วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ระดมบริษัททัวร์ ถกเทียว ลป. ปีหน้า 2ล้านคน แม่เมาะครบวงจรชี้ผู้นำปัญหาใหญ่

จำนวผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ลานนาฟอรั่ม เสวนาท่องเที่ยวชุมชน

เมื่อวันที่ 28 พ.ย.61 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ได้จัดกิจกรรม ลานนาฟอรั่ม ระดมสมองมองท่องเที่ยวลำปาง ลำปางปลายทางฝัน ในหัวข้อ ท่องเที่ยววิถีชุมชนยั่งยืน โอกาสและความท้าทายของลำปาง โดยมีผู้ร่วมเสวนา 5 คน คือ นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง  นายอนันต์ สีแดง ผอ.สำนักงาน ททท.ลำปาง   น.ส.ชญากร วงค์อรรถะ รองนายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ นางอนงค์ศรี ทรายแก่น ผู้ประกอบการบ้านพักโฮมสเตย์บ้านจำปุย อ.แม่เมาะ และ ร.ต.ชัย วงศ์ตระกูล ประธานชมรมท่องเที่ยวโดยชุมชนจัวหวัดลำปาง พร้อมทั้งมีผู้ร่วมรับกิจกรรมประมาณ 100 คน

นายอนันต์ สีแดง  ผอ.สำนักงาน ททท.ลำปาง ได้กล่าวถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวของลำปางว่า  จังหวัดลำปางโตตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา ตามโครงการ 12 เมืองต้องห้ามพลาด ได้เปิดตัวจังหวัดลำปาง และจังหวัดอื่นๆที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ลำปางเป็นเมืองดาวรุ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง  กรมการท่องเที่ยวได้ทำสถิติไว้ สิ่งเหล่านี้จะบ่งบอกในเรื่องของการเติบโต รายได้ และจำนวนคนที่เข้ามาในจังหวัด  ปัจจุบันห้องพักอย่างไม่เป็นทางการ 2,450 ห้อง อัตราการพักเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นช่วงพีคจะอยู่ที่ 85 เปอร์เซ็นต์ และเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ช่วงใกล้สิ้นปี 

ถ้าดูจากปี 60 มีรายได้เฉลี่ย 3,700 กว่าล้านบาท นักท่องเที่ยว 1.3 คน  เพิ่มจากปี 59 รายได้อยู่ที่ 2,900 กว่าล้าน นักท่องเที่ยว 9 แสนเศษ  ส่วนหนึ่งมาจากโครงการท่องเที่ยวเมืองรอง ทำให้นักท่องเที่ยวจากจังหวัดเชียงใหม่เข้ามา และจะเห็นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติโตขึ้น จากเดิม 15-20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยยังไม่ลดลง  นักท่องเที่ยวชาวจีนเริ่มเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่มาลำปางมากขึ้น  ด้านการท่องเที่ยวลำปางถือว่าเป็นเมืองดาวรุ่ง และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว

ผอ.สำนักงาน ททท.ลำปาง กล่าวต่อไปว่า ด้านการท่องเที่ยวชุมชน ทาง ททท.ลำปาง มีแผนมาตั้งแต่ปี 60  ซึ่งจะรับผิดชอบอยู่ 2 จังหวัด คือจังหวัดลำปางกับจังหวัดลำพูน  เราพยายามเปิดแหล่งพื้นที่ใหม่ ผนวกเส้นทางที่อยู่ชุมชน จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว การกระจายพื้นที่ กระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน  เช่น ชุมชนป่าเหมี้ยง ชุมชนท่ามะโอ ชุมชนบ้านสามขา ชุมชนศาลาบัวบก เป็นต้น  ปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการกับ ททท.สำนักงานใหญ่คือ ชุมชนท่ามะโอที่ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 ของชุมชนทั่วประเทศ

