วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

คิดถึง ณ ลำปาง (1)


จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

จะว่าไปแล้วเจ้าไวรัสโควิด-19 วายร้าย ที่กำลังทำชาวโลกปั่นป่วนอยู่ตอนนี้ ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน นั่นคือ มันทำให้เรามีเวลาคิดถึง มีเวลาทบทวน (แต่ถ้ามากกว่านี้อาจเข้าขั้นฟุ้งซ่านก็เป็นได้) มีเวลาคิดถึงใครบางคน คิดถึงสถานที่บางแห่ง หรือแม้แต่วันเวลาที่ผ่านมา

อย่างเช่นตอนนี้ในวันที่อากาศร้อนมากเป็นพิเศษ กลับรู้สึกคิดถึง “ลำปาง” จังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทยขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ เพราะปฏิทินกิจกรรมประจำปี ช่วยย้ำเดือนว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ที่ “เมืองรถม้า” มีงานบุญงานประเพณีให้คนในพื้นที่และผู้คนรอบนอกที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม จะมีโอกาสร่วมเปิดประสบการณ์ให้ตัวเองได้เป็นอย่างดี

อย่างที่บอกในตอนแรก “จังหวัดลำปาง” หากอยู่ในสถานการณ์ปกติ ตลอดเดือนพฤษภาคมของปีนี้ จะอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ เริ่มตั้งแต่ “ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อขุนตาน” ณ อุทยานประวัติศาสตร์อนุสาวรีย์เจ้าพ่อขุนตาน ที่อำเภอห้างฉัตร ต่อด้วย “งานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุดอนเต้า” ไหว้สาพระเจ้าทองทิพย์เดือนแปดเป็ง ณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม, “งานประเพณีวันวิสาขบูชา” ตามวัดสำคัญต่างๆ ของจังหวัดลำปาง รวมถึง “วันป่าไม้แห่งชาติ” และปิดท้ายกิจกรรมท้ายส่งท้ายเดือนพฤษภาคมด้วย “งานพิธีฉลองสมโภชศาลหลักเมืองลำปาง” ณ บริเวณศาลหลักเมือง อำเภอเมืองลำปาง...เรียกว่า มีกิจกรรมให้ร่วมงานกันจนลืมความร้อนของอากาศกันไปเลยทีเดียว

และแม้ว่าเกือบทุกกิจกรรมถูกระงับการจัดงานลงไปด้วยเหตุผลหลักๆ นั่นคือเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนก็ตาม ดังนั้น วันนี้ขอถือโอกาส นำประวัติความเป็นมาเป็นไป และความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ มาเล่าสู่กันฟังพอให้คลายความคิดถึงไปบ้าง....

ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อขุนตาน(พญาเบิก) เป็นประเพณีล้านนาที่สืบทอดกันมานาน จัดขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงเกียรติคุณความดี และวีรกรรมของเจ้าพ่อขุนตาน ร่วมทั้งอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้ดำรงสืบไป

ก่อนเข้าสู่งานประเพณีบวงสรวงฯ ขอย้อนกลับไปในยุคที่การเดินสู่ภาคเหนือของประเทศไทย คงไม่มีทางไหนสะดวกสบายไปกว่าการเดินทางโดยรถไฟ แน่นอนว่ารถไฟทุกขบวนที่เคลื่อนตัวสู่จังหวัดเชียงใหม่ต้องลอดผ่านอุโมงค์ขุนตาน ซึ่งได้ชื่อว่ามีความยาวที่สุดในประเทศไทย เพราะเป็นเส้นทางบังคับ ตำนานของ “เจ้าพ่อขุนตาน” จึงแล่นผ่านเข้าหูสู่สมองมาเป็นระยะ หรือแม้แต่ปัจจุบันถ้าเลือกเดินทางรถทัวร์หรือขับรถยนต์ไปเอง เมื่อรถยนต์ผ่านมาถึงจุดตรงนี้ รถทุกคันต้องบีบแตรยาวๆ นัยว่าเพื่อสักการะให้เจ้าพ่อขุนตานคุ้มครองตลอดเส้นทางนั่นเอง

