วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ปูนถอยตั้งหลักชะลอเหมืองฟังคนบ้านบอม ชาวบ้านร้องผู้ว่าฯ เปิดเวทีถกปัญหา

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ปูนซิเมนต์ ถอยตั้งหลัก เริ่มนับหนึ่งใหม่ ยันยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย  โดยขั้นตอนการขอประทานบัตรยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น   ขณะที่ตัวแทนชาวบ้าน ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ เข้าพบผู้ว่าฯ ขอให้ติดตามเรื่องการขอประทานบัตรเหมืองแร่ของบริษัทปูนซิเมนต์ลำปาง  รวมตัวกันจัดเวทีให้ความรู้การทำเหมืองแร่ คนเข้าร่วมรับฟังนับร้อย  วอนปูนซิเมนต์ อย่านิ่งเฉย ขอให้นำข้อมูลที่ถูกต้องมาให้ชาวบ้านได้รับทราบ       

หลังจากที่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย(ลำปาง) จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ที่ 7/2561 8/2561 9/2561 และ 10/2561 ในพื้นที่ ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เนื้อที่รวมกว่า 958 ไร่ เพื่อดำเนินการขุดแร่ลิกไนต์จะนำไปใช้ในการผลิตปูนซิเมนต์ของโรงงาน  ต่อมาได้มีกลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่งออกมาคัดค้านการทำเหมืองแร่ดังกล่าว เนื่องจากกังวลในเรื่องคุณภาพชีวิต และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมาในหมู่บ้าน เพราะพื้นที่การขอประทานบัตรของปูนซิเมนต์ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของชุมชน โดยกลุ่มชาวบ้าน ได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายก อบต.บ้านบอม และสมาชิกวุฒิสภา ไปเมื่อต้นเดือน ต.ค. 62 ที่ผ่านมา

ลานนาโพสต์ได้ติดต่อไปยัง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด เพื่อสอบถามถึงกรณีความคืบหน้าในการดำเนินการเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ ดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 13 พ.ย.62  นายประภาส แก้วพงศ์พันธุ์ ผู้อำนวยการ ธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน – ภาคเหนือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด  ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ การขอประทานบัตรดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลาปางได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ก.ย.62 ที่ผ่านมา ในพื้นที่หมู่ 6 ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร รอบพื้นที่ขอประทานบัตร ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำทุกข้อคิดเห็นมาพิจารณาหาแนวทางดำเนินการที่ดีที่สุดสาหรับทุกฝ่าย  โดยบริษัทฯ ยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง

นายประภาส กล่าวว่า การยื่นขอประทานบัตรนั้น ปกติใช้ระยะเวลาประมาณ 3-5 ปี ในการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยหากผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ครั้งที่ 1 แล้ว ขั้นตอนสำคัญต่อไปคือการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ให้ผู้ชำนาญการทางด้านสิ่งแวดล้อมภายนอกมาศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมือง รวมถึงมาตรการป้องกันต่างๆ โดยรายงานดังกล่าวต้องยื่นต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาโครงการด้านเหมืองแร่ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) รวมทั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเเห่งชาติ เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ จากนั้นจึงจะนำผลจากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาเข้ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนอีกครั้ง โดยครั้งนี้จะเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบพื้นที่ขอประทานบัตร

ซึ่งพื้นที่ ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ นั้นทางบริษัทฯ ได้รับอาชญาบัตรพิเศษจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้สำรวจแร่ถ่านหิน พบว่ามีศักยภาพมากเพียงพอเชิงเศรษฐกิจ จึงยื่นขอประทานบัตรเพื่อจะทาเหมืองแร่ถ่านหินตามกฎหมายกำหนด โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ (ป่า E) ซึ่งตามกฎหมายสามารถยื่นขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้  

นายประภาส กล่าวอีกว่า เดิมก่อนที่จะมีการประชุมรับฟังครั้งคิดเห็นครั้งที่ 1  ทางบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ได้มีการส่งทีมลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านแล้ว  แต่เมื่อมีการประชุมพบว่ายังมีชาวบ้านที่ได้รับข้อมูลไม่ทั่วถึง  ทางบริษัทฯจึงได้ดำเนินการตั้งทีมงานเพื่อที่จะลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด ในการให้ข้อมูลกับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจให้ตรงกัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเข้าพื้นที่ได้ในช่วงต้นปี 63   ทั้งนี้  บริษัทฯ ยินดีรับฟังทุกข้อคิดเห็นของชุมชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ตามเจตนารมณ์สูงสุดของบริษัทฯ ในการทำเหมืองที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม 

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 62 ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ต.บ้านบอม และ ต.บ้านกิ่ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง นำโดยนายจลุน สายหนิ้ว พร้อมด้วยชาวบ้านประมาณ 10 คน ได้เดินทางไปยังเทศบาลตำบลน้ำโจ้ อ.แม่ทะ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายณรงศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในโอกาสที่เดินทางไปประชุมมอบนโยบายให้กับผู้นำท้องถิ่นที่เทศบาลตำบลน้ำโจ้ดังกล่าว  เพื่อขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยติดตามความคืบหน้ากรณีที่ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือคัดค้านการทำเหมืองแร่ลิกไนต์ ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง จำกัด ไปยังนายก อบต.บ้านบอม และสมาชิกวุฒิสภาเมื่อช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา  รวมทั้งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของกลุ่มชาวบ้านให้ผู้ว่าฯได้รับทราบ 

