วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

จับกระแสม็อบบ้านดง ในสถานการณ์ ค.1-การเมืองท้องถิ่น

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

รากฎการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) เป็นมหากาพย์ที่มีมาต่อเนื่องทุกยุคสมัย จากยุคแรกๆที่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ทันสมัย ส่งผลกระทบต่อชุมชน จนกระทั่งถึงยุคที่ กฟผ.มีเครื่องไม้เครืองมือทันสมัย สามารถตรวจสอบ วัดค่า และจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เด็ดขาด

ถึงกระนั้น การกระทบกระทั่งกัน การจัดสรรเงินและผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นเงื่อนไขให้ กฟผ.ต้องปฎิบัติตาม เช่น การจัดให้มีกองทุนไฟฟ้า หรือกองทุนอื่นๆที่มีลักษณะเดียวกัน ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ที่แตกออกเป็นความขัดแย้ง อย่างกว้างขวาง ทั้งระหว่าง กฟผ.กับชาวบ้าน หรือแม้แต่กลุ่มชาวบ้านด้วยกันเอง

ความเคลื่อนไหวล่าสุด ที่นายศุกษ์ ไทยธนสุกานต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล บ้านดง (อบต.บ้านดง) นำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านกลุ่มหนึ่งไปยื่นหนังสือถึงนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เมื่อราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อขอให้เร่งรัด กฟผ.แก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ด้านหนึ่งก็น่าจะเป็นหน้าที่โดยปกติของนายกฯอบต.

แต่ด้านหนึ่งก็เกิดข้อสงสัย ซึ่งนายศุกษ์ ไทยธนสุกานต์ ในฐานะบุคคลสาธารณะ ก็ต้องยอมรับว่า เมื่ออาสามาทำหน้าที่นี้แล้ว ก็ต้องมีความกล้าหาญเพียงพอในการรับคำวิพากษ์วิจารณ์ และอธิบายข้อสังเกตุนั้น ให้สิ้นสงสัย

ข้อสงสัยประการแรก คือ แม้จะชูธงนำมาว่า ต้องการให้ผู้ว่าฯเร่งรัดแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน บ้านดง ซึ่งกฟผ.ได้ขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่เป็นที่ทิ้งมูลดิน จากการทำเหมืองลิกไนต์ ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากฝุ่น กลิ่น และเสียงมานาน แต่ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา
เพราะเหตุผลที่ นายศุกษ์ อธิบาย

 “..ที่ผ่านมา ต.บ้านดงได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก กฟผ.ตามบันทึกข้อตกลงปี 20 ล้านบาทก็จริง แต่ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการงบประมาณเองได้โดยอิสระ  โดยงบ 8 ล้านบาท ให้หมู่บ้านเสนอโครงการมาหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท และที่เหลือ 12 ล้านให้ อบต.บ้านดงจัดการ นำมาแก้ไขปัญหาต่างๆ  ซึ่งการทำโครงการของหมู่บ้านก็มักจะมีปัญหา บางหมู่บ้านงบตกไป 2-3 แสนบาท ก็ต้องมาหักที่ส่วนรวมของ อบต.ไป  ทำให้ไม่ได้รับงบประมาณที่ชาวบ้านควรจะได้ ชาวบ้านเสียประโยชน์ด้วยเงื่อนไขข้อระเบียบต่างๆ  ยกตัวอย่างในช่วงปี 59-60 ได้ใช้งบประมาณเพียง 8 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนเงินทีเหลือก็ต้องตกไปและกลับคืนให้กับทาง กฟผ. เงินไม่ได้เข้า อบต.ไม่ได้ลงสู่ชาวบ้านอย่างที่ควรจะเป็น  ขณะที่บุคคลภายนอกมองว่า ต.บ้านดงได้รับงบประมาณจาก กฟผ.จำนวนมาก แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น  จึงอยากให้ปลดระเบียบการใช้เงิน 20 ล้านให้ อบต.บริหารจัดการเอง”

แปลว่า ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลความเดือดร้อนของชาวบ้านอย่างไรก็ตาม แต่ประเด็นอยู่ที่ การขอเงิน 20 ล้านบาท ซึ่งโดยระเบียบบริหารจัดการ ตรวจสอบโครงการ อนุมัติโครงการ เป็นของ กฟผ.หากเงินจ่ายไปทั้งหมด 20 ล้าน แล้วให้เป็นการบริหารจัดการของ อบต.กฟผ.ก็ต้องรับผิดชอบต่อ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) ซึ่งน่าจะขัดต่อระเบียบ และไม่มีประเพณีปฎิบัติที่เคยทำกันมาก่อน 

ข้อสงสัยถัดมา จังหวะการเคลื่อนไหวนี้ สอดคล้องกับเวลาที่ กฟผ.กำลังจะทำ ค.1 คือการรับฟังความเห็นในโครงการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน เครื่องที่ 2 ทดแทนเครื่องที่ 8 -9 การก่อกระแสล้มระเบียบขอ 20 ล้านมาบริหารจัดการเอง จะเป็นเงื่อนไขสร้างปมปัญหาความขัดแย้งในเวที ค.1 หรือไม่

และก็ยังมีข้อสงสัยว่า ใครก็ตามที่กำเงิน 20 ล้านบาทไว้ ไม่ว่าจะยืนยันว่าจะจัดการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาลหรือไม่ ก็ยังมีโอกาสเอื้อต่อการเมืองท้องถิ่น ซึ่งจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

การต่อสู้เพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนของชาวบ้านนั้น เป็นหน้าที่ปกติของผู้บริหารการเมืองท้องถิ่น แต่ควรต้องแน่ใจ และกล้าหาญเพียงพอที่จะยอมรับการตรวจสอบหรือไม่ว่า ความต้องการแท้จริงอยู่ที่ไหน เงินหรือชาวบ้าน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1236 วันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์