วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

อาฟเตอร์ช็อคดินไหววังเหนือทุบสถิติ 26 ครั้ง บ้านร้าวพังยับ ยอดฉัตรเอียง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ดินไหว 4.9  วังเหนือสะเทือนถึงลำปางและจังหวัดใกล้เคียง  อาฟเตอร์ช็อคตามมารวม 26 ครั้ง สูงสุดในประวัติการณ์   หลายหน่วยงานลงพื้นที่สำรวจ พบบ้านร้าว-กระเบื้องแตก เสียหาย 33 หลัง  ยอดฉัตรวัดพระเกิดเอียง  ชาวบ้านเล่านาทีวิ่งหนีขณะเกิดเหตุ

-ดินไหว อ.วังเหนือ
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.62 ที่ผ่านมา กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ตั้งแต่ช่วงเวลา 12.00 น. โดยแผ่นดินไหวได้เกิดขึ้นครั้งแรกขนาด 2.1 แมกนิจูด  และทิ้งระยะห่างประมาณ 10-15 นาที ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นตามมาอีก 13 ครั้ง ตั้งแต่ 2.1 แมกนิจูดถึง  3.3 แมกนิจูด  ซึ่งแรงการสั่นสะเทือนจะรับรู้ได้เฉพาะในพื้นที่ ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ และใกล้เคียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

-สั่นแรง 4.9
จนกระทั่งเวลา 16.05 น.  ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่ อ.วังเหนือ ขึ้นอีกครั้ง ระดับการสั่นสะเทือน 4.9 แมกนิจูด ความลึก 10  กิโลเมตร  จุดศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ  สามารถรับรู้ได้ในหลายอำเภอ เช่น  อ.เมือง อ.เกาะคา อ.แม่เมาะ อ.แม่ทะ อ.เมืองปาน อ.แจ้ห่ม และยังรับรู้ได้ไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา  ทำให้ประชาชนเกิดการตื่นตัว โดยมีการโพสต์ข้อความผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวกันจำนวนมาก

-วิ่งหนีชุลมุน
ขณะเกิดเหตุ ได้รับรายงานจากพื้นที่ อ.วังเหนือว่า ประชาชนรับรู้ได้อย่างชัดเจน เพราะแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นแรงมาก ต่างพากันวิ่งไปหลบอยู่ใต้โต๊ะและที่ปลอดภัย บางจุดข้าวของตกเสียหาย  โดยเฉพาะที่ อบต.ทุ่งฮั้ว   แรงสั่นทำให้เอกสารตกกระจัดกระจาย และยังส่งผลให้เกิดรอยแตกร้าวบริเวณรอบอาคารหลายจุด

-ตึกสั่น เสียงแตกลั่น
ด้านเจ้าหน้าที่ อบต.ทุ่งฮั้ว เล่าเหตุการณ์ว่า ตั้งแต่ช่วงเที่ยงที่ผ่านมา แรงสั่นในครั้งประมาณ 3 แมกนิจูด ทำให้โต๊ะสั่น รู้สึกได้ จึงได้พากันออกมานอกตึก จากนั้นได้เกิดสั่นอีกหลายรอบ จนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ กระทั่งใกล้ 4 โมงเย็น ได้พากันออกมานั่งตรงบันไดด้านหน้าสำนักงาน ไม่นานได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างแรง เสียงตึกแตกร้าวดังลั่น ต่างคนต่างร้องกรี๊ด และพากันวิ่งออกมา  ซึ่งยังเกิดแผ่นดินไหวตามมาอีกหลายรอบ มีเจ้าหน้าที่ ปภ. ทหาร เข้ามา ปิดกั้นไม่ให้เข้าในตึกเมื่อความปลอดภัย

-ห้ามนอนในบ้าน
นอกจากนั้น ยังมีบ้านของนายวสุมิตร นุชสวัสดิ์  บ้านเลขที่ 33 ม.11 ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ  ได้รับความเสียหายมากที่สุด พบรอยร้าวใหญ่ชัดเจนรอบบ้าน  กระจกแตก ฝ้าเพดานแตกบางจุด ผนังห้องน้ำร้าว ซึ่งขณะเกิดเหตุมีลูกชายวัย 6 ปี อยู่ในบ้าน ส่วนภรรยาอยู่ในครัวหลังบ้าน ไม่มีใครได้รับอันตราย  โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ให้เจ้าของบ้านย้ายออกไปนอนด้านนอกชั่วคราว เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ซึ่งรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบอีกครั้ง

ด้านนายปัญญา  ยวนตา อายุ 56 ปี บ้านเลขที่ 128 ม.11 บ้านทุ่งฮั้วพัฒนา บ้านเรือนเสียหายเล่าว่า ขณะเกิดเหตุตนเองอยู่นอกบ้าน รู้สึกกลัวมากเพราะสั่นแรง ได้ยินเสียงบกระเบื้องแตกร้าว หลังจากนั้นจึงไปตรวจสอบ พบรอยร้าวข้างบันได พื้นกระเบื้องแตก

