วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ว่าด้วย‘สตริงเกอร์’ ชนชั้นนักข่าวสังกัดสื่อใหญ่

จำนวนผู้เข้าชม url and counting visits

นรัฐสภาอังกฤษนั้น  ประกอบด้วยฐานันดรศักดิ์ สาม หนึ่ง สภาขุนนาง สอง บรรพชิต พระราชาคณะ และสาม สภาผู้แทนราษฏร

วันหนึ่งมีการประชุมรัฐสภาอังกฤษ เอ็ดมันด์ เบิร์ก สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรคนหนึ่ง อภิปรายว่า

“ในขณะที่เราทั้งหลายเป็นฐานันดรใดฐานันดรหนึ่งทั้งสาม กำลังประชุมกันอยู่นี้ เราพึงคำนึงไว้ด้วยว่า บัดนี้ได้มีฐานันดรที่ 4 เกิดขึ้นแล้ว และฐานันดรนั้นกำลังมานั่งฟังการประชุมของเราอยู่ ณ ที่นี้ด้วย”

เขาพูด พร้อมกับชี้นิ้วไปยังกลุ่มคนหนังสือพิมพ์ ซึ่งเข้ามานั่งฟังการประชุม ตั้งแต่นั้นมา กลุ่มผุ้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ก็ถูกเรียกขานว่าเป็นฐานันดรสี่ ซึ่งหากพิเคราะห์ถ้อยคำ และบริบทของสังคมยุคนั้นแล้ว แท้จริงคำว่า “ฐานันดรสี่” อาจเป็นเพียงการประชดประเทียด มากกว่านิยมยกย่อง แต่ก็ทำให้เกิดความสำคัญผิดในคำๆนี้ มาจนถึงสังคมไทย

แน่นอนว่าอาชีพสื่อมวลชนเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ได้รับการยอมรับนับถือ และมีอิทธิพลอยู่บ้างสำหรับคนเลว คนชั่ว ที่กลัวสื่อจะเปิดโปงพฤติกรรมความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ความไม่สุจริต การทุจริตคอรัปชั่น หรือบรรดามิจฉาชีพต่างๆ แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้เกิดความสำคัญผิดว่า สื่อคืออภิสิทธิ์ชน ที่มีสิทธิมากกว่าคนอื่นๆในสังคมนี้ ความเชื่อเรื่องฐานันดรสี่ก็เป็นเหตุหนึ่ง

นอกจากประเด็นเรื่องอภิสิทธิ์ชนแล้ว ยังมีความหลงผิดในการแยกแบ่งความสำคัญของสื่อ วัดจากสถานะต่างๆ เช่นการอยู่ในสังกัดสื่อใหญ่ การแยกแบ่งชนชั้นในเชิงพื้นที่ ระหว่างสื่อเมืองกรุง กับสื่อบ้านนอก คนทำสื่อเมืองกรุงบางคนยังมีทัศนคติเหยียดนักข่าวบ้านนอก ไม่ต่างไปจากการเหยียดผิว ทั้งที่ได้อาศัยประโยชน์จากนักข่าวในพื้นที่

“จอกอ” อยู่บนเส้นทางคนข่าวเมืองกรุงมา 40 ปี บอกได้เลยว่า คุณภาพคนข่าวเมืองกรุง บ้านนอก ไม่แตกต่างกัน  ยิ่งไปกว่านั้น คนข่าวเมืองกรุงหลายคน ยังมีคุณภาพต่ำกว่าคนข่าวบ้านนอกหลายเท่า ไม่เพียงคุณภาพของเนื้อหาข่าว แต่จิตสำนึกในการทำงานที่มีหลักการ มีจริยธรรมก็ต่ำกว่าหลายเท่านักด้วย

มิฉะนั้น เราคงไม่มีโอกาสได้เห็นหมายเลขหนึ่งขององค์กรสื่อใหญ่ องค์กรหนึ่ง ที่มีประวัติศาสตร์การละเมิดจริยธรรมขั้นร้ายแรง  ขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กร โดยที่คนข่าวทั้งหลายภายใต้ประมุขท่านนี้ ก็ไม่ได้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจอะไร ยังทำหน้าที่ในการประกาศข่าว ทำข่าว เล่าข่าว ชี้นิ้วถูกผิดให้สังคม แต่ลืมมองดูตัวเอง

เป็นความอัปยศเรื่องหนึ่งในวงการสื่อ

นั่นก็เป็นปัญหาความหลงผิดของสื่อในโครงสร้างใหญ่ ย่อยลงมาในระดับท้องถิ่น เราได้เห็นปรากฏการณ์เหยียดผิว ไม่ต่างไปจากความหลงผิดเรื่องสื่อใหญ่ สื่อเล็ก เช่นเดียวกัน

เพราะสื่อท้องถิ่น ที่เรียกว่าสตริงเกอร์ ( Stringer) หรือคนข่าวที่ส่งข่าวจากพื้นที่ ซึ่งมีทั้งที่ทำสื่อท้องถิ่นควบคู่กันไป หรือยึดอาชีพสตริงเกอร์ ส่งข่าวให้สื่อส่วนกลางเป็นหลัก ยังมีความคิด ยังมีทัศนคติคับแคบ ดูแคลนคนข่าวท้องถิ่น คล้ายคนเหล่านั้นไม่ได้มาจากกำพืดเดียวกับตัวเอง

แม้จะสังกัดสื่อใหญ่ แต่หลักคิด วิธีทำงานก็ไม่ได้พัฒนา ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องเก่าๆ ร้ายไปกว่านั้น คือการลอกข่าวไปส่งต้นสังกัด โดยที่ต้นสังกัดยังสำคัญผิดว่า นักข่าวทำมาเอง ใช้งานอันละเมิดลิขสิทธิ์นั้นอย่างเอิกเกริก โดยไม่เฉลียวใจ หรือฉุกคิดว่าถูกหลอก

จะเป็นบ้านนอก เมืองกรุง จะเป็นสตริงเกอร์สื่อเมืองกรุง หรือคนทำสื่อท้องถิ่นเป็นหลัก ความสำคัญอยู่ที่เนื้อหา จิตสำนึกของคนข่าวที่มีความรับผิดชอบ ไม่ได้อยู่ที่สถานะ อันทำให้หลงผิดว่าเป็นสถานะที่สูงส่งเกินใคร จนกระทั่งเหยียดแคลน ดูหมิ่นและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น  

ความรู้สึกลำพอง สำคัญว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น อาจทำให้มีความสุขในใจ เป็นมายาคติในการปลอบประโลมใจ และลดปมด้อยของตัวเองชนิดหนึ่ง แต่ในโลกของความเป็นจริง นี่กลับเป็นความน่าสงสาร เห็นใจ และน่าเวทนา

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1192 วันที่ 17 - 23 สิงหาคม 2561)
Share:

1 ความคิดเห็น:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์