วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

คนบ้านบอม รับรู้ไม่ทัน ค้านเหมือง แม่เมาะแม่ทาน ย้ำไม่คุ้มเสี่ยง

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

แกนนำคัดค้านเหมืองบ้านบอมยัน ไม่รู้เรื่องก่อนรับฟังความคิดเห็น  ผิดเองที่ไม่ปฏิเสธไปตั้งแต่แรก เหตุขาดข้อมูลประกอบ ด้านผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแม่เมาะและแม่ทานเตือน อย่าเสี่ยงชีวิตกับผลประโยชน์ที่ไม่มีทางได้จริง

จากกรณีที่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย(ลำปาง) จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ จำนวน 4 ประทานบัตร ในพื้นที่ ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ จ.ลำปาง รวมพท้นที่ประทานบัตรกว่า 958 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ผลิตปูนซีเมนต์ของโรงงาน และส่วนหนึ่งจะมีการขนส่งไปแหล่งรับซื้อภายนอก แต่มีชาวบ้านออกมาคัดค้านการทำเหมืองเป็นเหตุให้การดำเนินการหยุดชะงัก และยังอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง

· ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง
น.ส.ลัด (นามสมมติ) แกนนำผู้คัดค้านเหมืองถ่านหินลิกไนต์บ้านบอม กล่าวว่าหลายปีแล้วที่มีบริษัทเอกชนรายใหญ่ทำเสมือนว่าเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อขุดเจาะน้ำประปาแต่แท้จริงมาสำรวจถ่านหินลิกไนต์ นับจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่ได้ทราบเรื่องอะไรอีกเลย รู้เพียงแต่ทางบริษัทเอกชนนั้นเข้ามาทำกิจกรรมกับหมู่บ้านหลายครั้ง เช่น เป็นผู้บริจาครายใหญ่ของงานงานทอดกฐินประจำปี ผู้นำหมู่บ้านแม้จะทราบเรื่องมาก่อนแต่ไม่ได้แจ้งอะไรกับชาวบ้าน เพียงแค่ถามความคิดเห็นจากคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเหมืองมากนัก หลายคนจึงยกมือสนับสนุนไปเพราะคำกล่าวอ้างที่บอกว่าการมีเหมืองจะทำให้หมู่บ้านเจริญมากขึ้น จึงทำให้ผู้นำหมู่บ้านคิดว่าคงไม่มีใครคัดค้านการทำเหมืองนี้

ชาวบ้านที่เหลือส่วนใหญ่มาทราบพร้อมกันว่าจะมีการทำเหมืองในวันที่บริษัทเอกชนนั้นเข้ามาทำประชาพิจารณ์ในหมู่บ้านเมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา จึงทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนไม่พอใจและตั้งตัวเป็นผู้นำ กระตุ้นให้ชาวบ้านรับรู้ถึงผลกระทบจากการทำเหมือง แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าการเข้ามาของบริษัทเอกชนจะทำให้ชาวบ้านมีสวัสดิการที่ดีมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงชาวบ้านมักจะไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควร ดูได้จากบ้านแม่ทานที่ทำเหมืองมาเกือบ 50 ปี ยังไม่เจริญขึ้นมากเท่าไร บ้านบอมยังเจริญกว่าเสียอีก และโครงการเหมืองดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านบอมเพียง 7 กิโลเมตร พื้นที่ที่จะก่อสร้างมากกว่าหนึ่งพันไร่ ทุกวันนี้แม้จะยังไม่มีเหมืองน้ำก็แห้งแล้ง ฝนก็ไม่ตก นาก็ไม่มีน้ำใช้อยู่แล้ว ยิ่งมีเหมืองมาก็ยิ่งจะไปกันใหญ่

