วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ประสานเสียงท่องเที่ยวชุมชน การตลาดนำ-สร้างอัตลักษณ์

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ในวาระแห่งชาติของการก้าวข้ามรูปแบบพัฒนาด้านการท่องเที่ยวประเทศไทย จากเน้นแนวธุรกิจ ย้อนกลับมาเป็นการขายบรรยากาศและวิถีพื้นบ้าน ให้คนต่างถิ่นต่างที่ทั้งในและต่างประเทศไปเยือน เพื่อผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนรายได้เข้าถึงระดับหมู่บ้าน ชุมชนท้องถิ่น

หากแต่การเริ่มต้นของชุมชนที่จะก้าวสู่วงการท่องเที่ยวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้หน่วยงานท่องเที่ยวหลายองค์กรจะนิยามว่า “ต้องเริ่มจากชุมชน” เพราะคำนิยามของการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community – Based Tourism – CBT) หรือ แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน (Village Tourism) ถือเป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชาวบ้านในการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว

เช่นเดียวกับที่ ความเห็นของ อนันต์ สีแดง ผอ.ททท.ลำปาง พูดในเวทีเสวนา ลานนาฟอรัม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เรื่อง "ท่องเที่ยววิถีชุมชนยั่งยืน โอกาสและความท้าทายของลำปาง" หลักการของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ต้องเริ่มต้นโดยคนในชุมชน

ขณะที่ คนในกลุ่มที่เริ่มต้นเป็นเจ้าของการให้บริการท่องเที่ยวในชุมชนที่มาร่วมเวทีเสวนา ก็มีความคาดหวังหรือคำถามในใจของชุมชนว่า เมื่อชุมชนเริ่มต้นเรียนรู้เป็นผู้ให้บริการท่องเที่ยวตามที่รัฐส่งเสริม แล้วจะเดินต่อในแง่ของการตลาดและการเชื่อมโยงให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวที่แท้จริง เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนท้องถิ่นที่ยั่งยืนอย่างไร..? รวมไปถึงนโยบาย โครงการโอทอปนวัติวิถี ที่มีต้นทางมาจากภาครัฐ แต่คนในชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการคิดและกำหนดแนวทาง แต่กลับกลายเป็นแค่ปลายทางรับพัสดุภัณฑ์เพื่อใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่ไม่ตรงกับวิถีและความต้องการของเขาเลยนั้น...ช่างเป็นคำถามที่ท้าทาย


“ให้โอกาสชุมชน เข้าถึงตลาด”


สดศรี ขัติยวงศ์ กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนท่ามะโอ อ.เมืองลำปาง มองว่าในฐานะที่เธอและเพื่อนสมาชิกในชุมชนที่ร่วมกันทำท่องเที่ยวชุมชนท่ามะโอ ซึ่งเริ่มต้นจากการทำงานแบบจิตอาสากว่า 3 ปี จึงได้รับการสนับสนุนจาก กรมการท่องเที่ยว และ สำนักงานการท่องเที่ยว(ททท.) รวมถึงพัฒนาชุมชน ในโครงการท่องเที่ยวนวัตวิถีในปีนี้  ล่าสุด อพท.ยั่งยืนจะเข้ามาทำการท่องเที่ยวยั่งยืน นับว่าเป็นกำลังใจสำคัญ สำหรับกลุ่มใหม่ๆที่อยากเดินเข้าสู่การท่องเที่ยวชุมชนที่ยั่งยืน ว่าเราสามารถทำได้จริง แต่อยากขอให้ทางจังหวัด หรือภาครัฐช่วยสนับสนุนพื้นที่การตลาด ที่สามารถไปขายการท่องเที่ยววิถี อัตลักษณ์ สินค้าชุมชนในแหล่งที่มีลูกค้า เช่น กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดในงานระดับภาค รวมถึงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนเข้าสู่ตลาดอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับที่รัฐ หรือ ททท.สนับสนุนการทำตลาดของกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเอกชน

“ชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจ”

