วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สวนโกโก้ต้นแบบรายได้งาม หนุนชนเผ่าปลูกทดแทนพืชไร่

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

สวนโกโก้สวนต้นแบบแห่งเมืองเถิน วังเหนือ ปลื้มผลผลิตดี จังหวัดพร้อมดันเป็นตัวอย่างการปลูกพืชตัวใหม่ให้พี่น้องชนเผ่าปลูกแก้ปัญหาทำลายป่า และสร้างเศรษฐกิจยั่งยืน บนพื้นที่สูง

เมื่อทิศทางการตลาดเริ่มมีแนวโน้มของโอกาสในสินค้าเกษตรตัวใหม่ของลำปาง นั่นคือ โกโก้ เกษตรกรหลายพื้นที่เริ่มหันมาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจเป้าหมายเป็นทั้งรายได้หลักและรายได้เสริมในอนาคต ก่อนหน้านี้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้แปลงใหญ่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ปลูกแล้วได้ผลผลิตดี มีรายได้ดีขณะนี้พื้นที่อำเภอวังเหนือมีเกษตรกรปลูกรวมแล้วประมาณ 150 ราย

เช่นเดียวกับที่บ้านท่าเกวียน หมู่ที่ 7 ตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ซึ่งล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางทรงพล สวาสดิ์ธรรม ได้ เยี่ยมชม “สวนโกโก้” ต้นแบบของเกษตรกรผู้บุกเบิกปลูกโกโก้อำเภอเถิน ซึ่งประสบความสำเร็จได้ผลผลิตดี

พิศุทธิ์  หอมบุปผา เจ้าของแปลงปลูกสวนโกโก้อำเภอเถินบอกว่า “โกโก้” ถือเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ตัวหนึ่งที่น่าสนใจ โดยคนไทยได้รู้จัก “โกโก้” มานานในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ยังไม่เป็นที่นิยมปลูกเนื่องจากไม่รู้จักสายพันธุ์และวิธีการทำตลาด ซึ่งที่ผ่านมาผลผลิตโกโก้ ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมหลายอย่าง อาทิเช่น อุตสาหกรรมอาหาร ขนม และเครื่องดื่มอุตสาหกรรมยาเครื่องสำอาง และยาสูบ เป็นต้น โดย “โกโก้” เป็นพืชที่ปลูกง่ายโตเร็วใช้เวลาในการบำรุงดูแลรักษาช่วงระยะ 1-2 ปีแรกเท่านั้น และปีที่ 3 จึงจะเริ่มออกดอกติดผลให้เก็บเกี่ยวได้ ซึ่ง “โกโก้” แต่ละต้นก็จะให้ผลผลิตที่ต่อเนื่องสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เดือนละครั้ง แต่ปลูกเพียงครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ระยะยาวถึง 60 ปี


“สถานการณ์ตลาดปัจจุบันผลผลิตเมล็ดแห้งโกโก้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก เฉพาะประเทศไทยมีความต้องการเมล็ดโกโก้แห้งสูงถึง 50,000 ตัน/ปี ขณะที่ภายในประเทศสามารถผลิตได้เพียง 200 ตัน/ปี ซึ่งในส่วนนี้ทำให้ประเทศไทยจึงยังต้องการพื้นที่ให้เกษตรได้ทำการปลูกพืช “โกโก้” เพิ่มมากขึ้น โดยหากจะให้เพียงพอต่อความต้องการ จะต้องใช้พื้นที่ปลูกมากถึง 5 ล้านไร่ ในขณะที่ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูก “โกโก้” อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง อีสาน และภาคเหนือ รวม 48 จังหวัด มีพื้นที่ปลูกจริงเพียง 5,000 ไร่”

ส่วนเรื่องสายพันธุ์ “โกโก้” ที่ดี เกษตรกรนิยมและทางบริษัทผู้รับซื้อมักส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก คือสายพันธุ์ I.M.1. เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ ให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ปลูกในประเทศไทย เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง ให้ผลผลิตสูง เมล็ดแห้งมีขนาดและคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งมีปริมาณไขมันสูงและยังมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ โดยโกโก้เพียง 1 ไร่ สามารถที่จะทำรายได้ให้เกษตรกรหลังหักลบต้นทุนแล้ว มากกว่า 50,000 บาทต่อปี

นายบุญมี เดชปทุม เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้อำเภอวังเหนือ เผยว่า ตลอดชีวิตการเป็นเกษตรกรมา เคยปลูกพืชไม้ผลหลายชนิด ต้องดูแลใส่ใจเยอะมาก แต่ เมื่อทดลองเอาต้นโกโกมาปลูกแซมในสวนลำไย และสวนยาง จำนวน 240 ต้น  เก็บผลสุกขายส่งให้กับโรงงานที่มารับซื้อเป็นรอบๆ กิโลละ 27-30  บาท ผลโกโก 1 ลูกมีน้ำหนักมาก บางลูกมีน้ำหนักเกือบ 1 กก. ทำรายได้เดือนละไม่น้อยกว่าหมื่นบาท ข้อดีของการปลูกโกโก้คือ ไม่มีเสี่ยงต่อความเสียหายของผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้ว ไม่ต้องกลัวเสียหายต่อผิวหรือเปลือกเพราะโรงงานแปรรูปใช้เมล็ดข้างในไปแปรรูป ดังนั่นไม่ต้องใช้ทักษะเทคนิคอะไรมากก็ทำไร่โกโก้ได้ง่ายๆกว่าปลูกไม้ผลชนิดอื่น

ข้อมูลจากเกษตรจังหวัดลำปางระบุว่าการส่งเสริมปลูกโกโก้ในจังหวัดลำปางเป็นไปตามแผนงานยุทธศาสตร์เกษตรคุณภาพ ซึ่งเป้าหมายคือยกระดับการทำเกษตรในพื้นที่น้อยให้ได้มูลค่าและ มีรายได้มากขึ้น จากตัวอย่างเกษตรกรหลายรายที่ปลูกโกโก้แล้วได้ผลผลิตดี มีรายได้เพิ่มจากการทำสวนเกษตรเดิมหลักแสนบาทต่อปี โมเดลนี้จะนำขยายผลให้เกษตรกรทั่วไปที่ปลูกไม้ผล หรือ แปลงเกษตรที่สามารถนำต้นโกโกปลูกแซมได้ไปปลูก เพื่อ ลดพื้นที่การทำไร่ข้าวโพด หรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งมีรายได้น้อย ลงทุนต่อไร่สูง นอกจากนี้การปลุกโกโก ยังลดการใช้สารเคมีเพราะ เป็นพืชเศรษฐกิจที่ไม่ต้องการปุ๋ยเคมีบำรุง ในอนาคต แปลงเกษตรที่มีโกโกที่ใช้น้ำเกษตรแบบน้ำบาดาล ยังยกระดับเป็น แปลงเกษตรอินทรีย์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

ในส่วนของจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มีแนวทางส่งเสริม“โกโก้”เป็น พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวให้กับ ชาวบ้านบนพื้นที่ลดการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงในการทำไร่เลื่อนลอย ตลอดจนยังเป็นการช่วยลดปัญหาเรื่องการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า เป็นแนวทางเตรียมการผลักดันขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจ ตามวาระจังหวัด “ลำปาง ปันสุข” และ “ลำปาง เกษตรสุขภาพ เกษตรคุณภาพ ตลาดนำการผลิต” ของจังหวัดลำปาง



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1210 วันที่ 21 - 27 ธันวาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์