วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

พิธีกรรายการทีวี กับข้อหาหมิ่นประมาท และประเด็นประโยชน์สาธารณะ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

มีบางคดี ที่พิธีกรรายการโทรทัศน์ ถามผู้ร่วมรายการ แล้วถูกฟ้องหมิ่นประมาท คำถามว่า พิธีกรซึ่งมีบทบาทเพียงผู้ตั้งคำถามนั้น จะมีความผิดหรือไม่ เพียงใด นั่นกรณีหนึ่ง อีกกรณีหนึ่งคือการให้สัมภาษณ์ ในประเด็นสาธารณะ หรือการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท
  
พิธีกร ผู้ดำเนินรายการ ผู้ประกาศข่าว อาจมีประเด็นถูกฟ้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท จากการทำหน้าที่ ซึ่งแนวคำวินิจฉัยของศาลที่ผ่านมา ถือเป็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นข้อยกเว้นความผิด ดังนั้น การทำหน้าที่โดยปกติของพิธีกร ผู้ดำเนินรายการ และผู้ประกาศข่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
  
ตัวอย่าง เช่น คดีบริษัท ทุ่งคำ จำกัด บริษัทในเครือบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ฟ้อง วันเพ็ญ หรือ พลอย นักข่าวเยาวชน ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเลย  กรณีที่เธอให้สัมภาษณ์นักข่าวภาคสนาม ไทยพีบีเอส มีเนื้อหาพาดพิงถึงบริษัท เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความผิด ตาม (3) มาตรา 329 ประมวลกฎหมายอาญา
  
พลอยให้สัมภาษณ์ ขณะออกค่ายเยาวชนที่วัดโนนสว่าง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ในทำนองว่า “ลำน้ำฮวยได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ โดยลำน้ำฮวยมีสารปนเปื้อน ทำให้ใช้ดื่ม ใช้กินไม่ได้”


คดีของพลอย ยุติไป เนื่องจากผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย มีความเห็นไม่อนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ ผู้เสียหาย ไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องศาลเยาวชนและครอบครัว ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 99 ที่ห้ามมิให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาซึ่งมีข้อหาว่าเด็กและเยาวชนกระทำความผิดต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ
  
แต่กรณีของพลอย ก็มีการวินิจฉัยข้อยกเว้นในประเด็นนี้ ในคดีที่บริษัท ทุ่งคำ ยื่นฟ้ององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ผู้ดำเนินรายการ รวมทั้งผู้บริหาร ส.ส.ท.ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต่อมา ศาลพิพากษายกฟ้อง
  
ศาลวินิจฉัยว่า เสียงของประชาชนในท้องถิ่นที่พูดถึงมลพิษในลำน้ำฮวย มาจากคำถามของผู้สื่อข่าว ที่ไม่มีลักษณะเป็นการชี้นำ และเสียงของเยาวชนมาจากการร่วมกิจกรรมค่ายเรียนรู้เรื่องสายน้ำ ซึ่งพูดไปในทางเดียวกันว่ามีการปนเปื้อนในลำน้ำ สอดคล้องกับผลการตรวจคุณภาพน้ำและประกาศเตือนของราชการ ครอบคลุมพื้นที่บ้านของพลอย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักข่าวไทยพีบีเอสก็พูดซ้ำคำพูดของพลอยเท่านั้น
  
รายการโทรทัศน์ตอนดังกล่าว เกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สังคมให้ความสนใจ เพราะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของทุกคน เมื่อจำเลยในฐานะสื่อมวลชนนำเสนอปัญหาให้ประชาชนทราบ โดยได้ไปสืบสวนหาข้อเท็จจริงมา ไม่ได้สร้างขึ้นเอง และรายงานตามที่ชาวบ้านผู้อยู่ในพื้นที่สะท้อนออกมา จึงถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต อันเป็นการติชมอันเป็นวิสัยที่ประชาชนพึงกระทำ ไม่เกินขอบเขต ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา  

ดังนั้น จึงพอจับหลักได้สำหรับพิธีกรผู้ตั้งคำถาม ว่าแม้ผู้ร่วมรายการจะให้สัมภาษณ์ หรือกล่าวถ้อยคำที่เป็นหมิ่นประมาทหรือไม่ก็ตาม พิธีกรไม่ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการร่วม และยิ่งเป็นประเด็นประโยชน์สาธารณะก็ยิ่งมั่นใจได้ว่า ถึงถูกฟ้องก็ชนะ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1230 วันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์