วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2562

รัฐบาลแห่งชาติ นำชาติพ้นวิกฤติ คิดได้แต่ไปไม่ถึง !

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ม่ว่าสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โยนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะออกมาในรูปแบบใด แต่แนวโน้มที่ทุกฝ่ายมองเห็นตรงกัน คือไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลซีกพลังประชารัฐ หรือซีกเพือไทย ล้วนเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ การเมืองไทยมีแต่จะชิงไหวชิงพริบกัน โอกาสที่รัฐบาลจะบริหารอย่างราบรื่น เหมือนในยุครัฐบาลที่มี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นหลังอิงหามีไม่

แม้ว่าทั้งสองฝ่าย จะดึงดันที่จะจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ โดยพลังประชารัฐอ้างความชอบธรรมจากคะแนนเสียงรวม เพื่อไทยยืนยันความชอบธรรมจาก จำนวน ส.ส.เขต โดยเฉพาะพลังประชารัฐที่คาดว่า จะผลักดันให้ได้ตัวนายกรัฐมนตรีก่อน จากนั้นจะหาเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายตรงข้าม ในทำนองงูเห่า ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในห้วงระยะเวลารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

คำถาม ก็คือ นี่เป็นวิถีทางที่สะท้อนถึงคุณค่าของการเมืองแบบประชาธิปไตยหรือไม่ และการได้เสียงสนับสนุนด้วยเสียงที่ฉ้อฉล หรือการยอมรับบทบาทนักการเมืองที่มุ่งแต่แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ โดยไม่มีหลักการ ไม่มีอุดมการณ์ แม้รัฐธรรมนูญจะเปิดช่องให้การเมืองระบบพรรค ไม่มีอำนาจที่จะควบคุมสมาชิกได้อีกต่อไปก็ตาม

จะเห็นว่าทุกทางเดิน คือทางตัน ดังนั้น ข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ของนายเทพไท เสนพงศ์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้มิใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อทุกคนมองอนาคตการเมืองไทยแล้ว ต่างเห็นพ้องกันว่า ไม่มีอนาคต ภาพอันเลือนรางของรัฐบาลแห่งชาติ ก็กลับมาอยู่ในวงเสวนาของผู้คนอีกครั้ง

หากย้อนหลังไปดูแนวคิดนี้ จะเห็นว่าคนที่เสนอเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง ทุกครั้งที่สถานการณ์การเมืองวิกฤติ คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ไม่เคยได้ขานรับ ซึ่งหากพิจารณาความเป็นนักยุทธศาสตร์ของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ สถานะรัฐบาลแห่งชาติในความเห็นของเขา คือทางออกที่ดีที่สุดในยามที่การเมืองไม่มีทางออก

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของรัฐบาลแห่งชาติ เป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะนักการเมืองคิดถึงอำนาจมากกว่าบ้านเมือง แม้พวกเขาจะรู้ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ความเสียหายย่อยยับของบ้านเมือง ไม่อยู่ในจิตสำนึกความรับผิดชอบ

หากเป็นรัฐบาลแห่งชาติ  แนวทางคือการหานายกรัฐมนตรีคนกลาง ซึ่งย่อมไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือบุคคลใดก็ตามที่มีภาพตัวแทนของขั้วการเมือง จากนั้นรัฐบาลแห่งชาติภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนกลาง ก็จะใช้เวลาจัดการบริหารประเทศชั่วคราวในระยะเวลา 1-2 ปี วางระบบ แบบแผน ให้เรียบร้อย ก่อนจะคืนอำนาจไปสู่ประชาชนอีกครั้ง

เมื่อพูดถึงนายกคนกลาง ที่อยู่นอกวงการเมือง และอยู่ในฐานะอันเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ขณะนี้ก็มีการพูดถึงชื่อองคมนตรี เช่น นายพลากร สุวรรณรัฐ ซึ่งเป็นองคมนตรีท่านหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในการปฎิบัติภารกิจต่างๆแทนพระองค์ ซึ่งหากเป็นจริง ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีสมัยหนึ่งก็มาจากตำแหน่งองคมนตรี

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองคมนตรี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจร ถวายบังคมลาออก

แน่นอนว่า แนวทางนี้เป็นไปได้ยาก แต่หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างยอมถอย และประกาศเปิดทางให้นายกฯคนนอก ซึ่งอาจจะมาจากองคมนตรี ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียสละ และเห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโฑสต์ ฉบับที่ 1226 วันที่ 26 เมษยน - 2 พฤษภาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์