แวว วรางคณา อินปัน ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีบ้านห้วยเรียน ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง บอกว่า ในมุมของชุมชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการต้อนรับ และให้บริการการท่องเที่ยว รวมถึงศักยภาพของการทำตลาด การประชาสัมพันธ์ แต่คนที่ทำงานเริ่มต้นด้านการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมีจิตอาสา แต่อาจจะไม่มีพลังมากพอจะรวบรวมคนในชุมชนให้มองเห็นประโยชน์ และร่วมกันทำท่องเที่ยวในชุมชนร่วมกัน ถือเป็นอุปสรรคของการทำงานของคนระดับชุมชนนำไปสู่การท่องเที่ยวได้อย่างจริงจัง




“การเชื่อมโยงการตลาด”

ขณะที่ นวลศรี พรมไชยวงค์ เสนอว่า ในฐานะที่เธอก็อยู่ในวงการท่องเที่ยวมาหลากหลาย และกำลังพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของตนเองในหมู่บ้านห้วยเรียน ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆที่มีต้นทุนทางธรรมชาติที่มีวิวภูเขา อากาศเย็น เชื่อมโยงเส้นทางกับดอยขุนตาน และมีจุดขายแหล่งวัฒนธรรม แต่เมื่อ คนในชุมชนเริ่มต้นทำท่องเที่ยวไปแล้ว แต่ยังขาดการเชื่อมโยงและการตลาด นำนักท่องเที่ยวเข้าถึง ทำให้คนทำท่องเที่ยวชุมชนขาดกำลังใจและความต่อเนื่อง เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวจริง




ทบทวนตัวเลขรายได้การท่องเที่ยว..ที่แท้จริง”

ด้าน นายศักดิ์ ส. รัตนชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโส และผอ.หอจดหมายเหตุลำปาง ได้ฝากคำถามที่น่าติดตามไว้อย่างตรงไปตรงมา ว่ามัคคุเทศก์ของลำปางคนแรก เป็นมัคคุเทศก์ของ อสท.ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวลำปางมากมาย ในแง่มุมของการท่องเที่ยวชุมชนนั้นมีคนนึกถึงการสนับสนุนการพัฒนา และการตลาดอย่างจริงจังน้อยมาก และฝากคำถามถึง  ททท. ว่าจริงหรือเท็จกันแน่ว่าลำปางมีรายได้ อยู่ในอันดับต้นๆซึ่งมีรายได้สูงมาก เป็นตัวเลขที่มาจากท่องเที่ยวจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องเจาะข้อมูล ทบทวน ให้เกิดประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนที่จริงใจ


“ผู้นำ-อปท.ในพื้นที่ต้องร่วมมือ”

ผศ.ดร.นันทินา ดำรงวัฒนกุล คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร  มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง  ให้ความเห็นว่า หลังจากทางคณะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ด้านองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านอาหาร ที่มีอัตลักษณ์ของชุมชน ตามโครงการที่อำเภอแจ้ห่ม แต่ประสบการณ์ที่ทำงานในพื้นที่พบว่า ผู้นำชุมชนรวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ ต้องทำงานร่วมกันแบบเชื่อมโยงระบบให้มีเป้าหมายเดียวกัน มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน อีกประการคืออัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ต้องชัดว่ามีอะไรโดดเด่น  ขณะเดียวกันก็ ฝากคำถาม ถึง ททท. คือ มีแนวทางสอดรับ พัฒนาชุมชน ด้านท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี มีแนวทางการตลาด ให้ท่องเที่ยวชุมชน ซึ่ง ผอ.ททท.ลำปางตอบว่า ททท.มีบทบาทนำชุมชนที่พัฒนาความพร้อมแล้ว ขายเป็นโครงการนำร่องซึ่งเฟสแรกยังไม่มีลำปางในโครงการ แต่เชื่อว่าจะมีเพิ่มเติมในปีถัดไป

ในบทสรุปเบื้องต้นของการเสวนาพบเจอกันในเวทีนี้ ล้วนแต่ยิงเป้าหมายคำถามไปที่การตลาดและการเชื่อมโยงให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างจริงจังยั่งยืน

บทพิสูจน์ของชุมชน ที่จะก้าวสู่การเป็นเจ้าบ้าน บานะผู้ให้บริการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ จะเดินด้วยตนเองหรือมีพี่เลี้ยงจากหน่ายงานในพื้นที่ ไปสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน การตลาด โดยบทบาท ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ลำปาง จะสอดรับกับเส้นทางขับเคลื่อนชุมชนให้มีรายได้จริงแบบไหน คงต้องติดตามดูกันอีกยาว
  
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1207 วันที่ 30 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์