วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2562

ทริปเดียว'ไร่ส้มจิตรอำไพ' เที่ยวทั้งสวนรู้เรื่องเกษตร

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

วิถีเกษตร วิถีท่องเที่ยว เป็นเรื่องเดียวกันได้ที่ สวนส้มจิตอำไพ สวนส้มปลอดภัย ที่ให้ดอกออกผลงดงาม ในรูปของสวนเกษตรที่สามารถเปิดให้คนภายนอกเข้าไปเที่ยวชม ตัดผลส้มสดๆซื้อกลับบ้านได้ถึงในสวน หลังจากที่เจ้าของสวน เขาตั้งใจทำสวนส้มปลอดภัย เพื่อหวังขายในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) อย่างจริงจัง

อำไพ วิญญาภาพ เจ้าของสวนส้มจิตอำไพ นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจร้านสะดวกซื้อ  ที่ชื่นชอบทำสวน เพราะสามี (เอกภพ วิญญาภาพ) จบด้านเกษตรไม้ผล จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีทุนความรู้ด้านไม้ผลเป็นทุนเดิมจึงลงทุนพัฒนา พื้นที่ เกือบ 400 ไร่ พื้นที่ตำบลบ้านค่า อ.เมือง จ.ลำปาง ที่เคยปลูกยางพารา เอามาจัดสรรแบ่งพื้นที่ปลูกส้มสายน้ำผึ้ง  ประมาณ 60  ไร่

ลานนา Bizweek ได้เคยสัมภาษณ์เจ้าของสวนเมื่อปีที่แล้วเคยเล่าว่า ในปีแรกเราปลูกส้มแบบในฝัน คือไม่ใช้สารเคมีเลย ปรากฏว่าส้มร่วงเสียหายทั้งสวน ขาดทุนในปีแรก ต่อมาได้ศึกษาพัฒนาแนวทางการปลูกส้มให้ได้ผลผลิตแต่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ด้วยหลักวิชาการเกษตรพืชผล ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม Good Agriculture Practices เรียกย่อๆว่า GAP  ใช้เคมีในอัตราที่ปลอดภัยตามหลักการเกษตร ควบคู่ไปกับการ บำรุงที่เน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติ จากปุ๋ยขี้วัวทั้งแบบซื้อมาจากเกษตรกรที่เลี้ยงวัว และจากขี้วัวที่เลี้ยงเองในไร่ส้ม และจัดระเบียบแปลงปลูกให้สะดวกต่อการให้น้ำ และกำจัดวัชพืช แบบใช้แรงคนตัด แทนการใช้ยาฆ่าหญ้า สามารถเก็บเกี่ยวได้ ปีละไม่น้อยกว่า 2 ฤดูกาล โดยปีนี้เป็น ปีที่สองของการเก็บเกี่ยวให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ

แนวทางการตลาดของ “ไร่ส้มจิตอำไพ” ในปีแรกคือปีที่แล้วเน้นการขายเอง โดยใช้เครื่องมือทางการตลาดออนไลน์เป็นช่องทางหลัก โดยมีลูกๆซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มีทักษะการใช้สื่อออนไลน์มาช่วยทำตลาด ในเฟซบุ๊คแฟนเพจในชื่อ “ไร่ส้มจิตอำไพ” เป็นฐานสร้างแบรนด์ และการออกร้านขายผลผลิตตามงานเทศกาลหรืองานกิจกรรมสำคัญของจังหวัด  บางส่วนขายส่งให้กับร้านขายผลไม้ในกรุงเทพ และต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังได้รับการ สนับสนุนการพัฒนาเชื่อมโยงการตลาด กับทางจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ทรงพล สวาสดิธรรม ตามแนวทางเกษตรปลอดภัย โดยขายส่งเข้ากลุ่มค้าปลีก ท๊อปซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างบิ๊กซีลำปางและการตั้งเป้าหมายการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนส้มจิตอำไพ ทดลองเปิดให้เที่ยวชมสวน เมื่อวันที่ 20-21 มกราคม ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจมีผู้เข้าชมจำนวนมากเกินความคาดหมาย