-ยอดฉัตรเอียง
ที่พระธาตุเจดีย์วัดพระเกิด บ้านแม่เลียบ  ม.8 ต.ทุ่งฮั้ว พบว่ายอดฉัตรปลายเจดีย์ มีการเอียงอย่างเห็นได้ชัดเจน  โดยวันที่ 21 ก.พ.62  ผู้สื่อข่าวได้เขาตรวจสอบสภาพยอดฉัตรพระธาตุพระเกิด บ้านแม่เลียบ หมู่ 8 ต.ทุ่งฮั้ว  อ.วังเหนือ ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว  โดยทางพระอธิการมงคล มังคะโล เจ้าอาวาสวัดพระเกิด ได้นำชี้ดูจุดที่ได้รับผลกระทบ   ซึ่งพระธาตุของวัดพระเกิด ยอดฉัตรคดงอ และมีสภาพเอียงไปทางทิศตะวันตก สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไกล  ขณะที่หลังคาศาลาบาท หลุดกระเด็นและไหลออกจากตัวโครงสร้างหลายแห่ง และยังมีจุดอื่นๆ เช่น ภายในพระวิหาร พบว่าฟ้าเพดาน มีร่องรอยแตกแยกออจากกัน เสารอยต่อของโครงสร้างพระวิหารร้าว และภาพวาดติดผนัง วัดหลุดตกลงมา 1 แผ่น 

พระอธิการมงคล มังคะโล เจ้าอาวาทวัดพระเกิด เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุองค์พระธาตุและยอดฉัตร สั่นไหวเห็นได้อย่างชัดเจน ตอนนั้นคาดว่าจะหักลงมาแต่หลังเหตุการณ์สงบพบว่ายอดฉัตรงดงอ และได้แจ้งความเสียหายไปแล้ว  ต่อมามีเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบและพบว่าตัวองค์พระธาตุไม่ได้รับความเสียหาย มีเพียงยอดฉัตรเท่านั้นเอียง ซึ่งสามารถซ่อมแซมและบูรณะได้ทันที แต่อาจจะติดที่การสร้างนั่งร้านครอบตัวองค์พระธาตุ เพื่อขึ้นไปซ่อมแซมอาจใช้เวลาและงบประมาณพอสมควรส่วนด้านอาคารโครงการพระวิหารไม่ได้รับผลกระทบมากนักยังสามรถใช้งานได้ตามปกติ

-เผยคลิปนาทีเกิดเหตุ
ล่าสุดได้มีชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอยู่ห่าง อบต.ทุ่งฮั้ว ประมาณ 800 เมตร คือบ้านเลขที่ 194 หมู่ 7 บ้านห้วยกันทา ตำบลทุ่งฮั้ว ซึ่งเป็นบ้านของนายวิเชียร กาเหล็ก อายุ 33 ปี ที่บ้านได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ ได้นำภาพขณะเกิดเหตุตอนเกิดแผ่นดินไหว ขนาด4.9 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 20 ก.พ.62 เวลา 16.05 น.ที่ผ่านมา โดยในภาพจะเห็นได้ว่าแม่เจ้าของบ้านกำลังเดินขึ้นบันไดบ้าน จากนั้นกล้องก็สั่นไหวแรง และแม่เจ้าของบ้านหยุดชะงัก และสุนัขที่นอนอยู่บนพื้นด้านล่างก็ตกใจลุกขึ้นมา ขณะเดียวกันก็มีเสียงคุยกันก่อนที่ แม่เจ้าของบ้านได้รีบวิ่งลงจากบ้าน รวมทั้ง นายวิเชียร กาเหล็ก ได้อุ้มลูกน้อยโดยมีภรรยารีบตามหลังลงบันไดบ้านไปยังที่ปลอดภัย

         ส่วนกล้องอีกตัวที่อยู่ใต้ถุนบ้าน ก็สามารถจับภาพสั่นไหวได้ทำให้ไก่และสัตว์เลี้ยงที่นอนอยู่ใต้รถกระบะแตกตื่นวิ่งหนีเช่นกันซึงเหตุการณ์นี้แต่ละคนก็ไม่เคยผ่านประสบการณ์มาก่อนกว่ารู้ว่าแผ่นดินไหวก็เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งโชคดีที่ทั้งหมดปลอดภัย    

-ตั้งศูนย์ฯฉุกเฉิน
 ขณะเดียวกันทาง อบต.ทุ่งฮั้ว ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินไว้ที่หน้าสำนักงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ของ ปภ.จังหวัดลำปาง  สาขาวังเหนือ  เจ้าหน้าที่ทหาร มทบ.32 ตำรวจและเจ้าหน้าที่ อบต.ทุ่งฮั้ว ประจำการอยู่เพื่อรอรับเรื่องร้องทุกข์ความเสียหายจากผลกระทบแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้