โดยนายณรงศักดิ์ โอสถธนากร ได้เข้ารับหนังสือด้วยตัวเอง พร้อมกล่าวกับชาวบ้านว่า ตนเองได้รับทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้ว หลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่งก็ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสอบถามพูดคุย  ซึ่งตอนนี้ขั้นตอนการดำเนินการยังเหลืออีกมาก ขอให้ชาวบ้านสบายใจได้ไม่ต้องเป็นห่วง

ด้านนายจลุน สายหนิ้ว ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า  เมื่อได้พบผู้ว่าฯ และท่านบอกว่าทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้วก็รู้สึกสบายใจขึ้นมาอีกนิด  มีความหวังว่าทางจังหวัดจะช่วยติดตาม และช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านได้อย่างเป็นธรรม ขณะนี้ชาวบ้านได้ตื่นตัวกันมากและออกมาปกป้องรักษาบ้านเกิดของตัวเอง เนื่องจากไม่ต้องการให้มีเหมืองแร่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เพราะเท่าที่เห็นจะมีผลเสียมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน

ต่อมาวันที่ 8 พ.ย. 62 เวลา 09.00 น. ที่ศาลาเอนกประสงค์ วัดบ้านบอมหลวง หมู่ 1  ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ จ.ลำปาง  ชาวบ้านในพื้นที่ ต.บ้านบอม หมู่ 1 หมู่ 5 และ หมู่ 6 และ ต.บ้านกิ่ว  อ.แม่ทะ ประมาณ 100 คน ได้เดินทางเข้าร่วมเวทีพูดคุยเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง ที่จัดขึ้นโดยชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อต้องการให้ชาวบ้านได้รับทราบข้อมูลการทำเหมืองแร่ และทราบถึงข้อดีข้อเสียของการทำเหมืองดังกล่าว หลังจากที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองในพื้นที่ ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ จำนวน 4 แปลง รวมเนื้อที่เกือบ 1,000   ไร่   โดยมี พ.ต.อ.ภูชิชย์ ตรียัมปราย สภ.แม่ทะ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่ทะ เข้าร่วมสังเกตการณ์และดูแลความสงบเรียบร้อย

ฃในเวทีเสวนาได้มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นลูกหลานชาว ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพ เข้ามาร่วมพูดคุยให้ข้อมูลกับชาวบ้าน  โดยนำเสนอภาพวีดีโอ และภาพนิ่งเกี่ยวกับการทำเหมือง วิธีการทำงานต่างๆ รวมถึงพูดคุยเรื่องจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ ซึ่งทางบริษัทปูนซิเมนต์ฯ ระบุว่าจะมอบให้ชาวบ้านในพื้นที่ร้อยละ 20  แต่งบประมาณจะเข้าไปยัง อบต.บ้านบอม ซึ่งจะมีอำนาจอนุมัติใช้จ่ายงบประมาณได้  ไม่ได้ลงมาถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง นอกจากนั้นการเสียภาษีก็ต้องไปจ่ายให้พื้นที่ อ.แจ้ห่ม เนื่องจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง จดทะเบียนที่ อ.แจ้ห่ม ในขณะที่มีการมาขุดเหมืองแร่ในพื้นที่ ต.บ้านบอม แต่กลับไม่ได้ผลตอบแทนเท่าที่ควร  และสิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงมากที่สุดคือปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นป่าชุมชน แหล่งน้ำ ที่อาจจะทำให้ปนเปื้อนสารพิษได้  เป็นต้น

น.ส.เกสร สิทธินิ่ว ชาวบ้าน ต.บ้านกิ่ว  กล่าวว่า  การจัดเวทีในวันนี้ ต้องการให้ชาวบ้านในพื้นที่โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ได้รับทราบข้อมูลของการทำเหมืองที่จะเข้ามาในหมู่บ้านของเรา เพราะที่ผ่านมาถึงแม้จะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ชาวบ้านก็ยังไม่รู้เรื่องราวมากนัก  ในฐานะที่ตนเคยมีประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อน จึงมาให้ความรู้กับชาวบ้านจะได้เตรียมพร้อม และตั้งรับได้อย่างถูกต้อง  ส่วนการตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอาคงต้องเป็นสิทธิของชาวบ้านเอง 

สิ่งที่ต้องการจากทางบริษัทปูนซิเมนต์ไทย คือขอให้เข้ามาให้ข้อมูลกับชาวบ้านว่าทำงานไปถึงขั้นตอนไหนอย่างไรบ้าง เปิดเผยข้อมูลการทำรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA ให้ชาวบ้านได้รับทราบ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถเปิดเผยได้  ขอให้เข้ามาพูดคุยให้ข้อมูลกับชาวบ้านอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่เงียบไปเช่นนี้  น.ส.เกสร กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากจบเวทีเสวนาแล้ว ในช่วงบ่ายชาวบ้านได้เดินทางไปยังพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่ก๋อง เพื่อทำพิธีบวงสรวงสืบชะตา บูชาเทวดาฟ้าดินที่ปกปักรักษาผืนป่าดอยแม่ก๋อง พร้อมกับทำการสวดพระปริตร เพื่อขอให้เทวดาเจ้าป่าเจ้าเขารักษาผืนป่าของชาวบ้านให้อยู่อย่างยืนยาวต่อไป

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์