วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2563

สมโภชน์สะพานบุญ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ในขณะที่พระพระพุทธเจ้าทรงประสูติ ก็ปรากฏมีดอกบัวรองรับทั้งหมด 7 ก้าว หากเชื่อมโยงกับความเชื่อที่ว่าเลขเจ็ดมีกำลังแฝงเรื่องการแสดงความอดทน ความเข้มแข็ง ความพากเพียรไม่ย่อท้อ ก็คงจะไม่ผิด เมื่อนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับความเพียรในการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธองค์ จากที่กล่าวมานี้จะขอผูกโยงไปถึงวัดแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนขุนเขาแวดล้อมไว้ด้วยธรรมชาติ และความรักในชาติพันธุ์ของกลุ่มปกาเกอะญอที่หวังจะวางรากฐานไว้ที่วัดแห่งนี้เพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถานของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอสืบทอดไปสู่ลูกหลานชั่วกาลนาน


สำนักสงฆ์ชัยยะมังคะละราม วัดดอยที่สร้างขึ้นด้วยพลังศรัทธาของปกาเกอะญอ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านสันโป่ง ตำบลเสริมกลาง อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ขณะนี้ก็มีอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว หลังจากได้มีการจัดงานกฐินต่อยอดสะพานบุญ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมา (ตรงกับวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 35 พรรษา ของพระอภิชาต ชินวโร เจ้าอาวาสของวัด)


 ชาวปาเกอะญอหมู่บ้านสันโป่งก็ได้ร่วมมือร่วมใจกัน จัดพิธีทำบุญเปิดสะพานอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อแสดงความภาคภูมิใจที่สะพานที่พวกเขาร่วมกันสร้างมาแรมปีประสบความสำเร็จ โดยมีคณะศรัทธาจากกรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างสะพานแห่งนี้ โดยใช้งบประมาณในการสร้างกว่า 1 ล้านบาท

ชาวปกาเกอะญอหมู่บ้านสันโป่ง ตั้งใจสร้างสะพานให้พญานาคากับนาคีอยู่ตรงข้ามกัน ด้วยมีความเชื่อว่ามีพญานาคคอยปกปักษ์รักษาวัด


โดยในวันที่ 3 และ4 มกราคม 2563 ก็มีการทำพิธีข้ามตาแหลวที่สะพาน เนื่องจากเป็นความเชื่อของชาวเหนือที่ว่าตาแหลวเป็นสิ่งที่ช่วยปัดเป่าเคราะห์ภัยไม่ให้เข้ามากล้ำกลาย



หนึ่งคืนก่อนทำพิธีเปิดสะพานบุญ ชาวบ้านและพระสงฆ์ก็ร่วมกันกวนข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาส โดยมีหญิงสาวพรหมจารีแต่งกายด้วยชุดขาวของชนเผ่า จำนวน 4 คน ช่วยกันกวน โดยมีวัตถุดิบที่ใช้ในการกวน ได้แก่ ข้าวนึ่ง งาขาว งาดำ ถั่วลิสง นมมะลิ กะทิ น้ำตาลทราย น้ำตาลปึก นมจืด และน้ำผึ้ง ทุกอย่างล้วนมีคุณประโยชน์ ปกติพิธีกวนข้าวทิพย์นี้เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาในหมู่ของชาวพุทธทั่วไป เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหตุการณ์ที่นางสุชาดาได้กวนข้าวทิพย์ในวันขึ้น 14 ค่ำ แล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ 1 วัน โดยถือว่ามีผลานิสงฆ์มาก ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงพร้อมใจกันกวนข้าวทิพย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เทิดทูนพระเกียรติคุณด้วยความกตัญญูกตเวทิตาธรรม เชื่อกันว่า เมื่อทำข้าวทิพย์ครบถ้วนตามพิธีแล้ว จะเป็นสิริมงคลแด่ผู้ทำและผู้บริโภค สมควรจะเซ่นสรวงเทพารักษ์ ผู้ที่ได้บริโภคข้าวทิพย์แล้ว จะประสบโชคลาภต่างๆ นานา ปราศจากโรคาพยาธิ ภัยพิบัติ ประสบสิ่งที่เป็นมงคล

สำหรับสำนักสงฆ์ชัยยะมังคะละรามจะมีการทำพิธีกวนข้าวทิพย์ทุกครั้งที่มีการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่เป็นสิริมงคลขึ้นมาได้สำเร็จ ดังเช่น เมื่อปี 2558 ก็ได้มีการกวนข้าวทิพย์เพื่อเป็นการสมโภชน์พระธาตุ ส่วนปีนี้ก็ทำขึ้นมาเนื่อในโอกาสสมโภชน์สะพานบุญ เพื่อเป็นการบ่งบอกต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ท่านช่วยปกปักรักษาและเกิดสิริมงคลต่อคนในหมู่บ้าน


เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เข้าวัดทำบุญเป็นประจำเกี่ยวกับการทำพิธีเปิดสะพานบุญ ต่างก็พูดด้วยความปลาบปลื้มว่า รู้สึกภูมิใจที่ความเชื่อ ความศรัทธา และความพยายามในการช่วยกันสร้างวัดอย่างสม่ำเสมอ เริ่มประสบผลสำเร็จให้เห็นทีละเล็กละน้อย และหวังว่าอีกไม่นานวัดที่พวกเขาร่วมกันสร้างด้วยหัวใจไว้เป็นมรดกตกทอดให้แก่ลูกหลานจะเสร็จสมบูรณ์

“เมื่อมีศรัทธาและความเพียรประกอบกันทุกอย่างล้วนเป็นไปได้เสมอ”

เกษณี ตั๋นตุ้ย นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์