ด้านนายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  ตามวิสัยทัศน์ของผู้ว่าฯ คือ ลำปางปลายทางฝัน  ซึ่งถ้าหากดูถึงการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามามี 35 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งมาที่จังหวัดลำปางได้ 1.3 ล้านคน  แบ่งเงินมาเข้าจังหวัดได้ 3,700 ล้านบาท ถ้าเทียบกับเชียงใหม่ที่มีนักท่องเที่ยวปีละ 10 ล้านคน เงินสะพัน 90,000 ล้านบาท ทำให้ดูเหมือนว่าลำปางยังอยู่ปลายทางฝันไปอีกนาน  แต่ในปี 62 จังหวัดได้ร่วมกับทีมงาน ตั้งเป้าว่าจะต้องดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาให้ได้ 2 ล้านคน เริ่มจากการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบอินเตอร์เน็ต มีระบบการจ่ายเงินแบบ epay  แต่การท่องเที่ยวลักษณะนี้จะทำให้ภาคธุรกิจได้ประโยชน์ จะไม่ลงถึงชาวบ้านโดยตรง

เราจะขอแบ่งนักท่องเที่ยวจากเชียงใหม่สัก 2 ล้านให้มาเที่ยวนอนลำปาง 1 คืน โดยการเชิญบริษัทนำเที่ยวจากเชียงใหม่มาพูดคุย มาดูโปรแกรมการท่องเที่ยวของลำปาง ภายใน 1 วันไปที่ไหนได้บ้าง รวมทั้งเชิญผู้ประกอบการลำปางมาคุยกัน ถ้าหากบริษัทนำเที่ยวพาลูกทัวร์มาขอลดราคาให้ 2-3 เปอร์เซ็นต์ให้กับบริษัททัวร์ด้วย ท่องเที่ยวชุมชนจะเข้ามามีส่วน ถ้าชุมชนไหนมีดีก็ดึงมาเข้าโปรแกรมของจังหวัด  หมู่บ้านที่อยากเข้าโปรแกรม ต้องไปหาเอกลักษณ์และพัฒนาตัวเอง

อีกสิ่งที่จังหวัดจะสนับสนุนคือ เรื่องการตลาด ชุมชนท่องเที่ยวสร้างเป็นแต่ขาดการประชาสัมพันธ์ ต้องรู้จักการจัดทำแผน มีเป้าหมาย มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ภาคเอกชนและราชการจะมีส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าว

ร.ต.ชัย  วงศ์ตระกูล นายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชน และประธานโฮมสเตย์บ้านสามขา กล่าวว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นการนำโฮมสเตย์แต่ละชุมชนมารวมกัน สร้างที่อยู่ที่ยืนให้แก่กัน ซึ่งสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนก็คือชุมชน การพัฒนาต่างๆถ้าไม่เกิดจากชุมชนก็จะไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุม แต่ละคนจะมีข้อดีของแต่ละแห่ง  บ้านสามขาน้อมนำพระราชดำริของในหลวง ร.9  ห้วยฮ่องไคร้ มาทดลองทำฟื้นฟูป่าและน้ำให้กลับมา  หมู่บ้านมีความรักสามัคคี ไม่เคยแย่งผู้นำกัน ไม่มีพรรค หมู่บ้านที่ทำให้ชุมชนไม่เข้มแข็งคือการมอบอำนาจให้กับผู้ใหญ่บ้านมากเกินไป  ที่บ้านสามขาจะมีการแต่งตั้งกรรมการกองทุนต่างๆโดยชาวบ้านเอง โดยผู้ใหญ่บ้านจะเป็นเพียงผู้คอยดูแลเท่านั้น  ชาวบ้านมีการบริหารจัดการกองทุนของตัวเอง โดยที่ไม่เคยมีหนี้เสีย และมีกฎกติกาของหมู่บ้านชัดเจน เช่น การห้ามใช้ยาฆ่าแมลงในหมู่บ้าน หากมาทานผักที่บ้านสามขาจะไม่เกิดสารพิษแน่นอน  หากมาบ้านสามขาจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน  ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชน ถ้าจะยั่งยืนต้องแบ่งสันปันส่วนให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์เท่าเทียมกัน  ชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง โดยอาศัยหน่วยงานนอกเข้ามาเป็นภาคีเครือข่าย

