วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

เกษตรชนเผ่า ชูพืชผลเมืองงาว พลิกผืนดินหว่านพันธุ์ใหม่

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

แม้ประเทศไทยและทั่วโลกก้าวล้ำจะมาถึงยุค 4.0 หากแต่เรื่องของอาหารการกิน พฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้กลับถอยหลังไปสู่ความต้องการอาหารจากธรรมชาติที่อาศัยภูมิปัญญาจากคนท้องถิ่นเป็นตัวแปรด้านเกษตรกรรมทั้งแนวอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย  


ชนเผ่าอาข่ากว่า 80 ครัวเรือน ที่หมู่บ้านแม่คำหล้า ตำบลบ้านร้อง อำเภองาว เป็นเขตภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลราว 900 เมตร แต่ก็จัดได้ว่าเป็นพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงยากลำบาก  เพราะถนนหนทางยังไม่ดี แต่ชนเผ่าที่นี่ผ่านการพัฒนาตัวเองจากความยากจนมาสู่วิถีชีวิตที่พอเพียงจากอาชีพเกษตรกรรม และกำลังจะก้าวไปสู่การเป็นชุมชนที่พร้อมจะเป็นชุมชนเศรษฐกิจบนพื้นที่สูงที่เคยมีรายได้หลักจากการทำไร่ข้าวโพด ข้าวไร่ และปลูกลิ้นจี่สายพันธุ์ “ฮงอวย” มาทดลองปลูกส้มเขียวหวานสายน้ำผึ้ง บ้วย ท้อ พลับ อโวคาโด เงาะ มะม่วงและใบชา กาแฟอาราบิก้า แซมตามพื้นที่ไหล่เขาและในครัวเรือน ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้ผลผลิตคุณภาพดีมีความพร้อมขอให้ทางจังหวัดสนับสนุนต้นพันธุ์ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่มีเป้าหมายตลาดเพียงแค่ขายในจังหวัดลำปางและพะเยาก็เพียงพอแก่การสร้างอาชีพและรายได้ทดแทนการทำพืชไร่


หัสรินทร์  เมทู  เกษตรกรคนรุ่นใหม่ ลูกหลานชาวอาข่า ที่เรียนจบด้านเกษตรมาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมีประสบการณ์จากการทำงานด้านเกษตรในญี่ปุ่นมามาช่วยถ่ายทอดเทคนิคเกษตรอินทรีย์วิถีปลอดสารเคมี ให้แก่พี่น้องอาข่า เล่าว่า แม้พวกเขาจะมีอุปสรรคเรื่องเส้นทางการเข้าออกหมู่บ้าน แต่ก็มีความได้เปรียบเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เพื่อการเกษตรซึ่งควบคุมให้ปลอดสารเคมีได้ง่าย โดยการปรับเปลี่ยนแนวคิดไปสู่เกษตรอินทรีย์ มีตัวอย่างผลผลิตเชิงคุณภาพเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ทั้งนี้เขาได้ร่วมกับญาติในครอบครัว ปลูกอโวคาโดปลอดเคมี 100 % และนำผลผลิตไปขอรับรองมาตรฐานเพื่อผลต่อการเชื่อมโยงกับตลาดสากล เช่น ขายเข้าห้างสรรพสินค้า กลุ่มตลาดส่งออก และตลาดออนไลน์ ในยุค 4.0  

ห่างกันไม่ไกลนัก ชุมชนชาวกระเหรี่ยง หรือ “ปกาเกอะญอ” และชาว “อาข่า” เป็นชุมชนเก่าแก่กว่า 113 ปี มีอัตลักษณ์เรื่องวิถีทำกินที่ดูแลรักษาป่า เพราะที่นี่เป็นหมู่บ้านติดป่าสงวน การเกษตรกรรมยังมีความเป็นวิถีชนเผ่าอยู่มาก ชาวบ้านมีรายได้จากไผ่ในป่าเป็นหลัก ที่นี่จึงเป็นแหล่งผลิตหน่อไม้ดองธรรมชาติขายส่งไปยังตลาดพื้นราบที่สำคัญ