· เดินเกมผิดเพราะไม่ปฏิเสธตั้งแต่แรก
น.ส.ลัด กล่าวต่อว่าต้องยอมรับว่าชาวบ้านเดินเกมผิดที่ในครั้งแรกไม่ได้ปฏิเสธให้จริงจัง แต่มาจากการที่ไม่ได้เตรียมข้อมูลมามากพอ ซึ่งในการทำประชาพิจารณ์คราวหน้าจะร่วมมือกับชาวบ้านที่เหลือเพื่อปฏิเสธการสร้างเหมืองให้จริงจังมากขึ้น เพราะนอกจากการทำเหมืองจะไม่มีประโยชน์กับชาวบ้านในหมู่บ้านที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา และค้าขายแล้ว ผลประโยชน์ก็เข้าไม่ถึงชาวบ้านบ้านบอมอยู่ดี และยังมีปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว เพราะชาวบ้านจากบ้านแม่ทานบอกกับเขาว่า บริษัทมักจะไม่จ้างคนในชุมชน ถึงจะมีการจ้างแต่มักไม่ใครทำเพราะค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทเท่านั้น ไม่มีใครเขาเอาสุขภาพไปแลกกับเงินจำนวนเท่านี้

การต่อต้านในครั้งนี้ทางแกนนำทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการต่อสู้กับบริษัทใหญ่ต้องป้องกันตัวเองไว้ให้ ป้ายทุกป้ายที่ติดตามหมู่บ้านขออนุญาตจากส่วนราชการทั้งหมด วันที่ชาวบ้านมีการประชุมเพื่อรับทราบเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบจากเหมืองก็มีตำรวจเข้ามาตรวจสอบความเรียบร้อยจำนวนมาก

· เสียงจากชาวบ้านบอม
นายธนวัต วงศ์พรม ชาวบ้านบ้านบอม กล่าวว่าเขาต่อต้านเหมืองลิกไนต์เพราะพื้นที่ป่าที่จะทำเหมืองเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำของหลายชุมชน พอชาวบ้านส่วนใหญ่รู้ว่าจะมีการสร้างเหมืองก็ต่อต้านแต่จะผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากกว่า ส่วนมากคนที่ต่อต้านจะเป็นคนที่มีลูกอายุน้อย เพราะกลัวลูกได้รับผลกระทบจากมลพิษ การทำประชาพิจารณ์ครั้งแรกที่บริษัทเอกชนและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางมาที่หมู่บ้าน เหมือนเป็นการมาหยั่งเชิงกระแสจากชาวบ้านเพียงเท่านั้น

ปกติในช่วงหน้าแล้งมักจะมีปัญหาไฟป่าอยู่แล้ว ยิ่งมีเหมืองในพื้นที่จะทำให้มีฝุ่นมากขึ้นไปอีก เพราะการทำเหมืองมีการขุดเจาะตลอดทั้งปี  ส่วนชาวบ้านที่เห็นด้วยกับการสร้างเหมือง เป็นเพราะหวังจะร่ำรวยจากการขายที่ดิน ซึ่งเขาไม่รู้ว่าเป็นที่ดินของส.ป.ก. (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) ไม่สามารถขายได้ คงได้รับเพียงเงินเวนคืนเพียงนิดเดียวเท่านั้น

 โรคที่จะมากับเหมือง ไม่คุ้มกับที่เสียไป เราอยู่ของเราแบบนี้ ไม่เดือดร้อน ส่งลูกเรียนได้ ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ นายธนวัตกล่าว

·  ผู้เฒ่าบ้านบอมห่วงน้ำแห้ง
ผู้เฒ่าผู้แก่ อดีตแกนนำเป็นทางการจากหมู่ 1 ต.บ้านบอม กล่าวว่า อ่างแม่กองอยู่ห่างจากหมู่บ้าน 7 กิโลเมตร ซึ่งน้ำในอ่างไหลมาจากห้วยแม่กอง เป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านเกษตรกรรมกว่า 2,000 ไร่ และเหมืองที่จะสร้างตั้งอยู่เหนือห้วย จะทำให้น้ำไม่ไหลลงอ่าง ชาวบ้านเหล่านั้นจะได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นยังเป็นห่วงเรื่องสารเสพติด มลพิษ สารพิษจากควัน ซึ่งคนบ้านหมู่6 จะเสียเปรียบมากที่สุด เพราะคนในบ้านหมู่6 มีที่นาติดอ่างแม่กอง ส่วนหมู่1 กับหมู่5 ใช้น้ำจากอ่างแม่วะ จึงไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร ทางบริษัทเอกชนที่ทำเหมืองมีคำอธิบายว่า ในกรณีที่อ่างแม่กองเหือดแห้งนั้น จะแก้ปัญหาด้วยการต่อท่อจากอ่างแม่วะมายังอ่างแม่กอง ความยาวทั้งสิ้น 8 กิโลเมตร แต่คำถามคือ จะเอางบมาจากไหน ทำได้จริงหรือไม่ อีกทั้งมีความเห็นเพิ่มเติมจากผู้อาศัยอยู่ที่ ต.บ้านแม่ไท ซึ่งอยู่ห่างจากเหมืองแม่ทาน 20 กิโลเมตร ที่ยืนยันว่า ยังมีการได้กลิ่นเผาไหม้และควันไฟ แสดงว่า บ้านบอมที่ห่างจากเหมืองที่จะก่อสร้างเพียง 7 กิโลเมตร จะได้รับผลกระทบแน่นอน