“ปีนี้เราทดลองเปิดให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าเยี่ยมชมไร่เข้ามาท่องเที่ยวในไร่ส้ม ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพียง 1 ครั้ง เพื่อทดสอบ และวางแผนการเตรียมพร้อมเรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบจริงจัง เพราะเราเองก็ไม่มีประสบการณ์ทำท่องเที่ยวในสวนเกษตร และสวนส้มของเราอยู่ห่างจากตัวเมืองค่อนข้างมาก ซึ่งมีระบบการบริหารจัดการหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ เช่น การรับรองแขกที่เข้ามา การจัดคิว การจัดรถบริการ เข้าไปชมสวนในโซนที่เราให้ลูกค้าตัดส้มได้  และที่สำคัญต้องมีปริมาณส้มผลดอกมากพอให้ถ่ายภาพสวย เป็นที่ระลึก เพราะทุกคนที่เข้ามาล้วนแต่อยากถ่ายภาพตัวเองในสวนส้มสวยๆ นอกจากนี้ยังได้ชมกระบวนการ คัดล้างผลผลิตส้ม จากเครื่องคัดขนาดผลส้ม ขายตามราคาและขนาดต่างตั้งแต่ผลขนาดเล็กสุด 3 กิโลกรัม 100 บาทจนถึง กิโลกรัมละ 50-70 บาท ส่วนค่าบริการเข้าชมสวนคิดเป็นเหมือนค่าธรรมเนียมเข้าชม คนละ 20 บาท เท่านั้น คนที่เข้ามาเที่ยวก็เป็นกลุ่มเพื่อน คนรู้จักและแฟนเพจสวนส้มของเรา หลังจากเตรียมแผนเสร็จจะเปิดให้เข้าชมอย่างจริงจัง”

แม้ในการทดลองเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรครั้งแรก จะได้รับความสนใจเนืองแน่น มีผู้ชมวันละไม่น้อยกว่า 200 คน แต่เจ้าของสวน บอกว่า ยังต้องวางแผนจัดการรองรับให้ดี และมีความเป็นมืออาชีพ สร้างความประทับใจให้มากที่สุด สมกับการเดินทางมาไกล

ในแง่ของผู้ประกอบการนั้น “อำไพ” มองว่า การสำสวนฐานะเกษตรกร มีภารกิจสำคัญคือการดูแลการปลูกให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยที่นี่ใช้แรงงานคนไม่เกิน 10 คน แต่สามารถบริหารจัดการสวนได้ดีตามมาตรฐาน ภายในสวน มีการแบ่งโซนภายในพื้นที่ 400 ไร่ เป็นสัดส่วน ทั้งสวนยางพาราเดิม และสวนส้ม นอกจากนี้ยังทำสวนกล้วย เพื่อบังแดดให้กับต้นทุเรียนที่ลำปางซึ่งเพิ่มเริ่มปลูกเป็นปีแรก คาดว่าจะได้ผลผลิตและเปิดโซนท่องเที่ยว สวนทุเรียน ได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า

แนวทางของการทำเกษตรคุณภาพ เกษตรปลอดภัยที่สวนส้มจิตรอำไพ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการเดินตามฝันของเกษตรกรรายใหม่ๆ ที่ลุกขึ้นมาสร้างความแตกต่าง ทั้งด้านผลิตภัณฑ์การเกษตรและ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้เป็นรูปธรรม สร้างสีสันให้เมืองลำปางมีจุดขายใหม่ๆ ให้ลูกหลานและคนลำปางอวดคนต่างบ้านต่างเมืองได้ว่า “ลำปางบ้านฉันมี”

                                                                                                เรื่อง/ภาพ : ศชากานท์ แก้วแพร่

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1214 วันที่ 25 - 31 มกราคม 2562)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์