วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

หอมกรุ่นกาแฟดอย ผลผลิตชนเผ่าลำปาง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ใคร ๆ มักถามว่าลำปางปลูกกาแฟด้วยหรือ ?? ก็มีคำตอบจากเกษตรกรที่ออกขายตามงานแสดงสินค้าท้องถิ่นว่า เดียวนี้ดอยสูงล้วนปลูกกาแฟอาราบิก้าเป็นอาชีพที่สองนอกเหนือจากทำนาทำไร่ ปลูกพืชผักเมืองหนาว ลำปางจึงมีกาแฟดีจากหลายดอย ทั้งดอยป่าเหมี้ยง ดอยแม่แจ๋ม ดอยลังกา ปางมะโอ ดอยแม่ส้าน
เรื่องเล่าใหม่ ๆ ที่น่าสนใจพบว่า หลังจากปลูกกาแฟอาราบิก้ามาหลายปี  ชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอ (ลาหู่) บ้านปางม่วง ม.13 ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน  จ.ลำปาง ที่อาศัยอยู่หมู่บ้านเล็ก ๆ ในอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน สูงจากน้ำทะเล 900 เมตร เป็นพื้นที่อากาศเหมาะสมปลูกกาแฟตามไหล่เขาขุนน้ำสอย ได้ผลผลิตดี และยังมี แมคคาเดเมีย พลับ อะโวคาโด 

ชาวลาหู่ที่นี่พัฒนาตัวเองจากการเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟขายเป็นวัตถุดิบมาเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟแปรรูป โดยรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ การเกษตรบ้านปางม่วงจำกัด

กิตตินันทา กิตติคุณ  เจ้าหน้าที่ช่วยปฏิบัติการสหกรณ์การเกษตรบ้านปางม่วงจำกัด วัย 33 ปี เปิดเผยว่า พื้นที่ปลูกกาแฟของชาวบ้าน 500 ไร่ มีผลผลิตราว 300 ตันต่อปี  ปัจจุบันรวมตัวกันจัดตั้งเป็นธุรกิจรูปแบบสหกรณ์ผลิตคั่วกาแฟในนาม  “กาแฟปางม่วงโค-ออฟ Pang Muang coffee” เพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเองครบวงจร ตั้งแต่การปลูก แปรรูป คั่ว และออกจำหน่ายเพื่อให้ผู้บริโภคได้ชิมกาแฟแบบวิถีคนดอย



“กาแฟของเราคุณภาพมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น  จุดขายที่ดึงดูดลูกค้าเมื่อเราออกตลาดแนะนำผลิตภัณฑ์ตามงานแสดงสินค้าด้วยการแต่งกายชุดประจำเผ่า เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้การตลาดเราก็พยายามเรียนรู้การขายแบบออนไลน์ ให้ปางม่วงโค-ออฟ Pang Muang coffee เป็นที่รู้จัก”

แม้กลุ่มสหกรณ์ บ้านปางม่วงจะเป็นธุรกิจรายใหม่เล็ก ๆ จากชุมชน แต่ก็มีความตั้งใจสูงในการเรียนรู้พัฒนาการแปรรูปอย่างมืออาชีพ มีหน่วยงานด้านพัฒนามากมายเข้าไปสนับสนุนให้พวกเขาเติบโต


อีกฝั่งภูเขา ที่บ้านเรา “ลำปาง” มีกาแฟจากยอดเขาของชาวม้ง บ้านบ่อสี่เหลี่ยม อำเภองาว ที่นั่นสภาพอากาศหนาวเย็น ชื้นไอหมอกตลอดปี ชาวบ้านปลูกพืชเมืองหนาวหลายอย่าง แต่ก็ปลูกกาแฟอาราบิก้าตามไหล่เขาและในพื้นที่ว่างระหว่างหลังคาเรือน มีผลผลิตดี เป็นกาแฟปลอดสารเคมีเช่นเดียวกับดอยอื่นๆ
จุดสนใจของกาแฟบ้านบ่อสี่เหลี่ยม คือ น้องๆเยาวชนคนรุ่นใหม่ลูกหลานเกษตรกร ออกมาตั้งกลุ่มวิสาหกิจกาแฟบ่อสี่เหลี่ยม ตั้งโรงคั่วกาแฟชุมชนขึ้นในหมู่บ้านกลางเขา เพื่อบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ครบวงจรเพื่อแสวงหาช่องทางสู่ตลาดขายส่งเมล็ดกาแฟแปรรูปส่งตรงโรงคั่วของเกษตรกร