· อำเภอรับทราบข้อคัดค้าน
นางสุรีย์ มาปลูก นายอำเภอแม่ทะ กล่าวว่า อำเภอแม่ทะได้รับทราบข้อคัดค้านของชาวบ้านบ้านบอมแล้ว และได้ส่งรายงานไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งมีการสอบถามไปที่บริษัทปูนซีเมนต์ (ลำปาง) ถึงกรณีดังกล่าวแต่ได้รับการตอบกลับว่าเป็นการดำเนินงานของบริษัทแม่ที่กรุงเทพมหานคร อีกทั้งการดำเนินการสร้างเหมืองจะไม่ได้เกิดขึ้นภายในเร็วๆ นี้แน่นอน เพราะยังไม่ผ่านการประชาพิจารณ์และยังต้องมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งตอนนี้การดำเนินการยังอยู่ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ต้องติดตามต่อไป ส่วนการคัดค้านการก่อสร้างเหมืองครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้นในอำเภอแม่ทะแม้จะมีการก่อสร้างเหมืองมาหลายครั้งแล้วก็ตาม

· รอคำวินิจฉัยจากส่วนกลาง
นางสาวศุภารัตน์ สีมะสิงห์ นักวิชาการอุตสาหกรรมปฏิบัติการ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กล่าวว่า หลังจากชาวบ้าน ต.บ้านบอมคัดค้านการสร้างเหมือง ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางจึงต้องทำรายงานประกอบกับรายละเอียดการสร้างเหมืองของบริษัทเอกชน ไปให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่พิจารณา ซึ่งตอนนี้เรื่องเข้าสู่ส่วนกลางแล้ว ไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้ โดยผลจากการวินิจฉัยเป็นไปได้สามแบบ คือ หากไม่สามารถวินิจฉัยได้ก็คงต้องทำประชามติตัดสินใจ หากวินิจฉัยอนุมัติให้บริษัทเอกชนทำเหมือง ก็ต้องส่งเรื่องต่อไปยังกรมป่าไม้หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำประชาพิจารณ์ใหม่อีกครั้ง หรือหากผลออกมาว่าไม่อนุมัติเรื่องก็ถือเป็นอันยุติ และอาจจะมีแจ้งให้ประชาชนผู้เกี่ยวข้องทราบว่าการทำเหมืองถือว่าหยุดการดำเนินการแล้ว ซึ่งต้องรอให้ส่วนกลางเป็นผู้ตัดสินใจ

· ป่าไม้ยังไม่ได้ลงพื้นที่
นายชูเกียรติ พงศ์ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) กล่าวว่า ในกรณีของเหมืองถ่านหินลิกไนต์บ้านบอม สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ยังไม่ได้ลงไปเห็นพื้นที่จริง เนื่องจากยังไม่ถึงขั้นตอนในการที่สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปางยื่นเอกสารขออนุญาตต่อสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ แต่โดยระเบียบแล้ว จะต้องดูว่าในการสร้างเหมือง จะใช้พื้นที่ป่าแบบไหน ซึ่งหากเป็นป่าสมบูรณ์จะไม่สามารถอนุญาตให้สร้างได้ ต้องเป็นป่าเสื่อมโทรม และต้องดูว่าชาวบ้านจะได้รับผลกระทบหรือไม่ด้วย

