วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562

ดอนไชยฮือ ทม.ล้อมแรดฮุบที่วัด 25 ไร่ ร้องศาลขอคืน สมภารไม่ถอย

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ชาวบ้านดอนไชยร้องศาลปกครอง ขอคืนที่ดินวัด 25 ไร่  หลังเทศบาลตำบลล้อมแรดสั่งให้รื้อถอนร้านค้าชุมชนที่ชาวบ้านระดมทุนสร้าง  อ้างเป็นที่สาธารณะให้ใช้ร่วมกัน  ขณะที่เจ้าอาวาสลั่น หากทวงคืนที่วัด ต้องทวงที่ดินที่นำไปออกเอกสารสิทธิบางส่วนคืนด้วย

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 62 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีพิพาทที่ดินวัดดอนไชย  ต.เถินบุรี อ.เถิน จ.ลำปาง หลังจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าเทศบาลเมืองล้อมแรด  เมื่อครั้งยังไม่ได้รับการยกฐานะ ยังเป็นเทศบาลตำบลล้อมแรด ได้มีหนังสือคำสั่งให้รื้อถอนร้านค้าชุมชน ซึ่งชาวบ้านใช้ประโยชน์อยู่ บนที่ดินของวัดดอนไชย จำนวน 25 ไร่ 2 งาน  และมีหนังสือประกาศให้ที่ดินดังกล่าว เป็นที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน โดยไม่ได้มีการประชาคมชาวบ้าน และชาวบ้านไม่ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

นางเพ็ญประภา ซื่อวัฒนะ หนึ่งในผู้ที่ใช้ประโยชน์ที่ดินวัดดอนไชย ตำบลเถินบุรี อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์ที่ดินวัดดอนไชย  ตำบลล้อมแรด จำนวน 67 ราย  ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อพิจารณาขอความเป็นธรรมกรณีข้อพิพาท ระหว่างที่ดินของวัดดอนไชย กับหน่วยงานราชการ  หลังเทศบาลตำบลล้อมแรด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง มีคำสั่งรื้ออาคารร้านชุมชน ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 3 ก.พ.59  อธิบดีกรมที่ดินได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ลป.1747 (อาศัยอำนาจของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 334 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2515) เพื่อแสดงเขตของที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยให้ที่ดินบริเวณตลาดดังกล่าว 25 ไร่ 2 งาน เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ซึ่งการออกหนังสือ น.ส.ล.ดังกล่าว ชาวบ้านผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินของวัดดอนไชยไม่มีส่วนร่วมรับข้อมูลข่าวสาร และไม่มีการทำประชาคมเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นธรรม

นางเพ็ญประภา กล่าวอีกว่า  เดิมที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นป่าช้าวัดดอนไชย เป็นที่รกร้าง  ชาวบ้านสองหมู่บ้านคือ บ้านดอนไชย และบ้านหนองเชียงราน อ.เถิน  ใช้เป็นป่าช้าของวัดดอนไชย จำนวน 70 ไร่ โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นป่าช้าวัดดอนไชยในปี 2491  จากนั้นชาวบ้านได้ขอใช้ที่ดินดังกล่าว โดยชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านได้ทำประชาคม เสนอให้แบ่งพื้นที่ของวัดบางส่วนทำตลาดนัด  ร้านค้าชุมชน ประมาณ 25 ไร่ ซึ่งมีการระดมทุนจากชาวบ้านบางส่วนที่สมัครใจลงทุนสร้างร้านค้า เป็นอาคารโครงเหล็ก จำนวน 55 คูหา และได้สร้างศูนย์แสดงสินค้าวิสาหกิจชุมชน บริเวณกลางตลาด เป็นพื้นที่ส่วนกลางและตั้งชื่อว่าตลาดเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ร้านค้าชุมชนอำเภอเถิน  ซึ่งขณะที่สร้างตลาดนั้น ยังไม่มีไม่ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลล้อมแรด แต่เป็นสำนักงานสุขาภิบาลตำบลล้อมแรด  ต่อมาเมื่อยกระดับเป็นเทศบาลตำบลล้อมแรดก็มีเจ้าหน้าที่ ออกประกาศให้ผู้ประกอบการร้านค้าทั้งหมดย้ายออกจากพื้นที่ และสั่งให้รื้อถอนร้านค้า โดยอ้างว่า ก่อสร้างผิดระเบียบ ซึ่งเป็นข้อพิพาทถกเถียงกันเรื่อยมา จนปัจจุบันเทศบาลได้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองล้อมแรด แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

ล่าสุดมีหนังสือจากเทศบาลเมืองล้อมแรด เชิญให้เจ้าอาวาสวัดดอนไชยไปชี้แนวเขตที่ดิน ในวันที่ 18 มี.ค. 62 แต่ไม่ได้ระบุว่าที่ดินส่วนไหน เวลาไหน สุดท้ายก็ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาประสานงาน หรือนำไปสู่การชี้แนวเขต ซึ่งเกรงว่าจะเป็นหนังสืออ้างแต่ไม่มีการไปชี้แนวเขตจริง ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินการของทางหน่วยงานรัฐไม่ชัดเจนจริงจัง

ด้าน พระครูศรีนวล อินทวังโส เจ้าอาวาสวัดดอนไชย เปิดเผยว่า ที่ดินของวัดดังกล่าว เป็นศูนย์รวมจิตใจและกิจกรรมของชุมชนสองหมู่บ้าน ที่ใช้เป็นป่าช้าและเป็นตลาดของชุมชน ใช้เป็นที่จัดกิจกรรม ทางศาสนาวัฒนธรรมที่เรียกว่าเข้ารุกมูลทุกปี มีชาวบ้านมาร่วมกันทำความสะอาดป่าช้า เทศกาลกินข้าวใหม่ และกิจกรรมอื่นๆของชุมชน ซึ่งทางเทศบาลหรือหน่วยงานรัฐไม่เคยมาช่วยดูแลทำความสะอาดอะไรในที่ดินของวัด แต่กลับมามีประกาศราชการหลายอย่าง ทั้งประกาศ น.ส.ล. ก็ไม่เคยมีการสอบถาม ข้อมูลใดๆจากทางวัด ไม่มีการประชุมมติร่วมกัน

ส่วนการต่อสู้ของชาวบ้านนั้น เจ้าอาวาสวัดดอนไชย กล่าวว่า ทางวัดก็เห็นด้วยกับชาวบ้าน ที่เรียกร้องความเป็นธรรม เพราะหากจะให้ถูกต้อง ต้องถามทวงคืนที่ดินที่ถูกเอาไปออกเอกสารแล้วบางส่วน กลับมาเป็นที่สาธารณะด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ชาวบ้านได้ยื่นขอให้ศาลปกครองพิจารณาให้ ประกาศ น.ส.ล. ฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะ และหากต้องมีการย้าย ออกจากพื้นที่ ขอให้มีการออกค่าชดเชยเวนคืนอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็ยังยืนยันต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม หากเทศบาลจะเอาพื้นที่ 25 ไร่ที่ประกาศ (น.ส.ล.) เป็นที่หลวง และขับไล่ผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินในตลาด ก็สมควรต้องทวงคืนที่ดินของวัดดอนไชยในบริเวณ 70 ไร่ ที่มีการออกโฉนดที่ดินไปบางส่วนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เชื่อว่าการต่อสู้เป็นไปตามขั้นตอนและขอให้ศาลปกครองให้ความเป็นธรรมถึงที่สุด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1222 วันที่ 22 มีนาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์