วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ข้อกฎหมายเรื่อง‘ยิ่งจริงยิงผิด’ เรื่องที่สื่อมวลชนควรรู้

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

ถ้ามีคำนำหน้าว่า “บรรณาธิการ” ไม่มากก็น้อย ก็คงคุ้นเคยกับความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้กระทั่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บ้านนอก อย่าง “ลานนาโพสต์” ก็ยังมีคดีหมิ่นประมาทมาทักทาย นี่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ และไม่จำเป็นต้องไปหาวิธีการที่จะเขียนข่าวอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้องให้เสียเวลา  เพราะจะเขียนอย่างไร ถ้าเขาจะฟ้อง...เขาก็ฟ้องอยู่วันยังค่ำ

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อถูกฟ้องแล้ว จะต่อสู้คดีอย่างไรต่างหาก ซึ่งการที่จะมั่นใจได้ว่าจะต่อสู้คดีได้หรือไม่ ก็ต้องชัดเจนว่า ได้รายงานข่าวไปบนพื้นฐานหลักการข้อเท็จจริง ถูกต้อง และครบถ้วนหรือไม่ อีกทั้งมีความเข้าใจเรื่องกฎหมายอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะแง่มุมของกฎหมาย ที่ฟังดูอาจสงสัย เช่น คำว่ายิ่งจริงยิ่งผิด เพราะความผิดฐานหมิ่นประมาท นั่นคือการเขียน การพูดเรื่องไม่จริง แต่หากเป็นความจริงแล้ว จะผิดได้อย่างไร

ความผิดฐานหมิ่นประมาท บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา โดยมีการหมิ่นประมาทในหลายลักษณะ เช่น หมิ่นประมาททั่วไป (มาตรา 326) หมิ่นประมาทคนตาย (มาตรา 327) หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ใส่ความ เป็นเหตุเพิ่มโทษ ซึ่งเป็นความผิดที่สื่อมวลชนมักถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่เสมอ ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า (มาตรา 393)

ดูหมิ่นซึ่งมีโทษหนักขึ้น คือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) ความผิดฐานหมิ่นประมาททั่วไป และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หากมีกรณีเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศ หรือทางทำมาหาได้ และพิสูจน์ความเสียหายได้ ผู้กระทำความผิดยังต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหาย ให้กับโจทก์ ฐานละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

ความรับผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น จะต้องครบองค์ประกอบความผิด คือ (1).จะต้องมีการใส่ความ คือการยืนยันข้อเท็จจริงที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง (2) เป็นการใส่ความผู้อื่น คำว่าผู้อื่น หมายถึงผู้ที่ถูกกล่าวอ้างถึง หรือผู้เสียหาย และ(3) เป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม คำว่า “บุคคลที่สาม” หมายถึง บุคคลที่ได้ทราบข้อความนั้น โดยมิใช่ผู้กล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาท หรือผู้เสียหาย (4)เป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

คือฟังได้ว่าอาจทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง คำว่าน่าจะ เป็นการคาดคะเน แม้ผู้ฟังถ้อยคำนั้นอาจไม่รู้สึกถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือการใส่ความจะไม่เกิดผลจริงจัง ก็ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ และ (5) ผู้ใส่ความจะต้องมี “เจตนา” คือเจตนาที่จะให้บุคคลที่สาม ทราบข้อความนั้นด้วย
คำว่า ใส่ความผู้อื่น ต่อบุคคลที่สาม รวมถึงกรณีการส่งข้อความ หรือสนทนาในกลุ่มไลน์ เช่น การนำคลิปเสียงในกลุ่มไลน์มาเผยแพร่ ผู้กล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาท หรือผู้นำคลิปนั้นมาเผยแพร่ก็อาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย  

ในบางกรณี ถึงแม้ครบองค์ประกอบความผิด แต่มีเหตุยกเว้นความผิด และมีเหตุยกเว้นโทษ

การยกเว้นความผิดหมายถึง การที่กฎหมายกำหนดเหตุยกเว้นความผิดซึ่งทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ใน 4 กรณี ดังนี้

หากมีการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต

1. เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
2.ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่
3.ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ
4.ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุม

ตัวอย่างเช่น การวิพากษ์วิจารณ์ “บุคคลสาธารณะ” เช่น นักการเมือง ดารานักแสดง ซึ่งหลักการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลน้อยกว่าบุคคลทั่วไป หรือการรายงานข่าวผลการตรวจสอบอาหาร ของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค การรายงานข่าว การประชุมสัมมนา เรื่องเครื่องดื่มบำรุงกำลังที่ไม่มีสารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย

สำหรับเหตุยกเว้นโทษ หมายถึง ผู้กระทำต้องมีความรับผิดตามกฎหมาย และไม่มีเหตุยกเว้นความผิด แต่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ เพราะมีกฎหมายยกเว้นโทษไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 330

ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่า ข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้น เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

บทบัญญัติข้อนี้ หมายถึง การที่ผู้กระทำพิสูจน์ได้ว่า ข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ซึ่งก็ควรจะเป็นความจริงที่เป็นผลประโยชน์สาธารณะ เช่น การพิสูจน์กรณีทุจริต คอรัปชั่นต่างๆ แต่กฎหมายไม่ให้พิสูจน์ หากเป็นการพิสูจน์ในเรื่องที่เป็นส่วนตัว และไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น การพิสูจน์เรื่องชู้สาว ถึงแม้พิสูจน์ความจริงได้ ผู้กระทำก็ยังต้องรับโทษ ตามหลักการสำคัญที่กล่าวกันว่า “ยิ่งจริงยิ่งผิด”

ตัวอย่างเช่น สื่อมวลชนเสนอข่าวและภาพ นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง นั่งอยู่กับเด็กหญิง ในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนเป็นการทำพิธีสมรสตามประเพณี มีการผูกข้อไม้ข้อมือกัน ต่อมานักการเมืองคนดังกล่าวฟ้องสื่อมวลชน ฐานหมิ่นประมาท สื่อมวลชนจะพิสูจน์ความจริงว่านักการเมืองคนนั้น ทำการสมรสกับเด็กผู้หญิงจริง เป็นเรื่องที่แม้จะพิสูจน์ได้ สื่อมวลชนก็ไม่พ้นความรับผิด เพราะเป็นการพิสูจน์ในเรื่องส่วนตัว และไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

เรื่องยิ่งจริงยิ่งผิด จึงมิใช่เรื่องซับซ้อน แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจว่า กฎหมายเขาไม่ต้องการให้ใครไปก้าวก่าย หรือยุ่งวุ่นวายกับเรื่องส่วนตัวของคนอื่นเท่านั้นเอง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1191 วันที่ 10 - 16 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์