· บทเรียนจากแม่เมาะ
นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า บทเรียนการสร้างเหมืองถ่านหินสามารถดูได้จากการสร้างเหมืองแม่เมาะ แม้ว่าเป็นเหมืองขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์มากมาย แต่ผลกระทบมีมากกว่านั้น สิ่งที่ได้ไม่คุ้มกับที่เสียไป ผู้ประกอบการได้ผลประโยชน์แต่พื้นที่ชุมชนเสียประโยชน์ท ไม่เคยมีบริษัทไหนกล้าบอกว่าผลเสียที่เกิดขึ้นกับรายได้ที่จะได้รับจะคุ้มค่า การจะสร้างเหมืองที่บ้านบอมมีผลกระทบแน่นอน คำถามที่ตามมาคือเหมืองจะป้องกันซัลเฟอร์ที่เกิดจากลิกไนต์สันดาบตัวเองอย่างไร ใช้เครื่องกรองตัวไหน บริษัทต่างๆ ที่บอกกับชุมชนว่าจะสร้างสวัสดิการ สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้คนในชุมชนล้วนเป็นโฆษณาชวนเชื่อ ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีสักกี่คนที่ได้รับ ในเรื่องการจ้างงานสร้าง ถามว่าคนในชุมชนที่ไม่มีความรู้ จะเข้าไปทำในตำแหน่งอะไร เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นคนทำความสะอาด หรือเป็นวิศวกร

“มะลิวรรณฝากถึงชาวบ้านบอม ให้ยกแม่เมาะเป็นกรณีตัวอย่าง เป็นอาจารย์ใหญ่ ก่อนที่จะตัดสินใจอะไร ให้ลองย้อนไปดูเหมืองในประเทศไทยที่ผ่าน ๆ มา ไม่เคยมีเหมืองต้นแบบในการฟื้นฟูที่แท้จริง” นางมะลิวรรณกล่าว

· บทเรียนจากเหมืองเพื่อนบ้าน
นางสาวนัด (นามสมมติ) ชาวบ้านแม่ทานที่เติบโตมากับเหมือง กล่าวว่าสาเหตุที่ไม่มีชาวบ้านแม่ทานออกมาประท้วงเรื่องการทำเหมืองแม่ทาน เพราะเหมืองเกิดขึ้นตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว ยุคที่ยังไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ ชาวบ้านจึงไม่สามารถหาความรู้ได้เหมือนในปัจจุบัน พอไม่มีความรู้จึงไม่รู้ว่าจะเอาข้อมูลอะไรไปต่อรองกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ และสมัยนั้นเขาก็ยังเด็ก ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นและไม่มีผู้นำที่เข้มแข็ง แต่หลังจากที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับเหมืองมาตลอด 50 ปี ก็พบว่าเหมืองได้สร้างผลกระทบมากมาย ทั้งเรื่องมลพิษทางอากาศที่ลิกไนต์สามารถเผาไหม้ตัวเองได้ หรือฝุ่นในการเปิดหน้าดินที่ทำให้อากาศเป็นพิษ ซึ่งการระเบิดเหมืองเปิดหน้าดินนั้นทำกันทั้งวันทั้งคืน ทำให้เกิดมลพิษทางเสียง และยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งบางพื้นที่เป็นป่าสมบูรณ์ ปัญหาสุดท้ายคือเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะน้ำปนเปื้อนสารพิษ จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของเหมือง และน้ำแห้ง เพราะน้ำใต้ดินไหลลงไปในเหมืองหมด และบางทีเหมืองไปสร้างครอบป่าต้นน้ำและห้วยต่าง ๆ ทำให้น้ำไม่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ

แม้ก่อนสร้างเหมืองทางบริษัทสัญญากับชาวบ้านว่าจะมีการจัดสวัสดิการดูแลให้แก่ชาวบ้าน แต่เงินช่วยเหลือที่ได้รับการจัดสรรมานั้นก็ไม่ถึงชาวบ้าน และชาวบ้านไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น การคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งเทศบาล อบต. และผู้ใหญ่บ้าน นอกจากนั้นเมื่อสัมปทานเหมืองสิ้นสุดลง บริษัทก็ไม่ทำตามสัญญาที่จะฟื้นฟูพื้นที่

