็น exclusive ของลานนาโพสต์ และถูก “ทำซ้ำ” ทุกถ้อยคำ ก่อนเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้า ผ่านช่องทางออนไลน์ และหน้าจอ ของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลอย่างน้อย 3 สถานี  อาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่จะต้องจัดการใครก็ตาม ที่มักง่าย ไม่คิด ไม่รู้ หรือทำข่าวเองไม่เป็น ให้ได้บทเรียนสักครั้ง

ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ซึ่งหากคิดให้ลึกซึ้งแล้ว การที่คนๆหนึ่ง สร้างสรรค์งานขึ้นมา เช่นงานข่าว มีการวางแผน ติดต่อ สัมภาษณ์ เขียน เรียบเรียง คิด Headline ใช้พลังงาน ใช้สมองมิใช่น้อย กับการที่ใครสักคนที่มักง่าย ทำสำเนาจากออนไลน์ หรือ Print Screen Copy แล้วเอาไปใช้หาประโยชน์ หน้าตาเฉย สมควรที่จะจัดการอย่างไร

นี่ควรเป็นเรื่องหลักการ และการใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย โดยเฉพาะเพื่อยืนยันทั้งในแง่คุณภาพเนื้อหา ของหนังสือพิมพ์บ้านนอกที่สถานีโทรทัศน์ใหญ่เมืองกรุง ลอกไปใช้โดยไม่เรียบเรียง ตัดตอน ทั้งในแง่ศักดิ์ศรีของคนทำสื่อ ที่ต้องทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นสื่อใหญ่หรือเล็ก

ละเมิดลิขสิทธิ์คืออะไร พูดให้เข้าใจง่าย คือเอางานของคนอื่นเขามาใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่อ้างอิง ไม่บอกที่มา ทำเสมือนหนึ่งงานหรือข่าวชิ้นนั้น ไปทำมาเอง ในขณะที่ต้นสังกัด จะปฏิเสธการรับรู้ไม่ได้ ถือเป็น “ตัวการร่วม” ที่ต้องรับผิดด้วย อีกทั้งต้องย้อนถามผู้บริหารสถานี ผู้บริหารข่าวว่า ได้ให้นโยบายชัดเจนเพียงพอหรือไม่ สำหรับพนักงาน หรือคนข่าวว่าจะต้องไม่ไปละเมิดลิขสิทธิ์ หรือฉกฉวยงานของคนอื่นมาใช้ เพราะนั่นอาจหมายถึงต้อง “จอดำ” ทั้งสถานี

พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  พ.ศ.2551 มาตรา 64 บัญญัติว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อาจพิจารณาสักพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริง

(5) ผู้รับใบอนุญาตต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด เกี่ยวกับงานแพร่เสียง แพร่ภาพ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์

เมื่อเป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์ คือมีหลักฐานชัดเจน แม้ภายหลังผู้ละเมิดจะลบหลักฐานนั้นออกไปจากระบบคอมพิวเตอร์ ก็ต้องได้ความว่า มีการทำซ้ำ หรือดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรณีที่สถานีช่อง 3 , 8 และ 23 ละเมิดลิขสิทธิ์ข่าว “ลานนาโพสต์” เป็นการทำซ้ำ และเผยแพร่ต่อสาธารณชน หลักฐานปรากฏ

เพื่อให้ได้ความชัดขึ้น อาจมีข้อโต้แย้งว่า ข่าวประจำวัน ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งต้องอธิบายว่า ข่าวที่เป็นละเมิดลิขสิทธิ์ หมายถึงเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงทั่วไป ที่ไม่ได้นำมาเรียบเรียงใหม่ในฐานะที่เป็นงานวรรณกรรม  ข่าวที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ทั้ง 2 ชิ้น ไม่ใช่เหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงทั่วไป แต่เป็นเนื้อหาที่เรียบเรียงขึ้นใหม่

และหากกรณีปรากฏว่า วิธีปฏิบัติที่ผ่านมา มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน เป็นปกติ โดยไม่มีใครหวงกันลิขสิทธิ์ ถ้าเรื่องราวเช่นนี้มีจริง ก็ไม่มีเหตุที่จะตัดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่จะอ้างลิขสิทธิ์เหนืองานชิ้นนั้น และเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่รับรู้การกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย

การใช้สิทธิ์ปกป้องงานของลานนาโพสต์ครั้งนี้ มิใช่การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่เป็นการยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นสื่อโดยเฉพาะสื่อท้องถิ่น ที่ไม่ว่าจะเป็นสำนักไหน ใหญ่โตมาจากไหน  ก็ต้องให้การเคารพงานของคนอื่น และต้องรู้สึกละอายใจที่ฉกฉวยงานของคนอื่นไปใช้ โดยไม่ใช้สมองคิด


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1190 วันที่ 3 - 9 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์