วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562

เซ็นทรัลเวิลด์วิโยค เมื่อสื่อซ้ำเติมผู้สูญเสีย

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

นภาพกลุ่มควันดำ พวยพุ่งบริเวณชั้น 8 อาคารบี เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อเย็นวันที่ 10 เมษายน ปรากฎชาย 2 คน  ทิ้งร่างออกจากอาคารกระจก กระแทกหลังคาด้านล่าง เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ อีกหนึ่งคนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

ภาพนั้นถูกบันทึกไว้ชัดเจน ขณะที่ จ.ส.100 กำลังไลฟ์สดเหตุการณ์ โดยที่เขาอาจไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนั้น ตั้งแต่คนแรกที่กระโดดลงมา จนถึงคนที่สอง จ.ส.100 ก็ยังโฟกัสที่จุดเดิม ต่างจาก สวพ. FM 91 ถึงแม้เขาจะเห็นภาพคนกระโดดและไม่สามารถเบนกล้องไปจากจุดนั้นได้ แต่เมื่อมีคนที่สองโดดลงมาอีก เขาก็หันกล้องไปทางอื่น

ภาพนาทีชีวิตภาพนี้ แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ในสื่อสังคมออนไลน์ และเป็นที่คาดการณ์ได้ในทันทีขององค์กรวิชาชีพสื่อ ว่าจะมีสื่อจำนวนมากที่ขายความตายของผู้ชายสองคนนี้ เพราะเป็นภาพข่าวที่ขายได้ พวกเขาเตือนกัน แต่สุดท้ายคำเตือนก็ไร้ผล เพราะทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวีดิจิทัลช่องหลัก  เว็บสำนักข่าวใหญ่ ต่างเสนอภาพข่าวนี้ อย่างไม่รู้สึกสำนึกเสียใจ

ทีวีดิจิทัล ที่เล่นข่าวชาวบ้านอย่างน้อย 4 ช่อง ต่างสนุกสนานกับการบรรยายเน้นย้ำให้เห็นภาพ และความสูญเสีย เช่น พูดว่า “นี่นะครับคนโดดตึก (ระหว่างนั้นภาพซูมไปที่อีกคนที่โดดตามมา) ไม่รู้นะครับว่า คนไหนคือคนที่บาดเจ็บสาหัส คนไหนคือคนที่เสียชีวิต”

จากนั้น นักข่าว “เดี๋ยวเราไปดูคลิปกันอีกสักครั้งนะครับ..

ขณะทีวีสีเขียวอีกช่อง เปิดคลิปวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า พร้อมคำบรรยาย คล้ายกับว่าคนที่มองเห็นภาพนั้นจะไม่เข้าใจ

“จอกอ” เข้าใจว่านักข่าวจำเป็นต้องรายงานทุกสิ่งที่เขาเห็น ทุกภาพที่เขาขายได้ ตามหลัก human interest เป็นหลักการประเมินคุณค่าข่าว ที่พวกเขาอาจร่ำเรียนมา แต่ผู้บริหารข่าว จะมีความเข้าใจในเรื่องที่มากไปกว่าคุณค่าข่าว หรือข่าวที่ขายได้บ้างหรือไม่ว่า พวกเขายังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ ยังต้องมีความรับผิดชอบ และเข้าใจความรู้สึกของผู้สูญเสียที่ได้เห็นภาพ ได้รับรู้ข่าวที่บรรยายละเอียดยิบ เหมือนผู้ประกาศข่าวเป็นคนที่โดดตึกนั้นเสียเอง

ถ้าเขามีหัวจิตหัวใจ ความเป็นมนุษย์อยู่บ้าง เขาจะรู้สึกได้ไม่ยากว่า คนที่กำลังร่วงหล่นลงพื้นนั้น เป็นญาติพี่น้องของตัวเอง เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพี่เป็นน้อง จะยังยินดีที่เห็นภาพความสูญเสีย ภาพที่ตอกย้ำความรู้สึกเช่นนั้น ซ้ำๆหรือไม่

หลายครั้งที่ปรากฎข่าวเหตุการณ์อุบัติภัย เหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่นำมาสู่ความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของผู้คน เราเสนอข่าวและภาพนั้นได้ในอีกหลายมิติ เช่น สัญญาณเตือนภัยที่ช้าเกินไปในกรณีที่เกิดขึ้นที่อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ครั้งนี้ สาเหตุที่เกิดกลุ่มควัน อันอาจมาจากการประมาทของคน หรือแม้กระทั่งการซ้อมกรณีเกิดอัคคีภัย ซึ่งเวลาที่เกิดเหตุการณ์จริง กลับไม่สามารถปฎิบัติได้เหมือนที่ซ้อมกันไว้

แม้หลักการทำงานของสื่อ คือการสะท้อนภาพหรือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างครบถ้วน และรอบด้าน แต่ในบางเรื่อง ที่เป็นความสูญเสีย เป็นความทุกข์โศกและเคราะห์กรรมของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ควรมีหลักคิดที่ชัดเจนบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ คือการปกป้องผู้สูญเสีย และตระหนักว่าสิ่งนี้สำคัญมากกว่าสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของผู้คน     

เราอาจคาดหวังไม่ได้มากนัก ที่สื่อจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ในสภาพแห่งการแข่งขันเช่นนี้ แม้กระทั่งองค์กรวิชาชีพสื่อ ที่ผู้บริหารก็ล้วนทำงานอยู่ในสื่อที่ละเมิดจริยธรรมนั้นเอง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยที่ไม่มีใครทำอะไรได้

ความหวังที่เหลืออยู่ คือคนที่บริโภคข่าวสาร จะต้องปฎิเสธไม่อ่าน ไม่ดู ไม่ฟังสื่อเหล่านี้ เพื่อให้มาตรการทางสังคมได้ทำหน้าที่ของมันอย่างจริงจังเสียที

 หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1225 วันที่ 12  - 25 เมษายน 2562

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์