ตลอด 50 ปีที่มีเหมืองมา ไม่มีอะไรเจริญขึ้น ถ้าอยากได้เงินช่วยเหลือ ก็ต้องไปขอไปไหว้เอา ถ้าไม่พูดอะไรเขาก็ไม่ให้ และไม่มีใครเคยรวยจากการทำเหมือง นางสาวนัดกล่าว

·  ทำงานเหมือง งานหนัก เงินน้อย
นายตุ๊ (นามสมมติ) ชาวบ้านที่เคยทำงานในเหมือง กล่าวว่าหลายสิบปีก่อนช่วงที่เหมืองยังคงมีอัตราการผลิตเต็มที่มีคนในหมู่บ้านประมาณร้อยละ 70 เลือกที่จะไปทำงานในเหมืองเหมือง มีแค่ร้อยละ 30 ที่ยังประกอบอาชีพเกษตรกร เนื่องจากชาวบ้านเห็นด้วยกับเหมืองแต่เป็นแค่คนงานระดับล่าง ใช้แรงงานหนัก ได้ค่าแรงน้อย เพียงวันละ 300 บาท เหมือนเอาชีวิตเอาสุขภาพไปเสี่ยง ชาวบ้านหลายคนที่มีที่ดินก็นำที่ดินไปขาย ได้เงินมาจนร่ำรวย แต่ในปัจจุบันนี้มีชาวบ้านที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการทำเหมือง จำนวนคนที่เข้าไปทำงานในเหมืองจึงลดเหลือประมาณร้อยละ 20 แต่ก็ยังมีเด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่เรียนจบแล้ว ที่เลือกกลับมาทำงานในเหมือง เพราะทำอย่างอื่นไม่เป็น การทำงานในเมืองนั้นไกลบ้าน ค่าครองชีพสูง กลับมาทำที่บ้านดีกว่า

ปัจจุบันนี้เหมืองแม่ทานหยุดการขุดเจาะไปแล้ว เพราะมีการเปิดหน้าดินไปจนติดถนนใหญ่ไม่สามารถขยายต่อได้ จึงต้องเปลี่ยนไปทำที่หมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านบอม บ้านกิ่ว เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะหยุดการขุดเหมืองไปแล้ว แต่ก็ยังมีกระบวนการอื่น ๆ ที่ยังดำเนินการอยู่ เช่น ยังมีการขายดินขาว บอลเคลย์ เพราะมีการกักตุนไว้ที่เหมืองแม่ทานจำนวนมากมาหลายสิบปีแล้ว และเพิ่งมีการสร้างโรงโม่ดิน มีการเข้าออกของรถบรรทุกตลอดเวลา เพราะประทานบัตรของพื้นที่แปลงนี้จะหมดอายุในปีพ.ศ. 2575 และชาวบ้านไม่รับรู้เรื่องแผนการฟื้นฟูว่าสุดท้ายแล้วหน้าตาของเหมืองหลังปี พ.ศ.2575 จะเป็นอย่างไร

· กรีนพีซยัน ไม่ควรใช้ถ่านหินในทุกกรณี
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประจำประเทศไทย กล่าวว่า เหมืองถ่านหินไม่ควรเกิดขึ้นและไม่ควรมีการใช้พื้นที่ป่าทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นป่าสงวนหรือป่าชุมชน ที่สำคัญที่สุดคือไม่ควรมีการนำถ่านหินมาใช้เพราะไม่ได้กระทบเพียงพื้นที่รอบข้างของการทำเหมืองเท่านั้น แต่กระทบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งถ่านหิน มลพิษทางอากาศจากการเอาเชื้อเพลิงถ่านหินไปเผา จนกระทั้งการจัดการมลพิษและการกำจัดเศษถ่านหิน ต่อให้เหมืองมีขนาดเล็กแค่ไหน กระทบน้อยแค่ไหนก็ไม่สมควร เพราะเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นเป้าหมายของประเทศไทยไทยและทั่วโลกซึ่งกำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ชุมชนควรลุกขึ้นมาขับเคลื่อน ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นนั้นมากกว่าเรื่องของการใช้ทรัพยากร ต้องใช้สิทธิที่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ ในการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างที่ส่งผลกระทบกับพวกเขา

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1250 วันที่ 29 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์