น.ส.ชยากร วงศ์อรรถะ  รองนายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ กล่าวว่า ได้เริ่มทำเรื่องวิถีชุมชนมาได้ 6 ปี จะเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ ซึ่งจัดโดย กฟผ.แม่เมาะ จะมีทีมงานไตรภาคีมาร่วมกันจัด โดยชุมชนบ้านเมาะหลวงเป็นชุมชนขนาดใหญ่และโชคดีที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม มีสินค้าที่น่าสนใจ คือน้ำพริกแม่เมาะ จึงได้มีการนำเรื่องราวต่างๆมาเขียนเรื่องราวของชุมชน ใช้โอกาสนี้มาประยุกต์ใช้ในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เริ่มด้วยกิจกรรมพาแอ่วชุมชนแม่เมาะเล็กๆก่อน และขยับขึ้นมาเป็นทริปท่องเที่ยวเล็กๆ เริ่มจากศาลหลักเมืองอำเภอซึ่งเป็น 1 ใน 3 แห่งของประเทศ  สร้างฐานให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น การตัดตุง การทำโคม การทำช้างผ้า ฯลฯ  และจัดอาหารและขนมที่คนในชุมชนผลิตขึ้นเองให้นักท่องเที่ยวได้ลองชิม  การเริ่มกิจกรรมตรงนี้เป็นส่วนต่อยอดให้มีหลายคณะติดต่อเข้ามาศึกษาดูงานในชุมชนเมาะหลวง 5-6 คณะต่อเดือน  ทำให้ชุมชนมีรายได้ รวมทั้งได้ถ่ายทอดการใช้วิถีชีวิตโดยไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง  กระทั่งได้รับเลือกเป็นหมู่บ้านวิถีชุมชน 1 ใน 4 ของจังหวัดลำปาง และได้งบประมาณจากนวัตวิถีเข้ามาช่วยเติมเต็มอีกส่วนหนึ่งด้วย

การทำท่องเที่ยวต้องมาจากใจของชุมชน รวมทั้งเครือข่ายที่ดีด้วย อยากให้จังหวัดมีการเชื่อมโยงและส่งเสริมสนับสนุนต่อยอด สิ่งสำคัญคือชุมชนต้องมีความกระตือรือร้น เปิดโอกาสให้ตัวเอง รองนายกเทศมนตรี กล่าว
นางอนงค์ศรี  ทรายแก่น  กล่าวว่า มีความกังวลในใจว่า ถ้าจัดเวทีเสวนาเลิกไปแล้วก็เหมือนเดิม ครั้งหน้าก็ต้องเริ่มคุยกันใหม่ มีความคิดว่าสิ่งไหนที่ควรทำให้นำมาปักธงร่วมกัน หาทิศทางร่วมกัน ที่สำคัญคือผู้นำชุมชน เทศบาล หรือ อบต. ควรมีความเข้าใจเรื่องนโยบายการท่องเที่ยว บางคนอาจไม่มีปัจจัยในการขับเคลื่อน อีกส่วนคือผู้นำฝ่ายปกครอง คือผู้ใหญ่บ้าน กำนัน การที่มีประชุมประชาคมแต่ละครั้งแทบจะไม่เห็นเรื่องการท่องเที่ยว นอกจากว่าจะมีคนที่เป็นอาสาสมัคร  ผู้นำหลายคนคิดว่าต้องแต่งตั้งตัวเองเป็นประธานในหลายเวที แต่เมื่อมีการประชุมชนกันก็จะไม่สามารถแยกตัวได้ เพราะฉะนั้นมีความคิดว่าผู้ใหญ่บ้านอย่ามาเป็นผู้นำในด้านอื่นๆเลย เพราะถ้ามารวบหมดก็จะไปต่อไม่ได้ และไม่มีการมอบอำนาจให้คนอื่นไปแทน อย่างตนเองพูดเลยว่าประธานโฮมสเตย์จะเป็นเอง คนอื่นไม่ต้องมาสมัคร   ต้องมีความชัดเจน 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพส ฉบับที่ 1207 วันที่ 30 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม 2561)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์