-ไหวรวม 26 ครั้ง
ทั้งนี้ การเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ อ.วังเหนือ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 26 ครั้งแล้ว ตั้งแต่ช่วง 12.00 น. ของวันที่ 20 ก.พ.62  จนถึงเวลา 06.00 น. วันที่ 21 ก.พ.62  โดยแรงสั่นสะเทือนต่ำสุดอยู่ที่ 1.2 แมกนิจูด  และสูงสุดอยู่ที่ 4.9 แมกนิจูด  ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เกิดแผ่นดินไหวติดก่อนกันจำนวนมากเกิดขึ้นที่ จ.ลำปาง

-ผอ.ทรัพยากรธรณี ย้ำอย่าตื่นตระหนก
นายนิวัติ บุญนพ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 ลำปาง กล่าวว่า ในภาคเหนือจะมีการเกิดแผ่นดินไหวเล็กน้อยอยู่แล้วเกือบทุกวัน อยู่ที่ 1-3 แมกนิจูด  เป็นการผ่อนแรงของแผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนตัวอยู่ ซึ่งทางภาคเหนือจะเป็นรอยต่อขนาดเล็ก การขยับตัวถือว่าเป็นผลดีกว่าการหายเคลื่อนตัวไปนานๆ จะทำให้มีการสะสมแรงมากขึ้น  และหากเกิดการเคลื่อนตัวก็จะเกิดกำลังที่แรงมากขึ้นทำให้เกิดความเสียหาย

ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องตระหนกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือประชาชนควรตระหนักว่าจะทำอย่างไรให้ปลอดภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว  จะอพยพคนอย่างไร  หากเกิดแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรง อย่าอยู่ใกล้กำแพงหรือจุดที่มีสิ่งของตกหล่นได้ หากอยู่ในตึกควรหาที่หลบอยู่ใต้โต๊ะ หลังจากเหตุการณ์สงบแล้ว ต้องเคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย เพราะอาจเกิดอาฟเตอร์ช็อคขึ้นอีกได้ เป็นต้น

นายนิวัติ กล่าวอีกว่า  หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว  ผู้แทนจากสำนักทรัพยากรธรณีเขต 1 ได้เข้าร่วมประชุม ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดลำปาง (แผ่นดินไหว) ห้องประชุม ปภ.จ.ลำปาง โดยมีนายสมเกียรติ ตันตระกูล  รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธาน  พร้อมกันนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลความเสียหายของพื้นที่ และประเมินความรุนแรงของแผ่นดินไหวตามหลักวิชาการต่อไป

-อบต.ร่องเคาะไม่กระทบ
 จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหว 4.9แมกนิจูด ในพื้นที่ ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง เวลา 16.05 น.วันที่ 20 ก.พ.62 และได้มีการเผยแพร่ภาพภาพความเสียหายอาคารแตกร้าว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นภาพถ่ายของอาคาร อบต.ร่องเคาะ ผู้สื่อข่าวจึงได้เข้าตรวจสอบที่ อบต.ร่องเคาะ พบกับ นายชัยรัตน์ ทองใบ นายก อบต. และนายกฤษณพงศ์ มีลาภ รองปลัด อบต. ได้ร่วมกันให้รายละเอียดว่า จากภาพความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่เป็นภาพอาคารของ อบต.ร่องเคาะนั้น เป็นความเสียหายเดิมที่เกิดจากดินทรุดตัวมาระยะหนึ่งแล้ว และเคลื่อนตัวอีกเล็กน้อยจากแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นเสาโชว์ที่ก่ออิฐปูทับด้วยกระเบื้องดินเผา ไม่ใช่โครงสร้างหลัก ซึ่งทาง อบต.ได้จัดสรรงบประมาณ เตรียมการจะซ่อมแซมอยู่แล้ว แต่มาประจวบเหมาะกับเหตุการณ์นี้  ซึ่งผู้แชร์ภาพข่าวดังกล่าวเป็นชาวบ้านที่เข้ามาติดต่อประสานงาน ที่ไม่ทราบข้อมูลรายละเอียดแน่ชัดจึงทำให้เกิดการเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเหมือนกับว่าเหตุการณ์เกิดผลกระทบรุนแรง

-สรุปบ้าน 36 หลัง วัด 2 แห่ง
ทั้งนี้ ปภ.จังหวัดลำปาง สาขาวังเหนือ ได้สำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในเบื้องต้น พบว่าได้รับผลกระทบ 4 ตำบล คือ ต.ทุ่งฮั้ว. บ้านเรือนแตกร้าว จำนวน 33 หลัง เจดีย์วัดพระเกิดเอียง จำนวน 1 องค์ ต.วังทอง บ้านเรือนแตกร้าว จำนวน 2 หลัง ต.วังซ้าย  บ้านเรือนแตกร้าว จำนวน 1 หลังและ ต.วังเหนือ วัดบ้านใหม่แตกร้าว จำนวน 1 หลัง  โดยมีเจ้าหน้าที่ได้ออกสำรวจ เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสตืฉบับที่ 1218 วันที่ 22 - 28 กุมถาพันธ์ 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์