สิ่งแปลกใหม่ของการเกษตรบ้านแม่ฮ่าง คือการเรียนรู้และทดลองทำเกษตรอินทรีย์ ตามแนวทาง “สวนเกษตรขั้นบันได” ของ อาจารย์ยักษ์” วิวัฒน์ ศัลยกำธร มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ด้วยการปลูกพืชผสมผสานที่สามารถปลูกได้ในสภาพอากาศบนพื้นที่สูง โดยปลูกไม้ผล และพืชเศรษฐกิจ ผักสวนครัว 21 ชนิด โดยทำแปลงปลูกเป็นขั้นบันไดตามไหล่เขา

ติ่งสมุทร  ศิราไพบูรณ์พร หนึ่งในเกษตรกรชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ฮ่าง บอกว่า หลังจากได้ร่วมโครงการกสิกรรมธรรมชาติ กับ อ.ยักษ์ ตนได้ปรับพื้นที่ไร่ข้าวโพดมาเป็นสวนแบบขั้นบันได ทดลองปลูกพืชผลทุกชนิดในพื้นที่ 2  ไร่ มาเป็นเวลา 4 ปี ขณะนี้เริ่มออกดอกผล เก็บเกี่ยวได้บางส่วนและยังมีความต้องการหาพันธุ์พืชผลเศรษฐกิจมาปลูกขยายผลออกไปให้เต็มพื้นที่ 21 ไร่ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า


อรุณ เยละ ผู้ใหญ่บ้านแม่ฮ่าง บอกว่า หลังจากที่ชาวบ้านได้เรียนรู้การทำเกษตรขั้นบันได และการทำเกษตรตามศาสตร์พระราชา ทำให้ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนมีความตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรไปสู่การทำเกษตรผสมผสานและปลูกพืชผลเศรษฐกิจใหม่ๆที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น มีเป้าหมายพัฒนาไปสู่การเป็นหมู่บ้านที่มีผลผลิตเกษตรคุณภาพ เชื่อมโยงกับการพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยว ดึงดูดผู้คนเข้ามา ท่องเที่ยวพักแรงกินอาหารจากธรรมชาติ ชมวิถีชนเผ่า เพราะที่หมู่บ้านแม่ฮ่างยังมีการทอผ้ากระเหรี่ยงจาก “กี่เอว” ให้ชม

“หลังจากที่ท่านผู้ว่าฯมาเยี่ยมเยือนรับฟังปัญหาความต้องการ ชาวบ้านเรามีข้อสรุปในการขอรับการสนับสนุนต้นพันธุ์ไผ่ซางหม่น และพืชผลเมืองหนาว เชื่อว่าในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้านี้ บ้านแม่ฮ่างจะเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของเส้นทางการเรียนรู้วิถีเกษตรธรรมชาติ และการท่องเที่ยวชุมชนที่ดึงดูดผู้คนเฉพาะกลุ่มที่สนใจวิถีชนเผ่า วิถีธรรมชาติ ในอนาคต”  ผู้ใหญ่บ้านแม่ฮ่าง กล่าว


ขณะที่หมู่บ้านบ่อสี่เหลี่ยม ตำบลปงเตา ดินแดนแห่งชาวเผ่าเมี่ยน(เย้า) ที่กำลังพัฒนาตัวเองจากเกษตรพืชไร่ มาปลูกกาแฟ สามารถเก็บเกี่ยวและแปรรูปโดยกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มกาแฟบ่อสี่เหลี่ยม เพื่อการแปรรูปกาแฟคั่ว เพื่อเป้าหมายขายส่งวงจรธุรกิจเมล็ดกาแฟคั่วในภาคเหนือในปีนี้ ขณะที่ชาวเมี่ยนที่นี่ กำลังปลูกส้มเขียวหวานอินทรีย์ และมีความต้องการปลูกผลไม้ที่เชื่อมโยงกับตลาดเมล็ดกาแฟได้อย่างเช่น แมคคาเดเมีย และใบชาอัสสัม เพื่อขายส่งให้กับโรงงานแปรรูปใบชาที่ แม่ขะจาน จังหวัดเชียงราย

นับเป็นความก้าวหน้าของกลุ่มชนเผ่า พื้นที่อำเภองาว ที่กำลังก้าวไปสู่การเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและแหล่งสร้างอาหารสุขภาพจากผลไม้ มาสู่ท้องตลาดในพื้นราบให้เป็นสินค้าช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงเมืองงาวแบบไม่ธรรมดา



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1196 วันที่ 14 - 20 กันยายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์