เช่นเดียวกับ กาแฟดอยแม้ส้าน อ.แม่เมาะ ที่ใช้กาแฟท้องถิ่นที่ปลูกโดยเกษตรกรชนเผ่าละแวกดอยแม่ส้าน เขตอุทยานถ้ำผาไท เป็นสายสัมพันธ์การสื่อสารตลาดการท่องเที่ยว สร้างอรรถรสของการมาเยือนนครลำปาง ด้วยบรรยากาศและรสชาติกาแฟท้องถิ่น ที่หากิน ดื่มจากไหนก็ไม่เหมือน ความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ผสานกับเมนูกาแฟ น้ำผึ้ง และ พืชผลจากดอย เป็นขนมของว่าง ในบรรยากาศบ้านโฮมสเตย์ วิถีชนเผ่า ที่นี่อาจไม่ได้คั่วกาแฟมาเพื่อขายส่งเชิงพาณิชย์ แต่มีเมล็ดกาแฟคั่วขายปลีกให้คนที่ชื่นชอบซื้อกลับบ้าน ปริมาณกาแฟที่ปลูกในดอยแม่ส้าน อาจมีไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอต่อการขายปลีกได้ราคางามตลอดทั้งปี
ใครไปถึงประตูผา ก็แวะเวียนชิมกาแฟท้องถิ่นกันที่ กาดประตูผา ร้านกาแฟเล็กๆ ที่บาริสต้าสวมชุดชนเผ่า ได้บรรยากาศของความเป็นบ้านๆ แต่รสชาติและคุณภาพของกาแฟก็ไม่เป็นรองร้านกาแฟในเมืองใหญ่

ส่วนใครที่ อยากสัมผัสวิถีกาแฟให้ลึกลงไปถึงการผลิตก็ ไปนอนโฮมสเตย์ “หล่ายผา” ตื่นมาจิบกาแฟแล้วชวนไปชมไร่อาราบิก้า และดูวิธีการคั่วกาแฟแบบบ้านๆ ของชนเผ่า และชาวบ้านที่มีรูปแบบการคั่วกาแฟจากเครื่องมือการคั่วที่น่าทึ่ง ทั้งแบบคั่วกระทะ แบบไม่สนใจเรื่อง หลักทางวิทยาศาสตร์ แต่อาศัยทักษะเฉพาะล้วนๆ  ไปจนถึงการคั่วแบบเครื่องมือคั่วขนาดเล็ก อาศัยอุณหภูมิจากเตาฟืน เป็นแรงดึงดูดที่แสนจะมีเสน่ห์
เกษตรกรยุคนี้เริ่มเข้าใจแล้วว่า การบอกเล่าวิถีการปลูกกาแฟ และความพิเศษของพื้นที่ปลูกแต่ละภูเขา มักมีเรื่องราวที่น่าสนใจเสมอ จากเมล็ดสีแดงที่เก็บจากต้น สู่กระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน ไปจนถึงการคั่วตามสไตล์สูตรของตัวเอง ก็ขายความต่างได้ไม่น้อย

ด้วยเสน่ห์ของรสชาติกาแฟอาราบิก้า ยังทำให้โลกของการขายกาแฟท้องถิ่นที่ลำปาง ยังคงมีช่องทางอีกมากมายในเส้นทางปลายน้ำ ซึ่งหมายถึงร้านกาแฟในตัวเมือง
เช่นเดียวกับ ร้านไวด์เบอรี่ (Wideberry) ที่ชูสโลแกน “กาแฟดีจากหลายดอย” มาเป็นจุดขายทางการตลาดกาแฟชุมชน แหล่งปลูกและผลิตกาแฟดีๆ จากทุกดอยในลำปาง ถูกรวบรวมมาเป็นวัตถุดิบสำคัญของเมนูกาแฟหลากหลาย ตอบโจทย์คนชอบกาแฟรสชาติที่แตกต่างกัน และยังมีแนวทางเป็นแหล่งหน้าร้านขายฝากผลผลิตกาแฟจากชุมชนบนพื้นที่สูงที่น่าติดตาม  
แม้ตลาดกาแฟในโลกนี้จะมีส่วนแบ่งสูงมาก แต่ก็ไม่ยากสำหรับตลาดเฉพาะ (Niche Market) ในประเทศไทยที่ยังส่งเสริมเกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็กให้ยืนอยู่ได้

ลำปางยังมีกาแฟดีๆอีกมากมาย ทุกดอยล้วนมีศักยภาพขึ้นอยู่กับว่าใครจะเข้าถึงผู้ซื้อที่เหมาะสมกัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1203 วันที่ 2 - 8 พฤศจิกายน 2561)    

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์