วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กู่เจ้าย่าสุตา ความงามที่น่าฉงน

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

หากไม่ใช่เย็นวันศุกร์ ที่ถนนวัฒนธรรม หรือถนนวังเหนือ จะถูกขับกล่อมด้วยเสียงสะล้อซอซึงและห้อมล้อมด้วยผู้คนคึกคักในกาดหมั้ว ถนนวัฒนธรรมก็เป็นถนนเส้นหนึ่งที่ค่อนข้างเงียบสงบ เป็นบรรยากาศที่หนุนเสริมความขรึมขลังให้กับโบราณสถานแห่งหนึ่งริมถนนสายนี้ได้ไม่น้อย

โบราณสถานแห่งนี้ คือ ซุ้มประตูโขงวัดกากแก้ว หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า กู่เจ้าย่าสุตา ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ก่อนปี พ.ศ. 2553 ต้องยอมรับว่าที่นี่ไม่สวยงามเช่นวันนี้ ย้อนไปไกลกว่านั้น เราคงจำได้ว่า กู่เจ้าย่าสุตาเป็นเพียงโบราณสถานที่ไร้การเหลียวแลและรกร้าง กระทั่งเทศบาลนครลำปางร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน จัดทำโครงการขุดค้น ขุดแต่ง บริเวณกู่เจ้าย่าสุตา กระทั่งพบโบราณวัตถุหลายชิ้น ที่สำคัญก็คือ มีการเปิดหน้าดินแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างของฐานวิหารวัดกากแก้วโบราณ ตลอดจนมีการจัดภูมิทัศน์ได้อย่างน่าสนใจ ทำให้โบราณสถานแห่งนี้โดดเด่นสวยงามขึ้นอย่างชนิดผิดหูผิดตา

ภายใต้ร่มเงาของต้นโพธิ์ใหญ่ มีทางเดินชมโดยรอบ ขณะเดียวกันก็จัดวางที่นั่งไว้เป็นระยะ การได้ก้าวผ่านซุ้มประตูโขงเข้าไปหยุดยืนอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง ก็ราวกับเราจะได้ย้อนไปในอดีตไกลโพ้น

วัดและโบราณสถานร้างในเขตกำแพงเมืองเขลางค์รุ่นที่ 1 จากหลักฐานต่าง ๆ พบว่ามีอยู่ไม่น้อย แต่ทุกวันนี้หลงเหลือเพียงไม่กี่แห่ง หนึ่งในนั้นคือ ซุ้มประตูโขงวัดกากแก้ว (กู่เจ้าย่าสุตา) แม้เราจะสืบค้นไม่ได้ว่า เจ้าย่าสุตาคือใคร แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นผู้นำสตรีในนิทานปรัมปรา ซึ่งอาจถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นองค์พุทธศาสนูปถัมภ์ที่สำคัญเช่นเดียวกับนางสุชาดา

โดยทั่วไป ซุ้มประตูโขงจะประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมรับฐานปัทมยกเก็จ ตัวเรือนธาตุรูปสี่เหลี่ยมยกเก็จตามส่วนของฐาน มีการเจาะช่องทะลุเป็นทางเข้าไปยังเขตพุทธาวาสในช่วงฐานและตัวเรือนธาตุ ซุ้มทางเข้าเป็นวงโค้ง ส่วนยอดเป็นหลังคาบัวถลา ต่อด้วยชั้นบัวลดหลั่นกันขึ้นไป ยอดบนสุดมักเป็นรูปดอกบัวตูม ทั้งนี้ สันนิษฐานว่า โขง หมายถึง โค้ง ซึ่งจะเห็นได้จากวงโค้งกรอบซุ้มประตูรูปครึ่งวงกลม เชื่อกันว่า ซุ้มประตูโขงมีพัฒนาการมาจากทวารโตรณะของศิลปะอินเดีย เป็นเครื่องหมายบอกทางเข้าพุทธสถาน โดยได้รับการถ่ายทอดและพัฒนารูปแบบจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละท้องถิ่น

ซุ้มประตูโขงถือเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งก่อสร้างที่พุทธศาสนิกชนทุกคนต้องก้าวผ่านเมื่อเข้าไปยังเขตพุทธาวาส ในอดีตนิยมสร้างซุ้มประตูโขงก็เพื่อเป็นประตูกั้นขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แสดงถึงความสำคัญของพื้นที่อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นเขตพุทธาวาส เสมือนเครื่องเตือนสติให้คนต้องปรับเปลี่ยนกิริยา วาจา และใจ ให้อยู่ในความสงบสำรวม

สำหรับซุ้มประตูโขงวัดกากแก้ว (กู่เจ้าย่าสุตา) นี้ ถูกสร้างขึ้นในช่วงยุคทองของล้านนา อันเป็นช่วงประมาณปี พ.ศ. 1898-2100 รัชสมัยพระยากือนาจนถึงรัชสมัยพระเมืองแก้ว ทั้งนี้ สันนิษฐานว่า ซุ้มประตูโขงวัดกากแก้ว (กู่เจ้าย่าสุตา) สร้างขึ้นตอนปลายรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช

ซุ้มประตูโขงวัดกากแก้ว (กู่เจ้าย่าสุตา) เป็นซุ้มประตูก่ออิฐ ประดับลายปูนปั้นเหนือซุ้ม ฝีมือสกุลช่างล้านนาราวพุทธศตวรรษที่ 21 ที่น่าสนใจก็คือ นักวิชาการสันนิษฐานว่า มีอายุเก่าแก่กว่าซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวงเสียอีก แม้จะไม่สมบูรณ์แบบเทียบเท่าก็ตาม ทว่าก็ยังคงเหลือความสมบูรณ์ของลวดลายต่าง ๆ ไว้ให้ชื่นชมได้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปทรงและลวดลายของงานปูนปั้นที่ประดับแต่ละมุมเสาด้วยลายเทวดา นับว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสวยงามมาก นอกจากนี้ รูปแบบการวางโครงสร้างของซุ้มหลังนี้ ยังถือว่ามีลักษณะพิเศษ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาศิลปกรรมในอดีตของล้านนาที่ค่อนข้างหายากแล้วในปัจจุบัน

แม้เราจะไม่รู้ความเป็นมาที่แน่ชัดของวัดกากแก้ว หรือกู่เจ้าย่าสุตา แต่บางครั้ง การเหลือเค้ารอยแห่งปริศนาไว้บ้าง มันคือการเว้นที่ว่างไว้ให้ใครสักคนได้จินตนาการนั่นเอง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1199 วันที่ 5 - 11 ตุลาคม 2561 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์