และเมื่อได้ลองศึกษาประวัติของ “เจ้าพ่อขุนตาน” จึงทราบว่าเดิมทีมีนามว่า “พญาเบิก” เป็นราชบุตรของ พญายีบา เจ้าเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ในราชวงศ์จามเทวี ซึ่งธรรมเนียมและราชประเพณีของราชวงศ์จามเทวี ราชบุตรองค์ใดก่อนจะขึ้นครองนครหริภุญชัย (ลำพูน) สืบต่อในราชวงศ์ จามเทวี จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นยุพราชไปครองเมืองเขลางค์นคร (ลำปาง) เสียก่อน ในปี พ.ศ.1814 ครั้งที่ พญายีบา เป็นเจ้าเมืองนครหริภุญชัย ก็ได้ให้ พญาเบิก ราชบุตรไปครองเมือง เขลางค์นคร จนกระทั่งปี พ.ศ.1824 กองทัพพญาเม็งราย เจ้าเมืองเชียงราย และเจ้าเมืองฝางได้ยกไพร่พลมาตีเมืองหริภุญชัยแตกและยึดเมืองได้ พญายีบา จึงเสด็จหนีไปพึ่งพญาเบิกผู้เป็นราชบุตรที่เมืองเขลางค์นคร พญาเบิกเจ้าเมืองเขลางค์นครจึงสะสม ไพร่พลเพื่อป้องกันความมั่นคงของเมืองเขลางค์นคร จึงไปสร้างเมืองต้านศึกขึ้นในบริเวณพื้นที่แห่งหนึ่งในเขตอำเภอห้างฉัตรใกล้ทิวเขาใหญ่ เมืองนั้นต่อมามีนามว่า เวียงต้านส่วนทิวเขาสูงยาวเหยียดคั่นระหว่าง ลำปางและลำพูน ซึ่งเป็นแนวทางวางกำลังไพร่พล เพื่อที่จะตีสกัดกองทัพพญาเม็งราย ต่อมาเรียกว่า ดอยขุนต้าน” (ดอยขุนตาลในปัจจุบัน
จากการสู้รบที่เมืองต้านศึกทำให้ พญาเบิก พ่ายแพ้เสียทัพอย่างสิ้นเชิง จึงถูกจับได้ก็ไม่อาจใช้ศาสตราวุธใดๆ ปลงพระชนม์ได้เนื่องจากคงกระพันชาตรีเป็นที่ยิ่ง ทหารจึงนำตัวพญาเบิกไปขุดหลุมฝังทั้งเป็นจนสิ้นพระชนม์ (ที่มา นายอุดม สืบหล้า)

จากประวัติศาสตร์นี้ จึงทำให้มีการสร้างอุทยานประวัติศาสตร์เจ้าพ่อขุนตาน (พญาเบิก) ที่ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และสร้างศาลเจ้าพ่อขุนตานในพื้นที่หมู่บ้านห้างฉัตรเหนือ ในอำเภอเดียวกัน เพื่อเป็นศุนย์กลางทางความเชื่อและความศรัทธารวมถึงเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวบ้าน

นอกจากเรื่องราวและสถานที่ทางประวัติศาสตร์แล้ว ชาวบ้านในชุมชนดังกล่าว ยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพ่อขุนตาน ที่ยึดเป็นศูนย์กลางของชุมชนยังคงรักษาและสืบทอดมาถึงปัจจุบัน อาทิ พิธีกรรมไขประตูดอยเป็นภูมิปัญญาแห่งการจัดการน้ำ พิธีกรรมเลี้ยงห้วยเลี้ยงฮ่องเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม พิธีกรรมหลงใหม่และวังอี่นาเป็นพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเป็นภูมิปัญญาแห่งการเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง พิธีแห่ช้างเผือกเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาแห่งการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนบนความเชื่อความศรัทธามานับหลายร้อยปี รวมถึง พิธีแห่หอผ้าประเพณีวัดดอยนาย(ปางม่วง) และสุดท้ายคือ ประเพณีแห่บอกไฟโดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ยึดปฏิบัติเฉพาะในอำเภอห้างฉัตรเท่านั้น

และอีกเช่นกัน หากอยู่ในสถานการณ์ปกติ ในงาน ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อขุนตาน(พญาเบิก) ยังมีการแสดงวิถีชีวิตกลุ่มแม่บ้านการแสดง ศาสตราคู่แผ่นดินเขลางค์ โดย ชมรมศาสตราอาวุธโบราณจังหวัดลำปาง การแสดง ก๋องปูจาเบิกฟ้าเขลางค์นคร การแสดงของช้าง โดยสถาบันคชบาลแห่งชาติ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อำเภอห้างฉัตรและมหรสพมากมาย เช่น ซอพื้นเมือง การแสดงรำวงย้อนยุค การแสดงนิทรรศการประวัติเจ้าพ่อขุนตานและศาสตราคู่แผ่นดินเขลางค์ การแข่งขันทำอาหารพื้นเมือง ฯลฯ เป็นกิจกรรมสันทนาการควบคู่กับการจัดกิจกรรมตามประเพณี

สัปดาห์หน้าจะมาเล่าถึงงานบุญงานประเพณีอื่นๆ ที่น่าสนใจของ “ลำปาง” ให้หาย “คิดถึง” อีกมากมาย

 กอบแก้ว แผนสท้าน

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์