วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เมืองรถม้า

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่รวมตัวกันจากกลุ่มของผู้รักสุขภาพ โดยการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดภัย ส่งต่อให้ผู้บริโภค คืนความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ อีกทั้งยังคืนความสดชื่นให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เมืองรถม้า ได้เริ่มจดทะเบียนเมื่อประมาณเดือนตุลาคม ปี 2561 โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ใน จ.ลำปาง ที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน ที่ต้องการทำเกษตรให้หลากหลาย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยออกสู่ตลาดผู้บริโภค  ปัจจุบัน มีสมาชิกประมาณ 20 ราย โดยสมาชิกที่ผ่านการตรวจมาตรฐานแปลงแล้ว 6 ราย 


ศิรพล บุญเสริม  หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เมืองรถม้า กล่าวว่า เริ่มมีความคิดทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่อายุได้ 40 ปีต้นๆแล้ว เนื่องจากว่าเริ่มเห็นคนวัยเดียวกันป่วยเป็นโรคต่างๆ ทั้งที่บางคนออกกำลังกายดูแลตัวเอง จึงมองไปถึงเรื่องการบริโภคอาหาร และเริ่มปลูกต้นไม้ พืชผักที่รับประทานได้ ส่วนตัวเองได้เริ่มจากการปลูกข้าวก่อน เพราะข้าวเป็นอาหารหลักที่คนเรารับประทานทุกมื้อ เมื่อข้าวเป็นอาหารแล้วต้องทำข้าวให้เป็นยาด้วย เช่น ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ ข้าวต้านโรค เป็นต้น เริ่มทำเพื่อคนในครอบครัวก่อน ให้ลูกได้รับอาหารที่ปลอดภัย และส่งต่อให้คนอื่นได้รับประทานด้วย  จึงมีแนวคิดรวบรวมผู้ที่ผลิตอาหารต้นทาง เป็นวัตถุดิบที่ดีให้มารวมอยู่ที่เดียวกัน  ซึ่งก็ยังขาดในด้านของปศุสัตว์ในกลุ่มเนื้อสดอยู่ที่จะต้องหาเข้ามาเพิ่มเติม แต่คนที่ทานอาหารเจและมังสวิรัติถ้ามาหากลุ่มเราก็จะได้รับอาหารที่ปลอดภัยอย่างครบถ้วนอย่างแน่นอน



อานุภาพ กาญจนไพศิษฐ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม กล่าวถึงการเข้าร่วมกลุ่มว่า อดีตเป็นผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ ได้เกษียณอายุออกมาเริ่มทำการเกษตรปลอดภัย โดยมาจากความชอบส่วนตัว ได้วางแผนว่าบั้นปลายชีวิตจะต้องทำเกษตร  ช่วงอายุ 55 ปี จึงได้ขอย้ายงานมาอยู่ศูนย์ชีววิถีของ กฟผ.แม่เมาะ เพื่อเรียนรู้และเตรียมความพร้อมให้กับตัวเอง ได้องค์ความรู้มาระดับหนึ่ง หลังจากเกษียณออกมาก็มาทำสวน เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. 60 ถึงปัจจุบัน ตั้งเป้าหมายไว้ว่าเดือนที่ 37 ขอให้สวนมีรายได้ที่เลี้ยงตัวเองได้ ไม่ได้คาดว่าจะได้เงินทุนคืนหรือได้กำไร โดยส่วนตัวแล้วไม่ได้มองเม็ดเงินเป็นสิ่งแรก แต่อยากให้ชาวบ้านได้เข้าถึงผักปลอดภัย เมื่อชาวบ้านได้รับประทานผักที่สะอาดปลอดภัย คนทำก็มีความสุข


ทวีวัฒน์ เคลือบหิรัญ หรือหมอวี เป็นอีกคนหนึ่งที่ผันจากอาชีพเดิมคือ พนักงานบริษัท มาทำการเกษตรเต็มตัว  โดยหมอวี ได้เล่าว่า จบคณะสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยทำงานอยู่แผนกฝ่ายขาย ซึ่งในเวลาทำงาน 10 ปีที่ผ่านมา เห็นสัตว์ป่วยมาตลอด ตนเป็นคนสั่งจ่ายยาให้กับสัตว์เหล่านั้น และยังเห็นว่ามีการจ่ายสัตว์ออกจำหน่ายตลอด โดยสัตว์เหล่านั้นยังคงมีสารเคมีตกค้างอยู่ก่อนจะส่งตรงต่อผู้บริโภค  และประเด็นสำคัญคือคุณแม่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง คุณพ่ออยากมีสวนเล็กๆ จึงทำให้เกิดไร่ธรรมชาติขึ้น บนพื้นที่ 9 ไร่  โดยการเลี้ยงไก่ในระบบอิสระ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ใช้สารเคมีน้อยที่สุด กระทั่งได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ในกลุ่มเพราะเรามีแนวคิดคล้ายกัน คือต้องการผลิตอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ได้ทานอาหารที่สะอาด ให้สุขภาพของคนลำปางดีขึ้น



นภดล หรือ ช่างอู๊ด เจ้าของ ไร่ ช.อู๊ดลำปาง  อดีตช่างไอทีที่ผันตัวมาทำการเกษตรเช่นกัน ด้วยความชอบปลูกต้นไม้ อยากจะปลูกผักกินเองในครอบครัว จึงได้ลองผิดลองถูกเรื่อยมา แต่พบปัญหาแมลงและโรคต่างๆ เคยใช้เคมีในการแก้ปัญหา ทั้งปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง แต่เกิดผลค้างเคียงกับตัวเองอย่างเห็นได้ชัด คือการแพ้สารเคมีเหล่านี้ เข้าแปลงไม่ได้หลายวันเพราะมีอาการเมายาและอาเจียน  ช่างอู๊ด จึงเริ่มศึกษาการทำเกษตรโดยที่ไม่ใช้สารเคมี จากหนังสือตำราต่างๆ และทางอินเตอร์เน็ต ทั้งของต่างชาติและของไทย นำมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน  จากนั้นได้งดสารเคมีทุกอย่างและฝึกทำปุ๋ย และชีวภัณฑ์ใช้เอง จนทุกอย่างลงตัวและพร้อมที่จะเผยแพร่ต่อ โดยในตอนแรกได้ประสบปัญหาผลผลิตมากเกินไปทำให้ขายไม่ได้ จึงต้องมาศึกษาด้านการตลาดเพิ่มเติม และมีโอกาสได้เข้าร่วมกับกลุ่มที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน



โดยเป้าหมายหลักของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เมืองรถม้า เกิดจากความต้องการอยากให้มีอาหารที่ดีและปลอดภัยให้คนได้รับประทาน  การรวมกลุ่มกันจึงเกิดประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนในหลายด้าน ทั้งเทคนิค องค์ความรู้ ประสบการณ์ นำมาแชร์กันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ออกมาเรื่อยๆ ซึ่งข้อดีของการทำเกษตรปลอดภัย  เกษตรกรเองก็จะได้สุขภาพจิตที่ดีสุขภาพร่างกายที่ดี ได้ส่งต่อสิ่งดีๆให้กับผู้บริโภค ได้คืนสิ่งดีให้กับสิ่งแวดล้อมไม่มีการใช้สารเคมีปนเปื้อน และมากกว่านั้นคือ การทำเกษตรอินทรีย์เป็นส่วนหนึ่งของการบุญทางอ้อม คือไม่ได้ส่งยาพิษให้กับผู้บริโภค

สอบถามรายละเอียด ผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดภัย โทร.089-120-9889
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์